ดร.ณัฐพล รังสิตพล อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม และในฐานะประธาน Spearhead ด้านเศรษฐกิจ ในประเด็นแผนงานวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ และแผนงานระบบโลจิสติกส์อัจฉริยะ เผยผลสำเร็จการดำเนินงาน Spearhead ในกลุ่มแรก ซึ่งสามารถผลิตงานวิจัย “ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System : ASRS” สำเร็จ สร้างความไว้วางใจและความเชื่อมั่นให้กับ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ WD ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ผลิตฮาร์ดดิสก์คอมพิวเตอร์ขนาดใหญ่ที่สุดในโลกมาใช้ระบบ ASRS จากฝีมือคนไทย โดยระบบดังกล่าวช่วยลดต้นทุน ลดข้อผิดพลาด และเพิ่มประสิทธิภาพให้สามารถบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ รวมทั้งลดการนำเข้าระบบ ASRS จากต่างประเทศ ซึ่งคาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี จะมีมูลค่าความต้องการระบบ ASRS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี
ดีพร้อม ขานรับนโยบายดังกล่าว โดยได้ขับเคลื่อนผ่านจึงได้ขับเคลื่อนผ่านนโยบายดีพร้อมแคร์ (DIPROM CARE) เน้นการเจาะลึกต้นตออุปสรรค์ในภาคอุตสาหกรรม พร้อมการวิจัยหาแนวทางเพื่อยกระดับให้ดีขึ้น (C-Customization) มุ่งเป้าไปที่การพัฒนานวัตกรรมฝีมือคนไทยที่สามารถใช้งานได้จริงกับโลจิสติกส์อุตสาหกรรม สามารถลดข้อผิดพลาดและลดพื้นที่ในการจัดเก็บ เพิ่มขีดความสามารถในการบริหารจัดการคลังสินค้าและวัตถุดิบ โดยได้บูรณาการร่วมระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนภายใต้การนำของ Spearhead ด้านเศรษฐกิจ พัฒนา “ระบบอาคารคลังสินค้าอัจฉริยะและระบบอัตโนมัติ Auto Storage and Retrieval System” หรือ ระบบ ASRS เพื่อเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ได้เข้าถึงระบบดังกล่าวภายใต้งบประมาณและสถานที่ที่จำกัด
ดร.ณัฐพล กล่าวเพิ่มเติมว่า งานวิจัยในครั้งนี้เป็นการนำวิทยาการหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติมาประยุกต์ใช้กับระบบอาคารคลังสินค้าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การออกแบบอุปกรณ์และเครื่องจักรสำหรับระบบอัตโนมัติ ได้แก่ เครนยกสินค้าในแนวสูง ชั้นวางสินค้า (Stacker Crane) ชั้นวางสินค้า (Storage Rack) และโปรแกรมบริหารงานคลังสินค้า (Warehouse Management System) ที่คนไทยพัฒนาขึ้นเองภายในประเทศ ช่วยยกระดับระบบโลจิสติกส์ในประเทศไทย ซึ่งระบบ ASRS เป็นระบบที่มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว และมีต้นทุนต่ำสามารถแข่งขันกับตลาดโลกได้ นอกจากนี้ยังเป็นการเปิดโอกาสในการพัฒนาสำหรับผู้ให้บริการออกแบบโซลูชั่น หรือ System Integrator ที่เป็นผู้ประกอบการคนไทยได้ร่วมยกระดับอุตสาหกรรมในส่วนของคลังสินค้าอัจฉริยะของประเทศ และสามารถพัฒนาก้าวสู่การเป็นผู้นำในการส่งออกเทคโนโลยีระบบ ASRS สู่อาเซียนในอนาคต
นอกจากนี้ ระบบ ASRS ยังช่วยเพิ่มขีดความสามารถในด้านการแข่งขัน ทั้งในด้านต้นทุน และประสิทธิภาพในการผลิตให้กับผู้ประกอบการ พร้อมเร่งผลักดันให้นวัตกรรมทางด้านหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติในอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ประสบความสำเร็จ เรียกได้ว่า เป็นหนึ่งในนวัตกรรมที่ขึ้นห้าง สามารถขายทำกำไรได้จริง ใช้งานได้ดีเยี่ยมทำได้โดยนักวิจัยไทยในประเทศไทย พิสูจน์แล้วว่าช่วยลดต้นทุนถึงจุดคุ้มทุนเร็ว
โดยตลอดระยะทางของการวิจัยที่ผ่าน ทีมงานผู้วิจัยและ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ได้นำผลงานจากโครงการฯ ไปขยายผลทางธุรกิจกับลูกค้ากลุ่มเป้าหมายแล้ว อย่างน้อย 3 ราย และหนึ่งในนั้นคือ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด และยังคงมุ่งมั่นที่จะต่อยอดปรับปรุงระบบจากเทคโนโลยีที่ได้พัฒนาขึ้นอย่างต่อเนื่อง พร้อมที่จะขยายผลเปิดให้บริการต่อภาคอุตสาหกรรมไทยที่กำลังเผชิญกับความท้าทายรอบด้านในการลดต้นทุน เพิ่มผลิตภาพในส่วนของห่วงโซ่อุปทานในสถานประกอบการ ซึ่งสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ทำให้ บริษัท เวสเทิร์น ดิจิตอล สตอเรจ เทคโนโลยีส์ (ประเทศไทย) จำกัด มีความไว้วางใจและความเชื่อมั่นในการใช้ระบบ ASRS จากฝีมือคนไทย ดร.ณัฐพล กล่าวทิ้งท้าย
โอกาสนี้ Mr.Sam Loke กรรมการผู้จัดการ บริษัท ดีเอสวี โซลูชั่นส์ จำกัด รศ.ดร.สิรี ชัยเสรี ผู้อำนวยการหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของประเทศ รศ.ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และคุณรุ่งรัตน์ ศิริรัตนาพานิชย์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แม่น้ำเมคคานิกา จำกัด ร่วมด้วยคณะผู้วิจัย เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการ SME ได้เยี่ยมชมผลงานระบบ ASRS เนื่องจากระบบ ASRS ส่วนใหญ่ที่มีในปัจจุบัน เน้นเฉพาะโครงการที่มีงบลงทุนสูง และยังใช้เทคโนโลยีจากต่างประเทศเกือบทั้งหมด ซึ่งอาจจะไม่เหมาะกับผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่เป็น SME
โดยระบบ ASRS ที่ถูกพัฒนาขึ้นภายใต้โครงการฯ นี้ มีทั้งแบบ Low Rise ความสูงน้อยกว่า 12 เมตร เหมาะสำหรับผู้ประกอบการ SME ที่มีพื้นที่ขนาดเล็ก งบลงทุนต่ำ และแบบ High Rise ความสูง 23 เมตร เหมาะกับผู้ประกอบการที่มีพื้นที่ขนาดใหญ่ มีการเติบโตสูง ซึ่งการพัฒนา “ระบบ ASRS” นี้จะสามารถช่วยลดการนำเข้าระบบจากต่างประเทศได้ คาดการณ์ว่าภายใน 5 ปี จะมีมูลค่าความต้องการระบบ ASRS เพิ่มขึ้นไม่น้อยกว่า 10,000 ล้านบาทต่อปี