EIC ปรับเพิ่มประมาณการเศรษฐกิจไทยปี 2565 เติบโตที่ 2.9% จากเดิม 2.7% จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการหลังเปิดประเทศ กอปรกับภาคเกษตรได้อานิสงส์จากราคาอาหารโลกที่ปรับเพิ่มสูงขึ้น เพิ่มแรงส่งอุปสงค์ในประเทศ แต่เงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี และการส่งออกที่มีแนวโน้มชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลกเป็นปัจจัยเสี่ยงฉุดรั้งเศรษฐกิจไทย ประเมินแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการเพิ่มมากขึ้นแทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก
ดร. สมประวิณ มันประเสริฐ รองผู้จัดการใหญ่ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ เปิดเผยว่า EIC ปรับประมาณการการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยปี 2565 ขึ้นเป็น 2.9% (เดิม 2.7%) ตามการฟื้นตัวของการท่องเที่ยวและภาคบริการ ผ่านการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวของไทยและการผ่อนคลายมาตรการผ่านแดนในหลายประเทศทั่วโลก โดย EIC ประเมินว่าจะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยรวม 7.4 ล้านคนในปีนี้ (เดิม 5.7 ล้านคน) อีกทั้ง กิจกรรมในภาคบริการในประเทศยังมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการกลับออกมาใช้ชีวิตนอกบ้านมากขึ้น ตามอัตราการฉีดวัคซีนที่สูงและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคของภาครัฐ นอกจากนี้ภาคเกษตรจะมีส่วนช่วยสำคัญในการผลักดันการเติบโตของเศรษฐกิจในปีนี้ โดยผลผลิตภาคการเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวได้ดี อีกทั้ง ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มขยายตัวตามทิศทางราคาอาหารโลกที่เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจัยด้านอุปทานที่ถูกกระทบจากสงครามในยูเครนและมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียจากชาติตะวันตก อย่างไรก็ตาม การใช้จ่ายในประเทศที่ได้รับแรงสนับสนุนจากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยวและบริการซึ่งเป็นแหล่งจ้างงานสำคัญ รายได้ภาคเกษตรที่เพิ่มขึ้น รวมถึงอุปสงค์คงค้าง (pent-up demand) จากกลุ่มผู้มีกำลังซื้อ จะยังมีแรงกดดันจากเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงสุดในรอบ 24 ปี (EIC คาดอัตราเงินเฟ้อเฉลี่ยทั้งปีที่ 5.9%) ขณะที่การส่งออกมีแนวโน้มขยายตัวชะลอลงในระยะต่อไปตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก
ภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอลงและมีความเสี่ยงเพิ่มขึ้นในระยะข้างหน้า จะส่งผลให้การส่งออกที่เป็นฟันเฟืองสำคัญสนับสนุนเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมามีแนวโน้มขยายตัวได้ในอัตราที่ชะลอลง จากอุปสงค์ในประเทศคู่ค้าที่ชะลอตัวตามภาวะเศรษฐกิจและการค้าโลก โดยเฉพาะตลาดจีนที่ยังมีความเสี่ยงจากมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดที่เข้มข้นและจากการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจในประเทศ และตลาดยุโรปที่มีความเสี่ยงจากภาวะสงคราม ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังการลงทุนภาคเอกชนที่เดิมประสบปัญหาการชะงักของอุปทานและต้นทุนวัสดุและวัตถุดิบที่ปรับตัวสูงขึ้น ด้านแรงส่งจากภาครัฐ แม้การก่อสร้างภาครัฐยังจะมีแนวโน้มขยายตัวได้ดีในปีนี้จากความคืบหน้าของโครงการขนาดใหญ่ แต่ในภาพรวมจะมีแรงส่งที่ลดลงเนื่องจากเม็ดเงินสำหรับดำเนินโครงการใหม่ภายใต้ พ.ร.ก. กู้เงิน 5 แสนล้านบาทเหลืออยู่เพียง 4.8 หมื่นล้านบาทเพื่อไว้ใช้จ่าย
ในส่วนของเงินเฟ้อ EIC คาดว่าอัตราเงินเฟ้อที่จะเร่งตัวสูงถึง 5.9% เฉลี่ยทั้งปีนี้ (เดิม 4.9%) ซึ่งเป็นระดับสูงสุดในรอบ 24 ปี ท่ามกลางการทยอยลดมาตรการอุดหนุนค่าครองชีพของภาครัฐ จะกดดันกำลังซื้อและการบริโภคภายในประเทศ รวมถึงชะลอการลงทุนในภาคธุรกิจลง โดย EIC วิเคราะห์ว่ารายได้ภาคครัวเรือนที่มีแนวโน้มเติบโตช้าตามตลาดแรงงานที่ยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ จะเป็นข้อจำกัดต่อความสามารถในการรับมือกับค่าครองชีพที่เร่งตัวสูงในปีนี้ โดยเฉพาะสำหรับกลุ่มครัวเรือนที่มีปัญหารายได้ไม่พอรายจ่ายอยู่แล้ว ซึ่งมีจำนวนถึงกว่า 7 ล้านครัวเรือนหรือเกือบ 1 ใน 3 ของจำนวนครัวเรือนไทยทั้งหมด ที่ปัญหาเงินเฟ้อสูงในปีนี้จะส่งผลซ้ำเติมทำให้สถานะทางการเงินถดถอยลง ทั้งจากสภาพคล่องที่ลดลงและหนี้ที่เพิ่มสูงขึ้นจากครัวเรือนบางส่วนที่ต้องกู้มาใช้จ่ายเพื่อชดเชยรายได้ที่ไม่เพียงพอ ถือเป็นความเปราะบางของภาคครัวเรือนไทยที่เพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ ภาคธุรกิจจะประสบปัญหาจากภาระต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งยังสามารถส่งผ่านไปยังผู้บริโภคได้จำกัด โดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าที่ไม่จำเป็น (discretionary)
ในภาพรวม EIC ประเมินว่าแรงขับเคลื่อนของเศรษฐกิจไทยในระยะต่อไปจะมาจากภาคท่องเที่ยวและภาคบริการเพิ่มมากขึ้นแทนที่ภาคการผลิตเพื่อส่งออก ตามการเปิดประเทศรับนักท่องเที่ยวต่างชาติและการผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรค แต่การฟื้นตัวของการใช้จ่ายในประเทศจะยังมีแรงต้านจากอัตราเงินเฟ้อที่เร่งตัวขึ้นเร็วและจะยืนอยู่ในระดับสูงตลอดช่วงปีนี้ท่ามกลางข้อจำกัดด้านมาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ และแผลเป็นทางเศรษฐกิจที่มีอยู่เดิม ส่งผลให้การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยเป็นไปอย่างช้า ๆ โดยระดับ GDP รายปีจะยังไม่กลับไปเท่าระดับของปี 2562 จนกระทั่งไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 นอกจากนั้น เศรษฐกิจไทยจะยังเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำที่สำคัญในระยะต่อไป ได้แก่ (1) ภาวะสงครามที่ยังยืดเยื้อส่งผลให้ราคาพลังงานและโภคภัณฑ์ยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่อง (2) การชะงักงันของอุปทานในภาคการผลิตและขนส่งจากนโยบาย Zero Covid ในจีนที่อาจส่งผลให้มีการล็อกดาวน์เพิ่มเติม (3) การแบ่งแยกห่วงโซ่อุปทาน (supply chain decoupling/fragmentation) เป็นสองขั้วเศรษฐกิจจากปัจจัยด้านภูมิรัฐศาสตร์ จะลดประสิทธิภาพและเพิ่มต้นทุนด้านการค้าและการลงทุนในภาคการผลิต (4) ผลของแผลเป็นเศรษฐกิจที่ถูกซ้ำเติมจากผลกระทบด้านค่าครองชีพที่สูงขึ้น จนอาจกระทบต่อความสามารถในการชำระหนี้ในวงกว้าง และ (5) มาตรการช่วยเหลือ และสนับสนุนจากภาครัฐที่ทยอยลดลงทั้งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและลดค่าครองชีพโดยเฉพาะด้านพลังงาน