นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เปิดเผยถึงความก้าวหน้าผลการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติ ประจำปี 2565 ว่า การเคหะแห่งชาติเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจภายใต้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ได้ดำเนินนโยบายสำคัญของรัฐบาลตามแนวทางของ พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และนายจุติ ไกรฤกษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ซึ่งนับตั้งแต่รับตำแหน่งผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ เมื่อวันที่ 22 กรกฎาคม 2563 เป็นต้นมา รวมระยะเวลาประมาณสองปีเศษ ตนมีความตั้งใจจริงที่จะเดินหน้าขับเคลื่อนการดำเนินงานของการเคหะแห่งชาติในทุกมิติ เพื่อให้การเคหะแห่งชาติสามารถเป็นที่พึ่งให้กับผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางในด้านที่อยู่อาศัย รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้อยู่อาศัยในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม พร้อมกันนั้นยังมุ่งมั่นสร้างธรรมาภิบาลและความโปร่งใสให้แก่องค์กร ด้วยการปรับปรุงโครงสร้างองค์กร ปรับปรุงกฎระเบียบ และข้อบังคับต่าง ๆ ให้มีความสอดคล้องกับยุคสมัย และเกิดความคล่องตัวในการทำงานมากยิ่งขึ้น สามารถให้บริการประชาชนได้อย่างรวดเร็ว ตลอดจนปรับปรุงเว็บไซต์องค์กรให้ทันสมัย ปรับปรุงช่องทางการร้องเรียนให้มี 6 ช่องทาง พร้อมด้วยการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ปี 2565 การเคหะแห่งชาติได้คะแนนผลการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใสในการดำเนินงานของหน่วยงานภาครัฐ หรือ ITA 97.96 คะแนน จาก 100 คะแนนเต็ม เพิ่มสูงขึ้น 0.03 คะแนน จากปี 2564 ที่ได้ 97.93 คะแนน ถือเป็นอันดับที่ 1 ของหน่วยงานภายใต้สังกัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และอันดับที่ 5 ของหน่วยงานรัฐวิสาหกิจทั้งหมดที่เข้าร่วมการประเมินจำนวน 51 แห่ง รวมทั้งได้ระดับผลการประเมิน AA ในระดับประเทศ
“ผมขอขอบคุณทีมผู้บริหารและผู้ปฏิบัติงานการเคหะแห่งชาติทุกคน ที่มีส่วนช่วยในการเผยแพร่ข้อมูลบนเว็บไซต์ของหน่วยงาน ให้บริการประชาชนอย่างเท่าเทียมกันและมีประสิทธิภาพ รวมทั้งมีการพัฒนาการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง จึงทำให้การเคหะแห่งชาติได้รับผลประเมิน ITA อยู่ในระดับ AA ของประเทศ”
นายทวีพงษ์ วิชัยดิษฐ กล่าวถึงความก้าวหน้าผลการดำเนินโครงการพัฒนาที่อยู่อาศัยของการเคหะแห่งชาตินับตั้งแต่ปี 2519 ถึงวันที่ 31 กรกฎาคม 2565 ได้พัฒนาที่อยู่อาศัยไปแล้ว 746,616 หน่วย นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 การเคหะแห่งชาติได้ปรับเปลี่ยนนโยบายจากการสร้างบ้านเพื่อขาย มาเน้นการสร้างบ้านเช่าให้มากขึ้น เพื่อให้ผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบางสามารถเข้าถึงที่อยู่อาศัยในอัตราค่าเช่าที่รับภาระได้อย่างทั่วถึง อย่างเช่น โครงการบ้านเคหะสุขประชา ซึ่งเป็นบ้านเช่าพร้อมอาชีพ และโครงการบ้านเคหะสุขเกษมที่นำโครงการบ้านเอื้ออาทรเดิมที่เป็น Sunk cost มาปรับเป็นบ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ รวมทั้งโครงการอาคารเช่าที่สร้างขึ้นใหม่ และการรับคืนอาคารเช่าเหมาจากเอกชนมาบริหารจัดการเอง เพื่อลดภาระค่าเช่าและค่าสาธารณูปโภคให้แก่ผู้อยู่อาศัยไปพร้อมกัน
ขณะที่ โครงการบ้านเคหะสุขเกษม “บ้านเช่าสำหรับผู้สูงอายุและข้าราชการวัยเกษียณ” พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานเปิดโครงการบ้านเคหะสุขเกษมจังหวัดสมุทรปราการ (เทพารักษ์) เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2565 ณ ที่ตั้งโครงการ ซึ่งตั้งอยู่บนพื้นที่ประมาณ 126.5 ไร่ ซอยที่ดินไทย ถนนเทพารักษ์ ตำบลบางพลีใหญ่ อำเภอบางพลี จังหวัดสมุทรปราการ แบ่งการพัฒนาโครงการฯ ออกเป็น 4 ระยะ รวมทั้งสิ้น 4,089 หน่วย มีรูปแบบอาคารเป็นอาคารชุดสูง 5 ชั้น (มีลิฟต์ทุกอาคาร) ขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 33 ตารางเมตร (อาคารละ 40 หน่วย) และขนาดพื้นที่ใช้สอยประมาณ 23 ตารางเมตร (อาคารละ 5 หน่วย) ออกแบบโครงการภายใต้หลักอารยสถาปัตย์ (Universal Design) โดยคำนึงถึงการใช้งานของผู้สูงอายุเป็นสำคัญ
ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวเพิ่มเติมว่า การเคหะแห่งชาติยังมีแนวนโยบายที่จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายที่อยู่อาศัยให้กับประชาชน จึงได้ดำเนินการขอรับคืนโครงการอาคารเช่า จากบริษัทเอกชนที่ครบสัญญาแล้วกลับมาบริหารเองเพื่อให้ประชาชนที่เช่าอาศัยในโครงการของการเคหะแห่งชาติได้จ่ายค่าเช่าโดยตรงกับการเคหะแห่งชาติซึ่งทำให้ค่าเช่าลดลง โดยมีเป้าหมายการรับคืนอาคารเช่าเหมาจากเอกชนไม่รวมหน่วยงานของรัฐ จำนวน 60 สัญญา รวม 32,632 หน่วย ปัจจุบันมีบริษัทที่หมดสัญญาและต้องส่งมอบอาคารคืนให้กับการเคหะแห่งชาติ จำนวน 52 สัญญา รวม 27,989 หน่วย ซึ่งมีผู้เช่ารายย่อยมาทำสัญญากับการเคหะแห่งชาติ โดยตรงแล้ว จำนวน 10,303 หน่วย สำหรับประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเมื่อการเคหะแห่งชาตินำอาคารเช่ากลับมาบริหารเองจะมีทั้งการจ่ายค่าเช่าถูกลงกว่าเดิม 411 – 6,243 บาท/หน่วย/เดือน คิดเป็นลดลงเฉลี่ย 54 % จ่ายค่าไฟลดลงเฉลี่ย 32 บาท/หน่วย/เดือน จ่ายค่าน้ำลดลงเฉลี่ย 15 บาท/หน่วย/เดือน และไม่ต้องจ่ายค่าเก็บขยะ ทั้งนี้ การเคหะแห่งชาติได้จัดตั้ง “ศูนย์บริการประชาชน โครงการอาคารเช่า การเคหะแห่งชาติ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์” เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้เช่าอย่างครบวงจร ตั้งแต่การลงทะเบียน การทำสัญญา การชำระเงิน หรือการติดต่อสอบถามต่าง ๆ รวมถึงการดูแลผู้อยู่อาศัยให้ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น
โครงการสินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย เป็นอีกหนึ่งโครงการสำคัญเพื่อช่วยให้ประชาชนเข้าถึงที่อยู่อาศัย โดยเป็น “เครื่องมือทางการเงิน” ช่วยลูกค้าที่ซื้อบ้านของการเคหะแห่งชาติแต่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อจากสถาบันการเงิน สามารถขอสินเชื่อผ่านโครงการดังกล่าวได้ โดยจะมีคณะกรรมการบริหารการให้สินเชื่อเพื่อการพัฒนาที่อยู่อาศัย (คบส.) ของการเคหะแห่งชาติเป็นผู้พิจารณาให้สินเชื่อกับลูกค้า โดยวงเงินสะสมที่อนุมัติแล้ว (ปีงบประมาณ 2563 – พ.ค. 2565) 966.825 ลบ. รวม 1,490 หน่วย (ลูกค้าทั่วไป 1,307 ราย และกลุ่มเปราะบาง 183 ราย) คิดเป็น 101% ซึ่งวงเงินเช่าซื้อที่เกินวงเงินที่ได้รับจัดสรรงบประมาณ จำนวน 9.596 ล้านบาท ใช้จากรายรับค่างวดค่าเช่าซื้อ
นอกจากนั้น การเคหะแห่งชาติยังมีนโยบายช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 โดยออกมาตรการเยียวยาช่วยเหลือลูกค้าที่ได้รับผลกระทบ ทั้งอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อพิเศษ ลูกค้าเดิม เริ่มตั้งแต่ 1 กรกฎาคม 2564 – 30 มิถุนายน 2565 ปรับโครงสร้างหนี้ ลดอัตราดอกเบี้ยเช่าซื้อเหลือ 6.50 % ทุกประเภทสัญญา ขณะที่ลูกค้าใหม่ที่ไม่ผ่านการพิจารณาสินเชื่อธนาคาร สามารถยื่นขอสินเชื่อทำสัญญาเช่าซื้อกับโครงการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยสำหรับผู้มีรายได้น้อย ในอัตราดอกเบี้ยที่ค่อนข้างต่ำมาก ปีที่ 1-4 เพียง 1.50% เท่านั้น อีกทั้งยังมีการลดราคาขายพิเศษ (Shock Price) โครงการบ้านเอื้ออาทร 56 โครงการ ราคาขายเงินสดพิเศษหน่วยละ 250,000 – 520,000 บาท รวมถึงบ้านเช่าราคาพิเศษ ลูกค้าเดิม ปรับลดอัตราค่าเช่า 10% จากอัตราค่าเช่าปกติ ให้กับผู้เช่ารายย่อยในโครงการอาคารเช่าที่รับคืนจากบริษัทเอกชน จำนวน 32 สัญญา ส่วนลูกค้าใหม่ บ้านเช่าราคาพิเศษ 88 โครงการ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม – 30 กันยายน 2565 อัตราค่าเช่าปีแรก กรณีบ้านพร้อมที่ดิน อัตราค่าเช่า 1,200 บาท/เดือน ห้องชุด 30-40 ตารางเมตร ชั้นที่ 1-2 อัตราค่าเช่า 1,200 บาท/เดือน ชั้นที่ 3-5 อัตราค่าเช่า 999 บาท/เดือน ห้องชุด 24 ตารางเมตร อัตราค่าเช่า 599 บาท/เดือน
“เรายังคงมุ่งมั่นพัฒนาและสร้างโอกาสในการเข้าถึงที่อยู่อาศัยของผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มเปราะบาง รวมไปถึงการพัฒนาคุณภาพชีวิตในด้านสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อมให้ผู้อยู่อาศัยในชุมชนของการเคหะแห่งชาติทั่วประเทศ” ผู้ว่าการการเคหะแห่งชาติ กล่าวย้ำในที่สุด