ร่วมเปิดตัว “โครงการคุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” ผนึกกำลังสร้างเกราะคุ้มภัยด้านประกันภัยให้เกษตรกรไทย ประเดิมด้วยการมอบกรมธรรม์ประกันภัยอุบัติเหตุเพื่อเกษตรอาสาฉบับแรกของประเทศไทย จำนวน 20,000 ฉบับ
ดร. สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (สำนักงาน คปภ.) ได้บูรณาการความร่วมมือกับสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) เดินหน้าตามพันธกิจที่มีการลงนามบันทึกข้อตกลง MOU ด้วยการเปิดตัว “โครงการคุ้มครองอุบัติเหตุ เซฟเกษตรอาสา” โดยมี ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้เกียรติเป็นประธานเปิดโครงการฯ และมี นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร ดร.อัญชลิน พรรณนิภา ประธานบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) นายชนะพันธุ์ พิริยะพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ทีคิวอาร์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้บริหารของสำนักงาน คปภ. และสื่อมวลชนเข้าร่วมงานดังกล่าว เมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2565 ณ ห้องประชุม 3 อาคารนวัตกรรม สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร
“ผมขอขอบคุณ เลขาธิการ คปภ. บริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีคิวอาร์ จำกัด (มหาชน) ที่นำความคุ้มครองในรูปแบบกรมธรรม์ประกันอุบัติเหตุ มอบให้กับเกษตรกร อกม. และ ศกอ. เพื่อสร้างความเข้มแข็ง เสริมภูมิคุ้มกัน และยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรไทยให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ทั้งนี้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ จะมีการต่อยอดจากโครงการนี้ในเฟสต่อ ๆ ไปเพื่อนำระบบประกันภัยใช้เป็นเครื่องมือบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรอย่างยั่งยืนต่อไป”
ด้าน นายฉันทานนท์ วรรณเขจร เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (เลขาธิการ สศก.) กล่าวว่า สำหรับ อกม. และ ศกอ. ที่สนใจทำประกันอุบัติเหตุในโครงการนี้ สามารถสมัครได้ผ่านระบบออนไลน์ QR Code ตั้งแต่วันนี้ไปจนถึงวันที่ 31 สิงหาคม 2565 โดยใช้เวลาเพียงไม่กี่นาทีเท่านั้นในการสมัคร ก็สามารถรับความคุ้มครองประกันอุบัติเหตุได้ทันที โดยความร่วมมือระหว่าง สศก. และสำนักงาน คปภ. จะยังคงเดินหน้าพัฒนาระบบกันภัยภาคเกษตรร่วมกัน เพื่อให้ความช่วยเหลือ ดูแล และคุ้มครองพี่น้องเกษตรกร ซึ่งดำเนินการร่วมกันภายใต้ “คณะกรรมการความร่วมมือพัฒนาระบบประกันภัยการเกษตร” ในการกำหนดทิศทางและแนวทางในการดำเนินการ ทั้งการขยายขอบเขตของการประกันภัยในปัจจุบันไปสู่สินค้าเกษตรชนิดอื่น ๆ นอกเหนือไปจากข้าวนาปีและข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามนโยบายของภาครัฐ ไม่ว่าจะเป็นพืชเศรษฐกิจ พืชรอง หรือสินค้าเกษตรที่มีอนาคตทางการตลาดสูง รวมทั้งสร้างแรงจูงใจ สนับสนุนให้เกษตรกรเข้าสู่ระบบการคุ้มครองความเสี่ยงโดยใช้การประกันภัยเป็นเครื่องมือในการบริหารจัดการทางการเงินของตนเองอย่างเป็นระบบ
– กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง เนื่องจากอุบัติเหตุ ไม่รวมการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกายและ/หรือ อุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 100,000 บาท
– กรณีเสียชีวิต สูญเสียมือ เท้า สูญเสียสายตา หรือทุพพลภาพถาวรสิ้นเชิง จากการถูกฆาตกรรมลอบทำร้ายร่างกาย และ/หรืออุบัติเหตุขณะขับขี่หรือโดยสารรถจักรยานยนต์ จำนวนเงินเอาประกันภัย 50,000 บาท
– ผลประโยชน์ค่าใช้จ่ายในการจัดการงานศพกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วย (ยกเว้นกรณีเสียชีวิตจากการเจ็บป่วยภายใน 15 วันแรก นับจากวันเริ่มต้นระยะเวลาประกันภัย) จำนวนเงินเอาประกันภัย 5,000 บาท
– ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในกรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จะได้รับค่าชดเชย 200 บาทต่อวัน (สูงสุดไม่เกิน 60 วัน)
– ผลประโยชน์ค่าชดเชยรายได้ระหว่างการเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยในในห้อง ICU กรณีได้รับบาดเจ็บจากอุบัติเหตุ จะได้รับค่าชดเชย 400 บาทต่อวัน (ผลประโยชน์รวมเข้ารักษาตัวเป็นผู้ป่วยใน ไม่เกิน 60 วัน) โดยกรมธรรม์ประกันภัยรายย่อยเพื่อเกษตรอาสา (ไมโครอินชัวรันส์) เป็นกรมธรรม์ประกันภัยกลุ่มที่ให้ระยะเวลาความคุ้มครอง 60 วัน ผู้เอาประกันภัยต้องมีอายุตั้งแต่ 20 ปีบริบูรณ์ ถึง 70 ปีบริบูรณ์ ณ วันที่ทำประกันภัย
โดยโครงการดังกล่าวได้รับความร่วมมืออย่างดียิ่งจากบริษัท ทีคิวเอ็ม คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) บริษัท ทีคิวอาร์ จำกัด (มหาชน)
“ขอเชิญชวนอาสาสมัครอาสาสมัครเกษตรหมู่บ้าน (อกม.) และเศรษฐกิจการเกษตรอาสา (ศกอ.) จากทั่วประเทศ ลงทะเบียนรับสิทธิ์กรมธรรม์ประกันภัยหนึ่งคนต่อหนึ่งสิทธิ์ให้ครบทั้ง 20,000 กรมธรรม์ เพราะเป็นความตั้งใจของทุกหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชนที่ร่วมกันนำระบบประกันภัยไปสู่พี่น้องเกษตรกร ซึ่งเป็นโครงการดี ๆ จากใจสำนักงาน คปภ. เพื่อพี่น้องอาสาสมัครทางการเกษตร โดยสำนักงาน คปภ. จะเร่งบูรณาการกับ สศก. และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องผลักดันระบบประกันภัยด้านการเกษตรของประเทศไทยให้พัฒนายิ่งขึ้น อันจะทำให้ต่อระบบเศรษฐกิจ สังคมของประเทศเติบโตอย่างยั่งยืนต่อไป” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย