ศูนย์ FLEC จับมือ CPF และ GEPP สอนแรงงานข้ามชาติคัดแยกขยะ มุ่งสู่ชุมชนต้นแบบการจัดการขยะแบบครบวงจร
ศูนย์สวัสดิภาพและธรรมาภิบาลแรงงานประมงสงขลา (Fishermen Life Enhancement Center หรือ ศูนย์ FLEC) ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ และ บริษัท จีอีพีพี สะอาด จำกัด หรือ GEPP คิกออฟกิจกรรม “ขยะดี มีค่า” จัดอบรมให้ความรู้แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว และบุคลากรของหน่วยงานภาครัฐ ครูและนักเรียนได้มีความรู้และเข้าใจการคัดแยกขยะถูกต้อง เปลี่ยนขยะให้มีค่า สร้างการมีส่วนร่วมของแรงงานข้ามชาติในการแก้ปัญหาขยะชายฝั่งและขยะทะเล
นางสาวนาตยา เพชรรัตน์ ผู้จัดการศูนย์อภิบาลผู้เดินทางทะเลสงขลา ในฐานะกรรมการศูนย์ FLEC กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 ทำให้วิถีชีวิตของผู้คนเปลี่ยนแปลงไปทำให้เกิดปริมาณขยะมูลฝอยจากการบริโภคมากขึ้น ในการดำเนินงานโครงการ “ศูนย์ FLEC” ในระยะที่ 2 (2564-2568) นอกจากสร้างเครือข่ายป้องกันการค้ามนุษย์ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่ให้แก่แรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัว ศูนย์ FLEC ได้เพิ่มการสร้างความตระหนักรู้และการมีส่วนร่วมของแรงงานประมงข้ามชาติและครอบครัวเข้าในการจัดการปัญหาขยะในชุมชนแบบครบวงจร ในพื้นที่พักอาศัยของแรงงาน รวมถึงพื้นที่และชุมชนบริเวณท่าเทียบเรือสงขลา ตามเป้าหมายการส่งเสริมทักษะการเรียนรู้และการใช้ชีวิตให้แก่แรงงานประมงและครอบครัว
โดย ซีพีเอฟ และ GEPP สตาร์ทอัพไทยที่เชี่ยวชาญชำนาญจัดการขยะ ร่วมจัดโครงการ “ขยะดี มีค่า” อบรมเชิงปฏิบัติการถ่ายทอดองค์ความรู้เกี่ยวกับการคัดแยกขยะที่ถูกต้อง เพื่อเข้าสู่กระบวนการเปลี่ยนขยะให้เป็นของมีค่า ให้แก่เจ้าหน้าที่ศูนย์ฯ แกนนำแรงงานข้ามชาติและครอบครัว รวมทั้ง เจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐในพื้นที่ ครูและนักเรียนโรงเรียนเทศบาล 2 อ.เมือง จ.สงขลา มุ่งเน้นไปที่การสร้างความรู้ ความเข้าใจการคัดแยกขยะ และการมีส่วนร่วมในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้ประโยชน์จากขยะในชุมชน พร้อมนำร่องจัดกิจกรรมรับแลกขยะเพื่อนำขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล ส่งเสริมให้แรงงานประมงเห็นคุณค่าของขยะ มีส่วนร่วมช่วยกันจัดการขยะตั้งแต่ต้นทาง นำไปสู่การสร้างสุขลักษณะที่ดี และการลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน
“การจัดกิจกรรมขยะดี มีค่า ได้รับความสนใจจากแรงงานข้ามชาติและครอบครัวได้นำความรู้ที่ได้จากการอบรมไปคัดแยกขยะที่รีไซเคิลได้ประเภทต่างๆ อาทิ ขวดพลาสติก กระดาษลัง ขวดแก้ว อะลูมิเนียม นำมาแลกกับสินค้าบริโภคที่จำเป็น เช่น น้ำมันพืช น้ำปลา ปลากระป๋อง สบู่ โดยกิจกรรมรับแลกขยะที่จัดขึ้นครั้งแรกศูนย์ FLEC สามารถรวบรวมขยะที่รีไซเคิลได้ถึง 500 กิโลกรัม และนำรายได้จากการจำหน่ายขยะมาใช้เป็นทุนในการดำเนินโครงการต่อไป” นางสาวนาตยากล่าว
ศูนย์ FLEC ตั้งเป้าหมายให้โครงการ “ขยะดี มีค่า” และการจัดกิจกรรมรับแลกขยะ มีส่วนช่วยส่งเสริมให้เกิดการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่าและกระตุ้นให้แรงงานข้ามชาติช่วยลดปริมาณขยะที่ต้องจัดการให้เหลือน้อยที่สุด โดยศูนย์ FLEC จะทำหน้าที่เป็นพี่เลี้ยงและดำเนินการรับแลกและจดบันทึกปริมาณขยะที่รวบรวมได้ และขยายเครือข่ายพันธมิตรในการสร้างมูลค่าจากขยะ เพื่อนำไปสู่การเป็นต้นแบบชุมชนแรงงานประมงข้ามชาติที่มีการจัดการขยะแบบครบวงจร และขยายผลยังชุมชนบริเวณรอบๆ ท่าเทียบเรือประมง และชุมชนอื่นๆ ในจังหวัดสงขลาต่อไป