หลังจากโรงเรียนทั่วประเทศกลับเข้าสู่สภาวะปกติ พร้อมรับเปิดเทอมให้นักเรียนกลับมาเรียนแบบออนไซต์ เมื่อกลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัส โคโรนา 2019 (ศบค.) ก็ได้มีการออกมาตรการเตรียมความพร้อมทางด้านสาธารณสุขสำหรับทั้งโรงเรียนประจำและโรงเรียนไป-กลับ เพื่อรับมือการเรียนการสอนอย่างเต็มรูปแบบและปลอดภัย โดยขอความร่วมมือให้นักเรียน ครู และ บุคลากร ปฏิบัติตามมาตรการ 6-6-7 สำหรับสถานศึกษาอย่างเคร่งครัด อาทิ เว้นระยะห่าง สวมหน้ากาก ตรวจหาเชื้อด้วยวิธีการตรวจ ATK เมื่อมีอาการหรือมีความเสี่ยง รวมถึงการฉีดวัคซีนในเด็กนักเรียนเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันและลดอัตราการติดเชื้อ โดยสำหรับนักเรียนอายุ 12-17 ปี ให้รับวัคซีนเข็มกระตุ้นเข็มที่ 3 ผ่านระบบของสถานศึกษา และเร่งฉีดวัคซีนในเด็กอายุ 5-11 ปี ตามความสมัครใจของผู้ปกครองและเด็ก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มหลังที่ยังไม่ได้รับวัคซีนมาก่อนหน้านี้ ทำให้เป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะได้รับเชื้อจากการไปโรงเรียนได้มากกว่า ซึ่งในระหว่างวันที่ 22 เมษายน – 11 พฤษภาคม 2565 ที่ผ่านมา กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข พบว่าอัตราสะสมของเด็กอายุ 5-11 ปี ที่ได้รับวัคซีนเข็มแรกอยู่ที่ 55.8% และ เข็มที่ 2 อยู่ที่เพียง 22.1% และนอกจากนี้ยังมีจำนวนเด็กที่ไม่ได้รับวัคซีนเลยอีก 28.7%
จากตัวเลขข้างต้นแสดงให้เห็นว่ายังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการฉีดวัคซีน อาจเนื่องมาจากหลายปัจจัย ซึ่งปัจจัยหนึ่งที่สำคัญมาจากการที่ผู้ปกครองยังมีความกังวลกับการเลือกรับวัคซีนให้กับบุตรหลานของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องผลข้างเคียงต่อสุขภาพของเด็กหลังจากฉีดวัคซีน ทั้งผลในระยะสั้นและระยะยาว รวมถึงประสิทธิภาพในการป้องกันโรคของวัคซีน ส่งผลให้ผู้ปกครองที่อยู่ในกลุ่มที่มีความกังวลดังกล่าว เกิดความลังเลใจในการเลือกชนิดของวัคซีน เป็นต้น
ล่าสุดมีงานวิจัยในต่างประเทศออกมาให้ข้อมูลถึงประสิทธิภาพของวัคซีนเชื้อตาย หรือ “Inactivated Vaccine” ในผู้ที่ได้รับวัคซีนโดยเฉาะในกลุ่มเด็ก และกำลังกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความสนใจจากกลุ่มผู้ปกครอง อีกทั้งในงานวิจัยยังได้แสดงผลการศึกษาวิจัยรับรองว่า วัคซีนเชื้อตาย มีความปลอดภัยในเด็ก รวมถึงมีการอนุมัติใช้ในเด็กอย่างแพร่หลาย ทั้งนี้ วัคซีนเชื้อตาย (Inactivated Vaccine) สำหรับเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ ซึ่งงานวิจัยระบุว่า ก่อนหน้านี้วัคซีนเชื้อตายได้เข้ามามีบทบาทในการช่วยรักษาโรคในเด็ก อย่างโรคโปลิโอและโรคไข้หวัดใหญ่ โดยมีการพิสูจน์มาแล้วว่าสามารถป้องกันโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ และไม่มีประวัติก่อให้เกิดผลข้างเคียงที่รุนแรงทั้งระยะเฉียบพลันและระยะยาว นอกจากมีการจะใช้ในเด็กแล้ว วัคซีนเชื้อตายยังเป็นวัคซีนชนิดที่นิยมใช้ในกลุ่มที่มีความต้องการพิเศษ เช่น สตรีมีครรภ์และกลุ่มผู้มีภูมิคุ้มกันบกพร่อง เนื่องจากไม่มีส่วนประกอบของเชื้อไวรัสที่แบ่งตัวได้ (Replicating Virus) ซึ่งวัคซีนป้องกันโรคเหล่านี้เองได้กลายมาเป็นต้นแบบในการพัฒนาวัคซีนเชื้อตายเพื่อป้องกันโควิด-19 ในปัจจุบัน วัคซีนเชื้อตายที่มีการอนุมัติให้ฉีดสำหรับเด็กในประเทศไทย ได้แก่ วัคซีนซิโนแวคและซิโนฟาร์ม สำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 6 ปีขึ้นไป ซึ่งวัคซีนซิโนแวคได้รับการอนุมัติให้ฉีดในเด็กและเยาวชนใน 14 ประเทศ อาทิ ชิลี บราซิล และ ฮ่องกง ปัจจุบันถูกแจกจ่ายไปยังกลุ่มเด็กไปแล้วกว่า 260 ล้านโดสทั่วโลก
นอกจากนี้ ยังมีผลการวิจัยจาก Chilean Real-World ประเทศชิลี ซึ่งเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการฉีดวัคซีนเชื้อตายในเด็กเช่นกัน โดยผลการศึกษาที่ได้มีความสอดคล้องกับงานวิจัยของซิโนแวค ไบโอเทค ที่พบว่าวัคซีนเชื้อตายมีประสิทธิภาพป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 ในเด็กอายุ 6-16 ปี ได้กว่า 74.5% และนอกจากนี้ยังป้องกันอัตราการเข้ารับการรักษาในโรงพยาบาลจากการติดเชื้อและอาการรุนแรงฉุกเฉินได้ถึง 91% และ 93.8% ตามลำดับ สำหรับประสิทธิภาพในการป้องกันเชื้อไวรัสสายพันธุ์โอมิครอน พบว่าวัคซีนสามารถป้องกันการเข้ารักษาในโรงพยาบาลและอาการรุนแรงฉุกเฉินในเด็กอายุ 3-5 ปี ได้ 64.6% และ 69% ตามลำดับ
แม้ในปัจจุบัน ยอดผู้ติดเชื้อโควิด-19 อาจมีแนวโน้มที่ลดลงและไม่พุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องเหมือนกับช่วงระลอกแรกของการแพร่ระบาด ประกอบกับเชื้อที่มีความรุนแรงน้อยลง แต่สถานการณ์การติดเชื้อในเด็กหลังจากเปิดเทอมยังเป็นสิ่งที่ควรจับตามอง เนื่องจากเด็กที่ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 ส่วนใหญ่จะมีอาการไม่รุนแรงหรือไม่มีอาการเลย ทำให้สามารถสังเกตอาการได้ช้าและกลายเป็นปัจจัยหลักในการแพร่เชื้อได้ ขณะที่สำหรับในกลุ่มเด็กที่มีโรคประจำตัวก็ต้องมีการเฝ้าระวังเป็นพิเศษ เนื่องจากอาจเกิดอาการแทรกซ้อนรุนแรงจากการติดเชื้อได้ นอกจากนี้ เด็กที่เคยได้รับเชื้อโควิด-19 ไปแล้ว อาจยังมีความเสี่ยงเกิดอาการแทรกซ้อนหลังติดโควิด-19 อย่างเช่น กลุ่มอาการ MIS-C (Multisystem Inflammatory Syndrome in Children) ซึ่งมีความรุนแรงและส่งผลกระทบต่อการทำงานของหัวใจและระบบทางเดินอาหาร และยังมีเรื่องของอาการลองโควิด (Long COVID) ในเด็ก ที่ยังไม่มีข้อสรุปอย่างแน่ชัด การฉีดวัคซีนป้องกันโควิด-19 จึงสามารถป้องกันความเสี่ยงที่จะเกิดอาการเหล่านี้ได้ นอกจากผู้ปกครองจะต้องคอยเฝ้าระวังและสังเกตอาการอย่างใกล้ชิด การพิจารณาฉีดวัคซีนที่มีความปลอดภัย ยังเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่จะช่วยป้องกันเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุดและช่วยให้บุตรหลานสามารถกลับไปเรียนรู้ในห้องเรียนได้อย่างปลอดภัยในระยะยาวอีกด้วย
อ้างอิง
[1] https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=4099431
[2] Jara, Alejandro, et al. “Effectiveness of an Inactivated SARS-CoV-2 Vaccine in Children and Adolescents: A Large-Scale Observational Study.” (2022). https://papers.ssrn.com/sol3/papers.cfm?abstract_id=4035405
[3] Rafael Araos, Alejandro Jara, Eduardo Undurraga et al. Effectiveness of CoronaVac in children 3 to 5 years during the omicron SARS-CoV-2 outbreak, 15 March 2022, PREPRINT (Version 1) available at Research Square https://doi.org/10.21203/rs.3.rs-1440357/v1