ธนาคารกสิกรไทยเดินหน้าต่อสู่เป้าหมายธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 จัดกลยุทธ์ผสานจุดแข็งความสัมพันธ์ลูกค้า-พันธมิตร-เทคโนโลยี ส่งมอบบริการเข้าถึงผู้ใช้งานในท้องถิ่นด้วยเทคโนโลยีแบบชาเลนเจอร์แบงก์ เล็งทุ่มงบกว่า 2,700 ล้านบาท เพื่อเสริมแกร่งเครือข่ายบริการในภูมิภาค พร้อมประกาศความมุ่งมั่นรุกตลาดเวียดนามเต็มตัว เอาใจลูกค้าทุกเซกเมนต์ด้วยบริการดิจิทัล ตั้งเป้าในปี 2566 กวาดยอดสินเชื่อ 20,000 ล้านบาท และลูกค้าบุคคล 1.2 ล้านราย
ลุยเศรษฐกิจยุคหลังโควิด 19 เดินหน้าธุรกิจธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค
- งบลงทุน 2,700 ล้านบาท เสริมแกร่งธนาคารแห่งภูมิภาค AEC+3 ด้วยดีเอ็นเอของชาเลนเจอร์แบงก์
นางสาวขัตติยา กล่าวว่า สำหรับแผนธุรกิจธนาคารในภูมิภาค 3 ปีต่อจากนี้ ธนาคารจะเน้นการพัฒนาด้านเทคโนโลยี เสริมทัพทีมงาน การลงทุนในสตาร์ทอัพ และเข้าซื้อกิจการ ในจุดยุทธศาสตร์สำคัญ โดยใช้งบลงทุนประมาณ 2,700 ล้านบาท เพื่อสร้างเครือข่ายธุรกิจที่ผสานด้วยดีเอ็นเอแห่งชาเลนเจอร์แบงก์ ส่งมอบบริการบนดิจิทัลสู่ผู้ใช้งานในท้องถิ่นได้อย่างคล่องตัวสูง ซึ่งจะทำให้ธนาคารกสิกรไทยเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3
- กลยุทธ์ผสาน 3 จุดแข็ง ความสัมพันธ์ลูกค้า–พันธมิตร–เทคโนโลยี
ที่ผ่านมาธนาคารกสิกรไทยขยายธุรกิจในตลาดภูมิภาค AEC+3 ด้วยยุทธศาสตร์ Asset-Light Digital Banking Strategy ที่มุ่งเน้นรูปแบบการเป็นหุ้นส่วนทางธุรกิจ โดยลงทุนและร่วมมือกับบริษัทเทคโนโลยีและสตาร์ทอัพในท้องถิ่น ทำให้ธนาคารมีความรุดหน้าด้านเครือข่ายและเทคโนโลยีบริการที่ตรงใจผู้ใช้งานได้มากขึ้น โดยมีกลยุทธ์การทำธุรกิจใน 3 แนวทาง ได้แก่ (1) รุกขยายสินเชื่อให้กับลูกค้าธุรกิจ (Aggressive Play) ทั้งลูกค้าที่เข้าไปลงทุนและลูกค้าท้องถิ่น (2) ขยายฐานลูกค้าผ่านความร่วมมือกับพันธมิตรของธนาคาร (Mass Acquisition Play) โดยเน้นการให้บริการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านช่องทางดิจิทัล และต่อยอดไปสู่การเชื่อมต่อการทำธุรกรรมในระดับภูมิภาค ด้วยการเป็น Regional Payment Platform (3) พัฒนาการให้บริการทางการเงินในรูปแบบใหม่ (Disruptive Play) โดยเฉพาะการให้สินเชื่อดิจิทัล โดยใช้ Alternative Data ซึ่งทำให้ธนาคารเข้าถึงกลุ่มลูกค้า Underbanked ซึ่งเป็นฐานลูกค้าขนาดใหญ่ใน AEC+3 ได้มากขึ้นใน และสามารถต่อยอดเป็นธุรกิจ Banking-as-a-Service (Baas) ได้
ปักธงกสิกรไทยในเวียดนาม ตลาดดาวเด่นแห่งอาเซียน
เวียดนามมีนโยบายของภาครัฐที่ส่งเสริมเป้าหมายในการเป็น “ศูนย์กลางด้านเทคโนโลยี” แห่งใหม่ของเอเชีย ในขณะที่มีประชากรกว่า 100 ล้านคน มีอายุเฉลี่ยค่อนข้างน้อย ส่วนมากอยู่ในวัยทำงาน มีการเติบโตของชนชั้นกลางอย่างมีนัยสำคัญ โดยเห็นได้จากอัตราการเติบโตของการอุปโภคบริโภคที่ 7% ใน 3 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ยังเปิดกว้างต่อพฤติกรรมการใช้จ่ายทางดิจิทัล โดยพบว่าประชากรเวียดนามมากกว่า 50% ซื้อสินค้าออนไลน์
- ประกาศลุยตลาดเวียดนาม จับใจทุกเซกเมนต์ ด้วยดิจิทัล โปรดักส์ โซลูชัน
ธนาคารกสิกรไทยจะเป็นธนาคารต่างชาติแห่งแรกที่นำ “ดิจิทัล โปรดักส์ โซลูชัน” เต็มรูปแบบ ให้บริการลูกค้าทุกเซกเมนต์ ทั้งกลุ่มธุรกิจท้องถิ่นและต่างชาติที่เข้าไปลงทุนในเวียดนาม โดยเฉพาะในกลุ่มธุรกิจเทรดดิ้ง ธุรกิจบริการ ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐาน ธุรกิจอุตสาหกรรม และลูกค้าบุคคลและธุรกิจขนาดเล็ก โดยผ่านผลิตภัณฑ์เงินฝาก สินเชื่อบุคคล และระบบการรับชำระเงิน โดยนำศักยภาพด้านเทคโนโลยีของธนาคารในฐานะผู้นำด้านดิจิทัลแบงกิ้งและโมบายแบงกิ้งของไทย ไปต่อยอดการพัฒนาบริการให้แก่ลูกค้าในเวียดนาม ทั้งการใช้ K PLUS Vietnam เป็นแกนหลักในการสร้าง Digital Lifestyle Ecosystem ให้แก่ลูกค้าบุคคล เพื่อให้ครอบคลุมลูกค้าได้ทั่วประเทศ และการออกผลิตภัณฑ์สินเชื่อดิจิทัล โดยเริ่มจาก KBank Biz Loan ที่ให้สินเชื่อแก่ร้านค้าขนาดเล็ก โดยเน้นการเข้าถึงลูกค้าผ่านทางพันธมิตรและแพลตฟอร์มท้องถิ่นผ่านการลงทุนของ KASIKORN VISION ซึ่งเป็นบริษัททำหน้าที่ด้านการลงทุนของธนาคาร และการตั้ง KBTG Vietnam เพื่อรองรับการพัฒนาเทคโนโลยีในการให้บริการทั้งในเวียดนามและในภูมิภาค
- โมเดลธุรกิจในเวียดนาม ตอกย้ำยุทธศาสตร์ธนาคารยุคใหม่แห่ง AEC+3
นายพิพิธ กล่าวด้วยว่า ธนาคารกสิกรไทยได้เดินหน้าเข้าสู่ตลาดของเวียดนาม พร้อมบริการดิจิทัลที่เชื่อมต่อเข้าถึงลูกค้าผ่านช่องทางธนาคารและแพลตฟอร์มพันธมิตรครั้งนี้ เป็นการตอกย้ำถึงยุทธศาสตร์ของธนาคารในการก้าวเป็นธนาคารยุคใหม่แห่งภูมิภาค AEC+3 อย่างสมบูรณ์แบบ ด้วยวิธีการแบบชาเลนเจอร์แบงก์ ที่เน้นความคล่องตัวสูงและเข้าถึงผู้บริโภคด้วยเทคโนโลยี ธนาคารเชื่อมั่นว่าจะสามารถเชื่อมต่อบริการธนาคารสู่ลูกค้าท้องถิ่นในเวียดนามได้ในวงกว้าง สะดวก รวดเร็ว และตรงความต้องการ ตั้งเป้าหมายในปี 2566 จะมีลูกค้าบุคคลเวียดนาม 1.2 ล้านราย ปล่อยสินเชื่อรวมได้ 20,000 ล้านบาท พร้อมขยายผลิตภัณฑ์และบริการใหม่ ๆ อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันธนาคารกสิกรไทยมีเครือข่ายการให้บริการในต่างประเทศในกลุ่มประเทศ AEC+3 และประเทศอื่น ๆ รวมทั้งสิ้น 16 แห่ง โดยมีสาขานครโฮจิมินห์เป็นสาขาล่าสุด มีสถาบันทางการเงินที่เป็นพันธมิตรกว่า 84 แห่งทั่วโลก เครือข่ายสตาร์ทอัพในภูมิภาคที่ธนาคารลงทุนและพันธมิตรรวมมากกว่า 20 ราย และมีฐานลูกค้าในภูมิภาคกว่า 1.85 ล้านคน