ย้ำชัด..! ควบรวมฐานข้อมูล “ประกันชีวิต-วินาศภัย” สู่ Big data ช่วยยกระดับและเพิ่มศักยภาพอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 28 เมษายน 2565 สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ร่วมกับคณะที่ปรึกษาจากศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และบริษัท บีเทค เทค คัมพะนี จำกัด เปิดเวทีประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง กรณีการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติ ภายใต้หัวข้อ “พลิกโฉมการเข้าถึงข้อมูลด้านประกันภัยกับแนวทางการจัดตั้ง National Insurance Bureau : ก้าวต่อไปของประกันภัยไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน” ณ โรงแรม เจดับบลิว แมริออท กรุงเทพฯ โดยผ่านช่องทางการประชุมออนไลน์ (Zoom Meeting) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อสรุปแนวทางในการจัดตั้งศูนย์บริหารข้อมูลด้านการประกันภัยแห่งชาติที่เหมาะสมและเป็นศูนย์กลางข้อมูลด้านประกันภัยของประเทศไทย อีกทั้งสามารถให้บริการด้านข้อมูลหรือบริการด้านอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมประกันภัย และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล
จากการรับฟังความคิดเห็นในที่ประชุมเห็นตรงกันว่าควรสนับสนุนการจัดตั้ง NIB ในประเทศไทยเพื่อเสริมสร้างความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรมประกันภัยของไทยทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นบริษัทผู้รับประกันภัย นายหน้าประกันภัย ตัวแทนประกันภัย ผู้เอาประกันภัย ตลอดจนหน่วยงานผู้มีส่วนได้ส่วนเสียกับการประกันภัยแต่ละประเภทครอบคลุมทั้งประกันวินาศภัย ประกันชีวิต และประกันสุขภาพ โดยในอนาคต NIB สามารถต่อยอดการให้บริการไปสู่ InsurTech และ FinTech โดยการใช้ประโยชน์จาก Big Data และเทคโนโลยีดิจิทัลที่ทวีความสำคัญเพิ่มขึ้นในสังคมไทยและสังคมโลก การให้ NIB มีอำนาจตามกฎหมายในการขอข้อมูลจากกิจการประกันภัยตามรูปแบบ มาตรฐาน และเงื่อนไขที่กำหนดได้ (คล้ายกรณีบริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด ที่มีกฎหมายรองรับการจัดตั้ง) และการจัดตั้ง NIB จะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งหน่วยงานกำกับดูแล อุตสาหกรรมประกันภัย นายหน้าประกันภัย ตัวแทนประกันภัย และหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง ทั้งนี้ที่ประชุมฯ มีข้อสังเกตและข้อเสนอแนะในการขับเคลื่อน NIB เช่น การทำงานของ NIB ควรมีการเสริมกับการดำเนินงานของโครงการพัฒนาฐานข้อมูลการประกันภัย IBS ของสำนักงาน คปภ. การดำเนินงานของ NIB ในช่วงเปลี่ยนผ่าน (Transition Period) การพิจารณาความเหมาะสมของการจัดเก็บค่าธรรมเนียมการเข้าถึงข้อมูล NIB การคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของผู้ถือกรมธรรม์ และการประชาสัมพันธ์ข้อมูลบางประเภทที่ได้จัดเก็บอยู่แล้วเพื่อให้ประชาชนผู้ถือกรมธรรม์ได้รับทราบและสามารถใช้ประโยชน์ได้
“ผมเชื่อมั่นว่า การจัดตั้ง NIB จะก่อให้เกิดศูนย์กลางข้อมูลด้านประกันภัยของประเทศไทย และสามารถให้บริการด้านข้อมูลหรือบริการด้านอื่นที่เกี่ยวข้องแก่ประชาชน ภาคธุรกิจประกันภัย ตลอดจน หน่วยงานภาครัฐ หรือภาคเอกชนอื่นที่เกี่ยวข้องได้อย่างรวดเร็ว มีประสิทธิภาพ ช่วยยกระดับการดำเนินกิจการของอุตสาหกรรมประกันภัย และเพิ่มศักยภาพของอุตสาหกรรมประกันภัยในระดับสากล” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย