ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมานี้ หลายองค์กรทั้งภาครัฐและภาคเอกชนในประเทศไทยเริ่มให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนสังคมให้เป็น “inclusive society” หรือ สังคมของทุกคน อย่างจริงจังในหลายมิติมากขึ้น ซึ่งคำว่า “ทุกคน” ในที่นี้ จำเป็นต้องครอบคลุมถึงบุคคลที่มีความแตกต่างในเรื่องของสภาพร่างกาย อายุ เพศวิถี ผู้เปราะบาง รวมไปถึงบุคคลชายขอบในสังคม เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดันสังคมให้เป็น inclusive society ศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ATCSW) ภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์จึงได้จัดงาน “สัมมนาทางวิชาการนานาชาติสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมสู่การพัฒนายั่งยืน” ขึ้น
“ตั้งแต่ปีแรกของการระบาดจนถึงขณะนี้ โรคโควิด-19 ได้พรากชีวิตผู้คนทั่วโลกไปแล้วถึง 6.2 ล้านคน ซึ่งนับว่าเป็นการสูญเสียที่มากกว่าสงครามเวียดนาม และสงครามคาบสมุทรเกาหลีรวมกัน” นางสาววรรณา สุขศรีบูรณ์อำไพ ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกอบรมอาเซียนด้านสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคม (ATCSW) กล่าวในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติ ซึ่งสะท้อนให้เห็นว่าปัญหาด้านสุขภาวะของคนทุกกลุ่มนั้น สร้างผลกระทบต่อชีวิตคนไม่น้อยกว่าสงคราม จึงเป็นที่มาของแนวคิดการจัดงานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ว่า Healthy Society, Stronger Social Work ที่หมายความว่า การมีสังคมที่สุขภาพดี จะช่วยสนับสนุนงานด้านสังคมสงเคราะห์ให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้นนั่นเอง งานสัมมนาวิชาการนานาชาติครั้งนี้ที่เต็มไปด้วย 5 ประเด็นหลักจากกลุ่มคนที่มีความแตกต่างในสังคม เพื่อขับเคลื่อนให้สังคมไทยเข้าสู่การเป็นสังคมของทุกคนอย่างเท่าเทียม ดังที่นางสาววรรณาได้กล่าวไว้ว่า “เราทุกคน รวมถึงผู้พิการ ผู้สูงวัย เด็ก ผู้เปราะบาง หรือ LGBTQI+ โปรดรับรู้ว่า เราทุกคนมีความแตกต่างกัน แต่ไม่มีใครด้อยกว่ากัน และจะไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง”
หลากหลายได้อย่างเท่าเทียม กับสวัสดิการองค์กรสำหรับผู้มีความหลากหลายทางเพศ
บุคคลกลุ่ม LGBTQI+ เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่มักไม่ได้รับสิทธิและสวัสดิการที่ทัดเทียมบุคคลที่มีเพศสภาพตรงตามเพศกำเนิด เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยให้ทุกเพศสภาพมีสิทธิเท่าเทียม นางสาวนาฎฤดี อาจหาญวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงานบริหารทรัพยากรบุคคล บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ DTAC หนึ่งในวิทยากรรับเชิญในประเด็นเกี่ยวกับสวัสดิการสำหรับบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในองค์กร ได้แบ่งปันนโยบายของบริษัทฯ ในการให้สิทธิ์พนักงานที่เป็น LGBTQI+ สามารถลาเพื่อไปจัดงานแต่งงาน อุปการะลูกบุญธรรม หรือจัดงานศพให้แก่คู่ชีวิต รวมไปถึงให้สิทธิ์พนักงานในการลาเพื่อผ่าตัดแปลงเพศได้ถึง 30 วัน ซึ่งนับเป็นหนึ่งในบริษัทแรก ๆ ในเมืองไทยที่ออกนโยบายนี้ให้พนักงาน และได้รับเสียงตอบรับเป็นอย่างดีจากพนักงานทุกภาคส่วนอีกด้วย
สู่สังคมที่เท่าเทียมเพื่อผู้พิการ: กรณีศึกษาจากประเทศอิสราเอล
บุคคลกลุ่มต่อมาที่ควรให้ความสำคัญหากสังคมต้องการพัฒนาสู่การเป็น healthy และ inclusive society นั่นก็คือกลุ่มคนพิการ ซึ่งในประเทศไทยนั้น ต้องยอมรับว่าสิ่งอำนวยความสะดวกในชีวิตประจำวัน และขนส่งสาธารณะต่าง ๆ ยังไม่เอื้อต่อการใช้ชีวิตของคนกลุ่มนี้ งานสัมมนาวิชาการครั้งนี้ จึงได้รับเกียรติจากนางออร์นา ซากิฟ เอกอัครราชทูตอิสราเอลประจำประเทศไทย ที่เข้ามาร่วมแบ่งปันข้อมูลผ่านการบรรยายเกี่ยวกับการสร้างสังคมเพื่อทุกคนที่ครอบคลุมถึงผู้พิการในประเทศอิสราเอลให้แก่ผู้ฟังชาวไทย ซึ่งประเทศอิสราเอลเป็นประเทศเดียวในโลกที่ผู้มีอาชีพให้บริการแก่ประชาชนจำเป็นต้องเข้ารับการอบรมเกี่ยวกับการให้บริการผู้พิการทุก ๆ ปี และต้องมีผู้ประสานเกี่ยวกับผู้พิการที่สามารถติดต่อได้ประจำการอยู่เสมอ นอกจากนี้ ยังมีนโยบายอื่น ๆ ที่ครอบคลุมด้านการศึกษา ที่สนับสนุนให้เด็กนักเรียนพิการเข้าเรียนในโรงเรียนร่วมกับเด็กปกติโดยไม่แบ่งแยก ส่งเสริมด้านการประกอบอาชีพ ไปจนถึงการรับใช้ชาติในกองทัพอิสราเอล
บริการสาธารณสุขที่เท่าเทียม ทั่วถึง และครอบคลุมคนทุกกลุ่ม
การพัฒนาให้คนทุกพื้นที่สามารถเข้าถึงบริการสาธารณสุขก็เป็นสิ่งจำเป็นต่อการพัฒนาสังคมให้เท่าเทียม แต่ปัจจุบันประชากรที่อยู่ห่างไกลจากตัวเมืองรวมไปถึงบริเวณชายแดนนั้นยังไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลเบื้องต้นได้อย่างทันท่วงที เนื่องจากอาศัยอยู่ห่างไกลจากโรงพยาบาล ทำให้อาการเจ็บป่วยที่เล็กน้อยลุกลามใหญ่ขึ้นเพราะรักษาได้ไม่ทันการ มูลนิธิไฟเซอร์ ประเทศไทย จึงดำเนินโครงการสร้าง “ศูนย์ปฐมพยาบาลไฟเซอร์” ในชุมชนทุรกันดารทั่วประเทศจำนวน 10 แห่ง ร่วมกับมูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทยตั้งแต่ปี 2562 เพื่อให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการสาธารณสุขอย่างทั่วถึง ทันท่วงที และเท่าเทียม โดย นายอานุภาพ สลับแสง ผู้จัดการแผนกจัดหาทุนองค์กรธุรกิจ มูลนิธิศุภนิมิตแห่งประเทศไทย หนึ่งในผู้ดูแลโครงการดังกล่าว ได้แจ้งความคืบหน้าว่า ศูนย์ปฐมพยาบาลไฟเซอร์ได้รับการก่อสร้างแล้วเสร็จและเปิดให้บริการแล้ว 4 แห่ง และจะเปิดให้บริการครบทั้ง 10 แห่งภายในปี 2566
การควบคุมโรคระบาดโดยคำนึงถึงคนทุกวัย
ประเด็นด้านสุขภาพที่จำเป็นต้องคำนึงในช่วง 2 ปีที่ผ่านมานี้ คงไม่พ้นเรื่องการจัดการและควบคุมโรคระบาดอย่างโรคโควิด-19 ที่ส่งผลกระทบต่อชีวิตของผู้คนทั่วโลก ซึ่งขับเคลื่อนการพัฒนาวัคซีนที่รวดเร็วที่สุดเป็นประวัติการณ์ แต่อย่างไรก็ดี วัคซีนที่มีการพัฒนาออกมาในช่วงแรกนั้นครอบคลุมกับประชากรวัยผู้ใหญ่เท่านั้น ทำให้ประชากรกลุ่มเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี ที่คิดเป็น 32% ของประชากรทั่วโลกยังไม่ได้รับการป้องกันจากการติดโรคโควิด-19ซึ่งไม่เพียงแต่เป็นกลุ่มอายุที่มีโอกาสเกิดอาการรุนแรงจากโรคได้ ยังมีสิทธิ์เป็นผู้ติดเชื้อและแพร่กระจายเชื้อให้แก่ประชากรกลุ่มผู้ใหญ่เช่นกัน ซึ่ง นพ.นิรุตติ์ ประดับญาติ ผู้อำนวยการฝ่ายการแพทย์ บริษัท ไฟเซอร์ (ประเทศไทย) จำกัด จึงได้แบ่งปันข้อมูลซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการบรรยายในหัวข้อ “อนาคตของระบบสุขภาพที่เท่าเทียม” ว่าในสถานการณ์ที่มีการระบาดใหญ่ของโรคโควิด-19 นั้น มาตรการต่าง ๆ รวมถึงการวิจัยและพัฒนาวัคซีนให้ได้ผลในการควบคุมโรคจำเป็นต้องคำนึงถึงประชากรทุกกลุ่ม ทุกวัย โดยเฉพาะกลุ่มเด็ก ซึ่งไฟเซอร์ได้ดำเนินงานวิจัยและพัฒนาวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครอบคลุมกลุ่มอายุต่าง ๆ รวมถึงกลุ่มที่มีความต้องการเป็นพิเศษ เช่น เด็กเล็กอายุ 6 เดือน ถึง 5 ปี กลุ่มผู้ที่มีภาวะภูมิคุ้มกันบกพร่อง เป็นต้น ไม่เพียงแต่การวิจัยและพัฒนาวัคซีนเท่านั้น การเข้าถึงบริการสุขภาพ คุณภาพการดูแลผู้ป่วย และการเข้าถึงข้อมูลสุขภาพยังเป็นสิ่งที่จะช่วยส่งเสริมสังคมสุขภาพดีอย่างเท่าเทียม โดยไฟเซอร์เองก็มีหลากหลายโครงการที่มุ่งพัฒนาด้านนี้ให้ดีขึ้น ทั้งการพัฒนาขวดยาอัจฉริยะที่ติดตามการกินยาของผู้ป่วย โครงการพัฒนาความรอบรู้ทางสุขภาพ (health literacy) เพื่อให้สังคมมีความเข้าใจในการดูแลสุขภาพของตนเองและพัฒนาสู่สังคมสุขภาพดีได้อย่างยั่งยืน
สังคมที่ดีขึ้น ร่วมสร้างได้ด้วยผู้สูงวัยและแรงงานข้ามชาติ
หากพูดถึงการสร้างสรรค์สังคมให้พัฒนายิ่งขึ้น คนจำนวนไม่น้อยน่าจะนึกถึงผู้ใหญ่วัยทำงาน หรือเยาวชนที่ได้ชื่อว่าเป็น “อนาคตของชาติ” ทำให้คนบางกลุ่มอย่างผู้สูงวัย และผู้ใช้แรงงานต่างด้าวที่นับเป็นกลุ่มผู้เปราะบางในสังคมมักถูกมองข้ามไปโดยปริยาย ทั้ง ๆ ที่ในความเป็นจริง สังคมไทยนับเป็นสังคมสูงวัยตั้งแต่ปี 2564 โดยมีจำนวนผู้สูงอายุคิดเป็นกว่า 20% ของประชากรทั้งประเทศ และยังมีผู้ใช้แรงงานต่างด้าวอยู่เป็นจำนวนกว่า 2.5 ล้านคน ในงานสัมมนาวิชาการนานาชาติครั้งนี้จึงได้เปิดเวทีเพื่อถ่ายทอดเรื่องราวเพื่อคนทั้งสองกลุ่มนี้ ไม่ว่าจะเป็นการแบ่งปันประสบการณ์การทำงานหลังเกษียณของผู้สูงวัยที่คาเฟ่อเมซอน การดูแลสุขภาวะทางเพศสำหรับผู้สูงวัย การเยียวยาจิตใจของกลุ่มแรงงานที่เป็นเหยื่อของการใช้ความรุนแรง การทำงานสังคมสงเคราะห์เพื่อกลุ่มผู้เปราะบาง และอื่น ๆ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญของสวัสดิการ สุขภาวะ คุณภาพชีวิต และสภาพจิตใจของคนทั้งสองกลุ่มนี้ในฐานะประชากรที่มีศักยภาพในการสร้างสรรค์ inclusive society และ healthy society
เนื้อหาจากการบรรยายข้างต้นนับเป็นสัญญาณที่ดีของความตระหนักรู้และขับเคลื่อนสังคมให้เป็นสังคมสุขภาพดีของทุกคนอย่างสมบูรณ์ ซึ่งคาดว่าจุดเริ่มต้นนี้จะช่วยสร้างสรรค์สังคมที่คนทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและเท่าเทียม ซึ่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งของ “สัมมนาทางวิชาการนานาชาติสังคมสงเคราะห์และสวัสดิการสังคมสู่การพัฒนายั่งยืน” เท่านั้น ใครที่สนใจรับฟังหัวข้อการบรรยายที่น่าสนใจอื่น ๆ จากวิทยากรผู้เชี่ยวชาญทั้งหมด 29 ท่าน ใน 5 ประเด็นใหญ่ สามารถรับชมได้ที่ช่อง ICTC MSOCIETY ทาง Youtube หรือที่ลิงก์ bit.ly/3J4qXfD