บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ จับมือหน่วยงานภาครัฐ องค์กรส่วนท้องถิ่น ชุมชน และพนักงานซีพีเอฟจิตอาสา เก็บขยะชายหาดชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน พร้อมกันทั่วประเทศ 7 จังหวัด หนุนโครงการปกป้องท้องทะเล Restore the Ocean ลดปริมาณขยะทะเล นำขยะเข้าสู่กระบวนการคัดแยกและบริหารจัดการอย่างถูกวิธี รวมทั้งการนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ร่วมรักษาระบบนิเวศ คืนความสวยงามสู่ท้องทะเล และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน
ซีพีเอฟ เดินหน้าร่วมอนุรักษ์และดูแลสิ่งแวดล้อม จัดกิจกรรมเก็บขยะชายหาด 7 จุด ใน 7 จังหวัดพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและอันดามัน ระหว่างวันที่ 15-17 กันยายน 2565 เนื่องในสัปดาห์วันเก็บขยะชายหาดสากล(International Coastal Cleanup Day) ซึ่งกิจกรรมเก็บขยะชายหาด เป็นหนึ่งในกิจกรรมหลัก ภายใต้โครงการ CPF Restore the Ocean ร่วมปกป้องท้องทะเล และสร้างความมั่นคงทางอาหารอย่างยั่งยืน โดยในวันนี้ (17 ก.ย.) คณะผู้บริหารของซีพีเอฟ นำโดยนายวุฒิชัย สิทธิปรีดานันท์ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส ด้านความรับผิดชอบต่อสังคมและการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน นำจิตอาสาซีพีเอฟ ร่วมกับตัวแทนหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานในพื้นที่ตำบลปากน้ำประแส ชุมชน และเยาวชนคนรุ่นใหม่ มากกว่า 300 คน ร่วมกันเก็บขยะชายหาดบริเวณเรือรบประแส และปล่อยปูดำในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง และได้รับเกียรติจากนางสาวกานต์จรัส เอียดทองใส นายอำเภอแกลง เปิดงานและร่วมกิจกรรมในครั้งนี้ด้วย
นายอำเภอแกลง กล่าวว่า ในนามของอำเภอแกลง ขอขอบคุณซีพีเอฟที่ให้ความสำคัญในการเข้ามาจัดกิจกรรมในพื้นที่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการร่วมกันดูแลสิ่งแวดล้อม กิจกรรมที่เกิดขึ้นในวันนี้ แสดงให้เห็นว่าการทำงานด้านสิ่งแวดล้อมไม่สามารถสำเร็จได้ด้วยการทำงานเพียงหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง แต่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และหวังว่าทางซีพีเอฟจะมีการจัดกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ตามที่ตั้งใจว่าจะพัฒนาที่นี่ให้เป็นแหล่งอาหารที่ยั่งยืน
สำหรับกิจกรรมเก็บขยะชายหาดในพื้นที่จังหวัดระยอง สามารถเก็บขยะได้รวม 1,531 กิโลกรัม โดยมีการนำขยะมาคัดแยกตามประเภท ได้เป็นขยะรีไซเคิล เช่น พลาสติก แก้ว โลหะ โฟม ยาง รวม 539 กิโลกรัม ขยะทั่วไป เช่น หลอด แก้วน้ำ ถุงอาหาร 742 กิโลกรัม อุปกรณ์ประมง เช่น แห อวน เชือก 214 กิโลกรัม และขยะอันตราย 36 กิโลกรัม ซึ่งจะนำขยะเหล่านี้ไปจัดการในรูปแบบที่เหมาะสมและนำเข้าสู่กระบวนการในการนำกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)
ทั้งนี้ กิจกรรมเก็บขยะชายหาดและพื้นที่ป่าชายเลนทั้ง 7 พื้นที่ ซึ่งประกอบด้วย ป่าชายเลนบริเวณศูนย์วิจัยและพัฒนาทรัพยากรป่าชายเลนที่ 2 ต.บางหญ้าแพรก จ.สมุทรสาคร ชายหาดหน้าทับ (บางสน) ต.บางสน อ.ปะทิว จ.ชุมพร ชายหาดบางสัก อ.ตะกั่วป่า จ.พังงา ชายหาดท่าบอน ต.ท่าบอน อ.ระโนด จ.สงขลา หาดแพรกเมือง อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช ชายหาดเรือรบประแส และศูนย์การเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ต.ปากน้ำประแส จ.ระยอง และหาดทรายแดง หินลาวา บ้านธรรมชาติล่าง ต.คลองใหญ่ อ.แหลมงอบ จ.ตราด มีผู้เข้าร่วมกิจกรรมมากกว่า 2,000 คน เก็บขยะได้ทั้งหมดรวม 7,153 กิโลกรัม