นายสาระ ล่ำซำ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย เผยภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตของปี 2564 ระหว่าง มกราคม – ธันวาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 614,115.5 ล้านบาท เติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 เมื่อเทียบกับปี 2563 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 170,718.6 ล้านบาท อัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 7.8 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 443,396.9 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.4 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82
สำหรับภาพรวมธุรกิจประกันชีวิตในไตรมาสแรก ปี 2565 ระหว่าง มกราคม – มีนาคม มีเบี้ยประกันภัยรับรวมอยู่ที่ 150,427.3 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 1.8 เมื่อเทียบกับไตรมาสแรก ปี 2564 จำแนกเป็น เบี้ยประกันภัยรับรายใหม่ 40,958.0 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 6.1 และเบี้ยประกันภัยรับปีต่อไป 109,469.3 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0.02 โดยมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ร้อยละ 82
หากจำแนกเบี้ยประกันภัยรับรวมแยกตามช่องทางการจำหน่ายจะปรากฏ ดังนี้
- การขายผ่านช่องทางตัวแทนประกันชีวิต (Agency) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 73,558.6 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 5.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 48.9
- การขายผ่านช่องทางธนาคาร (Bancassurance) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 61,346.0 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 9.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 40.8
- การขายผ่านช่องทางนายหน้าประกันชีวิต (Broker) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8,172.0 ล้านบาท อัตราการเติบโตร้อยละ 0.2 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 5.4
- 4. การขายผ่านช่องทางโทรศัพท์ (Tele Marketing) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 3,526.1 ล้านบาท อัตราการเติบโตลดลงร้อยละ 0 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.3
- 5. การขายผ่านช่องทางดิจิทัล (Digital) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 205.3 ล้านบาท เติบโตร้อยละ 35.1 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.1
- 6. การขายผ่านช่องทางไปรษณีย์ (Direct Mail) มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 8.6 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 13.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 0.01
- การขายผ่านช่องทางอื่น (Others) เช่น การขาย Worksite, การขายผ่านการออกบูธ, การขายผ่านร้านค้าสะดวกซื้อ เป็นต้น มีเบี้ยประกันภัยรับรวม 3,610.7 ล้านบาท เติบโตลดลงร้อยละ 7.3 คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 2.4
สำหรับปี 2565 สมาคมประกันชีวิตไทยคาดการณ์ว่าธุรกิจประกันชีวิตจะมีเบี้ยประกันภัยรับรวม 612,000 – 629,500 ล้านบาท มีอัตราการเติบโตระหว่างร้อยละ 0 ถึง 2.5 และมีอัตราความคงอยู่ของกรมธรรม์ประมาณร้อยละ 82 ถึง 83 เนื่องจาก จากข้อมูลสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปี 2564 พบว่า ธุรกิจประกันชีวิตมีอัตราเบี้ยประกันภัยรับโดยตรงต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ GDP (Insurance Penetration Rate) ยังอยู่ในระดับน้อยหรืออยู่ที่ 3.8% แสดงถึงธุรกิจประกันชีวิตยังมีโอกาสที่ยังสามารถเติบโตได้ ขณะที่ประเทศไทยเริ่มมีสัญญาณการฟื้นตัวทางด้านเศรษฐกิจ ซึ่งจากข้อมูลของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติที่คาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจไทย (GDP) ในปี 2565 ขยายตัวร้อยละ 3.5 – 4.5 นอกจากนี้ภาครัฐมีนโยบายส่งเสริมภาคธุรกิจประกันภัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดหย่อนภาษีของประกันชีวิตและประกันสุขภาพ รวมถึงประกันบำนาญ ที่เป็นเครื่องมือช่วยบริหารความเสี่ยงทางด้านการเงินซึ่งเป็นทั้งการออมและมีความคุ้มครองทั้งชีวิตและสุขภาพ ในขณะที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ได้ส่งเสริมให้ภาคธุรกิจมีการนำเทคโนโลยีหรือนวัตกรรมใหม่ ๆ (Innovation) เพื่อพัฒนากระบวนการเสนอขายและบริการ รวมถึงพัฒนากระบวนการขายให้สอดคล้องกับพฤติกรรมและความต้องการของลูกค้าที่เปลี่ยนแปลงมากขึ้น
ในปี 2565 สมาคมประกันชีวิตไทยจึงมีแผนการดำเนินงานเพื่อเตรียมพร้อมรับมือต่อปัจจัยท้าทายรอบด้าน ยกตัวอย่างเช่น การส่งเสริมให้มีการพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตให้มีความหลากหลายเหมาะสมกับความต้องการที่เฉพาะเจาะจงเป็นรายบุคคล (Personalized) การเน้นประชาสัมพันธ์เชิงรุกเพื่อยกระดับความรู้ความเข้าใจความสำคัญของการทำประกันชีวิตให้กับภาคประชาชน การสนับสนุนการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ (Digitalization) มาใช้ในกระบวนการเสนอขายและการส่งมอบบริการหลังการขายเพื่อสามารถตอบโจทย์ความต้องการของผู้เอาประกันภัยและวิถีชีวิตของคนยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี การพัฒนาระบบสอบตัวแทนประกันชีวิตแบบ Virtual Examination (E-Exam) เพื่อดึงดูดให้คนทั่วไปโดยเฉพาะอย่างยิ่งคนรุ่นใหม่อยากสมัครเข้าร่วมในเส้นทางอาชีพตัวแทนประกันชีวิตมากขึ้น และ การมีนโยบายที่ส่งเสริมให้ทุกบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีการดำเนินงานภายใต้ธรรมาภิบาลที่ดี (Good Governance) ทั้งนี้สมาคมประกันชีวิตไทยจะเป็นแกนกลางในการประสานพันธกิจ ทั้งในรูปแบบประชุมหารือรับฟังความคิดเห็นที่ได้รับความร่วมมือทั้งจากบริษัทประกันชีวิตและหน่วยงานกำกับ รวมถึงการจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อย เพื่อทำงานร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) โดยมีคณะกรรมการบริหารสมาคมเป็นประธานเพื่อกำกับและติดตามงานอย่างใกล้ชิด เพื่อให้ธุรกิจประกันชีวิตสามารถดำเนินการได้ตามแผนงาน และสามารถให้บริการลูกค้าได้ทุกรูปแบบไปพร้อมกับเติบโตได้อย่างยั่งยืน
ที่สำคัญสมาคมประกันชีวิตไทยมีนโยบายที่มุ่งให้แต่ละบริษัทประกันชีวิตจะต้องมีการดำเนินธุรกิจด้วยการบริหารจัดการความเสี่ยงรอบด้าน ทั้งก่อนและหลังการรับประกันภัย และมีฐานะทางการเงินที่มีอัตราส่วนความเพียงพอของเงินกองทุนตามความเสี่ยง (Capital Adequacy Ratio Statistics) สูงกว่าระดับเงินกองทุนที่ต้องดำรงตามเกณฑ์ที่กำหนด (ข้อมูลจากเว็บไซต์สำนักงาน คปภ.) เพียงพอต่อการปฏิบัติตามภาระผูกพันของกรมธรรม์ประกันภัยทุกกรมธรรม์ที่ออกให้แก่ผู้เอาประกันภัย และพร้อมที่จะให้ความคุ้มครองแก่ผู้เอาประกันภัยจนกว่าจะครบกำหนดสัญญา เพื่อให้ประชาชนเกิดความเชื่อมั่นว่าผลิตภัณฑ์ประกันชีวิตจะสามารถเป็นเครื่องมือหนึ่งในการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพได้เป็นอย่างดี และสามารถดูแลเคียงข้างประชาชนในระยะยาวได้ จึงขอให้ผู้เอาประกันภัยที่ทำประกันชีวิตในทุกแบบผลิตภัณฑ์เชื่อมั่นว่าธุรกิจประกันชีวิตมีความมั่นคง แข็งแกร่งและพร้อมยึดมั่นคำสัญญาที่ระบุไว้ภายใต้เงื่อนไขกรมธรรม์ นายกสมาคมประกันชีวิตไทย กล่าวเพิ่มเติม