เอเซีย พลัส ประเมินตลาดหุ้นไทย ไตรมาส 3 เผชิญความเปราะบางจากแรงกดดัน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว แนะลงทุนหุ้นได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น บาทอ่อนค่า และเข้าลงทุนในตลาดหุ้นจีน หลังเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว
สายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ เอเซีย พลัส จำกัด (ASPS) ประเมินภาพรวมการลงทุนในช่วงไตรมาส 3 ปี 2565 ตลาดหุ้นไทยยังเผชิญแรงกดดันจากความเสี่ยงเศรษฐกิจโลกชะลอตัว เงินเฟ้อระดับสูงและการดำเนินนโยบายการเงินเชิงรุกของธนาคารกลางต่างๆ ที่ทำให้สภาพคล่องในระบบลดลง ส่วนปัจจัยภายในเผชิญแรงกดดันจากค่าเงินบาทอ่อนค่าที่จะทำให้ Fund Flow ยังมีแนวโน้มไหลออก ด้านกำไรบริษัทฯ 2Q65 คาดหดตัวทั้ง QoQ และ YoY หลังผ่านช่วง High Season และฐานสูงในปีก่อน กดดัน SET Index ยังอยู่ในช่วงพักฐาน แต่ระดับดัชนีที่ต่ำกว่า 1,570 จุด เป็นโซนสะสมสำหรับการลงทุนในระยะกลาง-ยาว
เทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม รองกรรมการผู้อำนวยการ สายงานวิจัย บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า ตลาดหุ้นไทยในช่วง 3Q65 ยังอยู่ในภาวะพักฐานจากเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัวจากความเสี่ยงเงินเฟ้อฯ และความขัดแย้งระหว่างรัสเซียยูเครนที่ยืดเยื้อ ทำให้ World Bank ปรับลดคาดการณ์ GDP Growth 2565 ลงจากเดิม 4.1% มาเหลือ 2.9% แต่อย่างไรก็ตามการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางต่างๆ กลับต้องเดินหน้าใช้นโยบายการเงินเชิงรุกผ่านการขึ้นดอกเบี้ยฯ และดึงสภาพคล่องออกจากระบบ เพราะให้น้ำหนักไปที่การสกัดเงินเฟ้อฯ มากกว่าการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยเฉพาะทางฝั่งสหรัฐฯคาดว่า FED จะขึ้นดอกเบี้ยฯ ทุกครั้งในรอบการประชุม 4 ครั้งที่เหลือของปี โดยเดือนก.ค. คาดขึ้น 0.75% ไปที่ 2.5% และดอกเบี้ยฯ ณ สิ้นปีน่าจะอยู่ที่ 3.5% ซึ่งเริ่มส่งผลต่อดัชนีชี้วัดเศรษฐกิจส่งสัญญาณชะลอตัว
ส่วนของบ้านเราแม้ว่า ธปท.ส่งสัญญาณขึ้นดอกเบี้ยฯ แต่ยังดำเนินแบบค่อยเป็นค่อยไป โดยกำหนดประชุม กนง.เร็วที่สุด 10 ส.ค.65 ทำให้แนวโน้มส่วนต่างดอกเบี้ยฯ ระหว่างไทยกับสหรัฐฯ มีช่องว่างมากขึ้น โดยฝ่ายวิจัยฯ เชื่อว่า กนง.จะมีการขึ้นดอกเบี้ยฯ 0.25% ในการประชุม 3 ครั้งที่เหลือของปีนี้ซึ่งจะทำให้ดอกเบี้ยฯ ของเราอยู่ที่ 1.25% ทำให้ส่วนต่างระหว่างดอกเบี้ยฯ ไทยกับสหรัฐฯ ณ สิ้นปีจะอยู่ที่ -2.25% กว้างขึ้นเมื่อเทียบกับปัจจุบันอยู่ที่ -1.25% ส่งผลต่อแนวโน้มเงินบาทที่มีโอกาสอ่อนค่าเหนือ 36.00 บาท/usd เป็นปัจจัยที่ทำให้ Fund Flow ยังมีทิศทางไหลออก
นอกจากนี้ยังมี 3 ปัจจัยที่จะเข้ามารบกวนต่อทิศทาง SET Index ในไตรมาสนี้ประกอบด้วย 1) แนวทางการจัดเก็บภาษีของรัฐของภาครัฐฯที่ขาดความชัดเจน อาทิ ภาษีธุรกิจเฉพาะสำหรับการชายหุ้น ภาษีลาภลอยอสังหาฯ และประเด็นเรื่องการขอความร่วมมือต่อผู้ประกอบการกลุ่มโรงกลั่น 2) ราคา Commodity ที่เริ่มปรับฐานจากความกังวลต่อ Recession ในเศรษฐกิจโลกและสหรัฐฯ 3) การเข้าซื้อขายของหุ้น IPO ขนาดใหญ่กลุ่มประกันที่เข้าเกณฑ์ SET50 Index Fast Track ในช่วง ก.ค.65 ที่อาจกดดันต่อหุ้นในกลุ่มใกล้เคียงกันอย่าง ธ.พ. ประกันและไฟแนนซ์
ด้านภาพกำไรบริษัทจดทะเบียนไทยยังคงประมาณการ EPS 65F ไว้ที่ EPS 88.9 บาท/หุ้น แต่อย่างไรก็ตามในงวด 2Q65 ประเมินว่าทิศทางกำไรจะอ่อนตัวระดับ YoY เนื่องจาก 2Q64 เป็นช่วงที่ฐานกำไรสูงกว่าปกติจากการบันทึกรายการพิเศษของ PTTGC ขาย GPSC และ BAY ที่ขายเงินลงทุนติดล้อ และจะเห็นการอ่อนตัว QoQ จากการผ่านช่วง High Season ทั้งนี้ฝ่ายวิจัยฯ ได้ประเมินระดับดัชนีที่เชื่อว่าจะสามารถรองรับความเสี่ยงการปรับขึ้นดอกเบี้ยฯของกนง. 3 ครั้งบนสมมติฐาน Market Earning Yield Gap (MEYG) 4.4% และ Bond Yield 1 ปีที่ 1.25% ทำให้ได้ระดับดัชนีที่รองรับความผันผวนของตลาดอยู่ที่ 1,570 จุด กลยุทธ์การลงทุน แนะนำทยอยสะสมหุ้นเมื่อ SET Index ปรับฐานลงต่ำกว่า 1,570 จุดลงมาในทางตรงข้ามหากดัชนีขึ้นสูงกว่า 1,570 จุดแนะนำให้ขายทำกำไร หรือเลื่อน Stop Profit ของหุ้นขึ้น โดยหุ้น Top Pick ใน 3Q65 อยู่กับ 3 Theme 1) หุ้นที่ได้ประโยชน์จาก Reopening CRC BEM CENTEL CPN TRUE หุ้นได้ประโยชน์จากบาทอ่อนค่า CPF และ หุ้นที่ได้ประโยชน์จากดอกเบี้ยขาขึ้น KTB
กฤตยาภรณ์ ธาดาสีห์ หัวหน้าฝ่ายลงทุนหลักทรัพย์ต่างประเทศ บล.เอเซีย พลัส มองว่า ในปี 2022 นี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกเผชิญกับความผันผวนหนัก กดดันโดย 3 ปัจจัยใหญ่ ได้แก่ เศรษฐกิจที่ชะลอตัว ความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ และการดำเนินนโยบายทางการเงินที่ตึงตัวของธนาคารกลางส่วนใหญ่ทั่วโลก ทำให้ดัชนี MSCI World ที่ประกอบไปด้วยหุ้นชั้นนำของ 23 ประเทศทั่วโลก ปรับลงเกือบ 9% ช่วงระยะเวลา 1 เดือนที่ผ่านมา แต่ตลาดหุ้นจีนกลับสามารถ รีบาวด์สวนทางกับตลาดอื่น โดยดัชนี Hang Seng และดัชนี CSI300 ปรับขึ้น 2% และ 10% ตามลำดับ เนื่องจากท่าทีการใช้นโยบายเข้มงวดของรัฐบาลจีนที่ใช้ควบคุมบริษัทเอกชนและการแพร่ระบาด COVID-19 ส่งสัญญาณคลี่คลาย อีกทั้ง มีการเร่งอัดฉีดมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจเพื่อให้สามารถบรรลุเป้าหมายการเติบโตของเศรษฐกิจจีนปีนี้ที่ 5.5% ได้สำเร็จ ทำให้นักวิเคราะห์หลายเจ้าอย่าง JP Morgan และ Morgan Stanley ที่ก่อนหน้านี้เคยมีมุมมองเชิงลบกับหุ้นจีนเป็นอย่างมากได้กลับลำมุมมองเนื่องจากเห็นสัญญาณการฟื้นตัวของเศรษฐกิจจีน แม้รัฐบาลจีนจะยังคงใช้นโยบาย Zero COVID อยู่ แต่เดือนพ.ค. ที่ผ่านมารัฐบาลจีนได้ประกาศคลายล็อกดาวน์ในเมืองสำคัญทางเศรษฐกิจอย่างปักกิ่งและเซี่ยงไฮ้ และได้ประกาศลดวันกักตัวสำหรับนักเดินทางต่างชาติส่งผลให้การเดินทางระหว่างเมืองของชาวจีนเป็นอิสระมากขึ้น ซึ่งแพลตฟอร์มท้องถิ่นของจีนที่ใช้จองตั๋วเดินทางและที่พักอย่าง Tongcheng Travel Holdings ก็ได้รับอานิสงค์นี้ด้วย
ด้านนโยบายการกระตุ้นเศรษฐกิจของจีนที่เผยออกมาทั้ง 33 มาตรการมีมูลค่ากว่า 5.3 ล้านล้านดอลลาร์ คิดเป็นสัดส่วนสูงถึง 1 ใน 3 ของเศรษฐกิจจีน ซึ่งเน้นออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในฝั่งอุปทานเป็นหลัก อาทิ การลดภาษี การลดอัตราดอกเบี้ยและการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน โดยพลังงานสะอาดเป็นด้านหนึ่งที่รัฐบาลจีนตั้งเน้นผลักดันในระยะยาว ภายใต้เป้าหมายการลดคาร์บอนเป็นศูนย์ก่อนปี 2060 ซึ่งประเทศจีนมีจุดเด่นด้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ครองส่วนแบ่งการตลาดอันดับ 1 ในทุกชิ้นส่วนภายในห่วงโซ่การผลิตแผงโซลาร์ ส่งผลให้บริษัทผู้ที่มีการผลิตทุกส่วนประกอบในแผงโซลาร์เองอย่าง Longi Green Energy มีความโดดเด่นเป็นอย่างมากทั้งในด้านของต้นทุนการผลิตและประสิทธิภาพ สามารถครองตำแหน่งผู้ผลิตผลิตภัณฑ์เกี่ยวกับพลังงานแสงอาทิตย์มากที่มีมูลค่ามากที่สุดในโลกได้
นอกจากนี้ รัฐบาลจีนได้ออกมาตรการกระตุ้นฝั่งอุปสงค์ เพื่อหนุนการจับจ่ายใช้สอยไปพร้อมกับการผลักดันการใช้พลังงานสะอาดด้วย โดยเน้นกระตุ้นอุตสาหกรรมรถยนต์ไฟฟ้าเป็นหลัก โดยรัฐบาลอยู่ระหว่างการพิจารณายืดระยะเวลาการยกเว้นภาษีอุดหนุนรถยนต์ไฟฟ้าที่มีผลบังคับใช้มาตั้งแต่ปี 2014 ออกไป พร้อมผลักดันให้ประชาชนหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้าแทนรถยนต์สันดาป ด้วยเป้าหมายของรัฐบาลจีนที่ชัดเจนนี้ ส่งผลให้ผู้ผลิตที่มียอดขายรถยนต์อันดับ 1 ในจีนอย่าง BYD ประกาศเลิกผลิตรถยนต์สันดาปและผันตัวเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเต็มตัว โดย BYD มีธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำของการผลิตรถยนต์ไฟฟ้า ก้าวขึ้นเป็นผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้าอันดับ 1 ของโลก แซงหน้า Tesla ไปเป็นที่เรียบร้อย หากอิงจากยอดส่งมอบครึ่งปีแรกที่ผ่านมา
ภาดร สุขสวัสดิ์ หัวหน้าฝ่ายที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์การลงทุนและผลิตภัณฑ์ บล.เอเซีย พลัส กล่าวว่า แม้ว่าในช่วงที่ผ่านมาเราจะเห็นการปรับฐานของราคาสินทรัพย์เสี่ยงทั่วโลกไปมากแล้วก็ตาม แต่ระยะข้างหน้าจากความไม่แน่นอนของเงินเฟ้อและราคาพลังงานที่ยังอยู่ในระดับสูง ประกอบกับการเร่งขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางต่างๆ จะยังคงเป็นปัจจัยกดดันต่อเศรษฐกิจและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนทั่วโลก ดังนั้นการลงทุนในไตรมาสที่ 3Q65 ยังคงเน้นลงทุนในภูมิภาคที่เห็นมองสัญญาณการฟื้นตัวที่ชัดเจน และมีมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทั้งทางการเงินและทางการคลังออกมาอย่างต่อเนื่อง เช่น ในประเทศจีน เป็นต้น