ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2565 ได้มอบหมายให้ นายอดิศร พิพัฒน์วรพงศ์ ผู้ช่วยเลขาธิการ สายกฎหมายและคดี สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) เข้าร้องทุกข์กล่าวโทษผู้กระทำความผิดด้านประกันภัย จำนวน 22 ราย ต่อ พล.ต.ต.พุฒิเดช บุญกระพือ ผู้บังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ (ผบ.ปอศ.) หรือ ตำรวจ ECD โดยแบ่งฐานความผิด ดังนี้ กระทำความผิดตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติม โดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 จำนวน 2 ราย ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารเพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต โดยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ตามมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
รายที่ 3 ใช้บัญชีเฟซบุ๊ก (Facebook) หลอกลวงขายกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 ในข้อหาทุจริตหรือโดยหลอกลวง นำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่บิดเบือนหรือปลอม อันก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชน และนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์อันเป็นเท็จ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนกแก่ประชาชน อีกทั้งมีการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัย และ/หรือ เป็นตัวแทนประกันภัยที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อชักชวนชี้ช่องให้ประชาชนทำกรมธรรม์ประกันภัยไวรัสโคโรนา 2019 รวมทั้งปลอมแปลงและใช้หนังสืออนุญาตว่าเป็นผู้ได้รับอนุญาตการขึ้นทะเบียนกิจกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ฯ และกระทำการปลอมแปลงและใช้ใบอนุญาตเป็นตัวแทนประกันชีวิต
รายที่ 4 คือ บริษัท ซีเอสที 2019 (ประเทศไทย) จำกัด กับพวก ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษในข้อหา กระทำการแอบอ้างและใช้ชื่อเพื่อแสดงว่าตนเป็นบริษัทประกันภัย และ/หรือเป็นตัวแทนประกันภัยที่ได้รับอนุญาตตามพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 เพื่อชักชวนชี้ช่องให้ประชาชนทำสัญญาประกันภัย อันเป็นความผิดตามมาตรา 63 ซึ่งมีบทกำหนดโทษตามมาตรา 99 และกรณีกระทำการฉ้อฉลประกันภัย อันเป็นความผิดตามมาตรา 108/3 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535 แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562
สำหรับรายที่ 5-22 ถูกร้องทุกข์กล่าวโทษ ในข้อหาปลอมเอกสารและใช้เอกสารดังกล่าว เพื่อเรียกร้องค่าสินไหมทดแทนตามกรมธรรม์ประกันภัย ซึ่งเป็นการเรียกร้องผลประโยชน์ตามกรมธรรม์ประกันภัยโดยทุจริต โดยการแสดงหลักฐานอันเป็นเท็จในการเรียกร้อง ตามมาตรา 108/4 แห่งพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย พ.ศ. 2535แก้ไขเพิ่มเติมโดยพระราชบัญญัติประกันวินาศภัย (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2562 ความผิดฐานปลอมเอกสาร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 264 และความผิดฐานใช้เอกสารปลอม ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 268
“การร้องทุกข์กล่าวโทษต่อเจ้าหน้าที่ตำรวจในครั้งนี้ เพื่อบังคับใช้บทบัญญัติในเรื่องการฉ้อฉลประกันภัยให้เกิดประสิทธิภาพและเป็นการป้องกันมิให้ประชาชนผู้บริสุทธิ์ต้องตกเป็นเหยื่อของผู้ที่ฉวยโอกาส โดยการดำเนินการมีกระบวนการกลั่นกรองข้อเท็จจริงอย่างเป็นระบบและมีการนำเทคโนโลยี AI ที่ทันสมัยมาตรวจสอบและวิเคราะห์พฤติกรรมที่ผิดปกติที่อาจเข้าข่ายการฉ้อฉลประกันภัย ดังนั้น จึงฝากเตือนผู้ที่คิดจะทำการแสวงหาผลประโยชน์โดยมิชอบในเรื่องประกันภัย ว่าหากมีการกระทำความผิดฐานฉ้อฉลประกันภัยจะมีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 5 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ซึ่งสำนักงาน คปภ. มีนโยบายบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดและเด็ดขาด” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย