รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธานในพิธีเปิดงาน Medlab Asia & Asia Health 2022 งานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ และธุรกิจการดูแลสุขภาพชั้นนำในภูมิภาคเอเซียแปซิฟิค จัดโดยอินฟอร์มา มาเก็ตส์ และอิมแพ็ค เอ็กชิบิชั่น แมเนจเม้นท์ พร้อมงาน CPHI Southeast Asia งานแสดงสินค้าในอุตสาหกรรมการผลิตยาครบวงจร ดึงผู้ร่วมงานที่มีศักยภาพกว่า 11,000 ราย คาดปิดดีลธุรกิจเครื่องมือแพทย์ในงานมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท พร้อมชี้ 3 เทรนด์มาแรงในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์
นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานเปิดงาน Medlab Asia & Asia Health 2022 กล่าวว่า “เครื่องมือแพทย์ เป็นหนึ่งในสาขาสำคัญของรัฐบาลที่ต้องการขับแคลื่อนให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการแพทย์ครบวงจร โดยการสนับสนุนให้มีการพัฒนาเครื่องมือแพทย์ที่มีมาตรฐานเทียบเท่าสากล สำหรับรองรับการเข้าสู่สังคมสูงวัยของประเทศไทย และการเกิดโรคอุบัติใหม่ๆ ที่ทำให้เครื่องมือแพทย์มีปริมาณความต้องการเพิ่มสูงขึ้นอย่างมาก รวมถึงการที่รัฐบาลมีนโยบายในการขับเคลื่อนประเทศไทยสู่ไทยแลนด์ 4.0 ภายใต้โมเดล BCG ซึ่งมีเป้าหมายหลักในอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ คือ เพิ่มการจัดซื้อเครื่องมือแพทย์จากบัญชีนวัตกรรมของไทยอย่างน้อย 30% ของผลิตภัณฑ์ที่ได้จากการวิจัยนวัตกรรม และการผลิตในประเทศ หรือสร้างรายได้และผลพวงทางเศรษฐกิจ ประมาณ 40,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปี (ปี 2564-2568) ทำให้งาน Medlab Asia & Asia Health เป็นโอกาสที่ดีของวงการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียนในการสร้างเครือข่ายและต่อยอดอุตสาหกรรมเครื่องมือแพทย์ รวมถึงเรียนรู้องค์ความรู้ และนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ประเทศทั่วโลก จะได้นำมาแลกเปลี่ยน และประสานความร่วมมือกัน เพื่อให้ประเทศไทยบรรลุเป้าหมายในการก้าวสู่การเป็น Medical Hub of Asia อย่างแท้จริง”
นายมนู เลียวไพโรจน์ ประธานบริษัท อินฟอร์มา มาร์เก็ตส์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ความท้าทายทางธุรกิจเครื่องมือแพทย์ที่สำคัญ คือ การแข่งขันกันพัฒนาเทคโนโลยีขั้นสูงในห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันภัยคุกคามที่ต่อเนื่องของ COVID-19 ตลอดจนโรคอุบัติใหม่ที่มีต่ออุตสาหกรรมต่างๆ ทั่วโลก โดยบริษัทจำนวนมากได้มีการพัฒนาโซลูชัน ผลิตภัณฑ์ และเทคโนโลยี เพื่อรับมือกับผลกระทบของโรคระบาด และต้องการนำเสนอนวัตกรรมล่าสุด ซึ่งมีแนวโน้มสำคัญที่คาดว่าจะกำหนดทิศทางของภาคอุปกรณ์การแพทย์ในเอเชียในปี 2565 ได้แก่ 1) การผ่าตัดแบบเปิดขนาดเล็กด้วยระบบ MIS 2) เทคโนโลยีไร้สายและอุปกรณ์อัจฉริยะ อาทิ อุปกรณ์ตรวจสอบผู้ป่วยระยะไกล (RPM) เพื่อติดตามสุขภาพของผู้ป่วยภายหลังการรักษา และ 3) เทคโนโลยีเสมือนจริง (AR) และหุ่นยนต์ ซึ่งเป็นประโยชน์ในการสนับสนุนการผ่าตัด ซึ่งเทรนด์ใหม่นี้มีศักยภาพมากในเอเชีย และเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีด้านสุขภาพดิจิทัลที่มีแนวโน้มมากที่สุดในปัจจุบัน รวมถึงผู้ซื้อเองก็มีความต้องการที่จะใช้ประโยชน์จากนวัตกรรมเหล่านี้เช่นเดียวกัน”
งาน Medlab Asia & Asia Health ในปีนี้ ได้รับการตอบรับอย่างดีจากวงการแพทย์ในภูมิภาคอาเซียน โดยเฉพาะการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสหสาขาวิชาชีพเวชศาสตร์ในห้องปฏิบัติการที่ดึงดูดความสนใจของบุคลากรทางการแพทย์และนักศึกษาแพทย์อย่างมาก เนื่องจากเป็นงาน Med Fair แห่งเดียวในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกที่ให้การรับรองคะแนนเครดิตใน CME, CMTE , CNEU และ CPD เพื่อการศึกษาต่อด้านการแพทย์ โดยมีผู้เข้าร่วมประชุม 2,000 คน ซึ่งเข้าร่วมรับฟังความคิดเห็นของวิทยากร มากกว่า 30 คนจาก 20 ประเทศ ที่จะแชร์ประสบการณ์และความรู้ให้ผู้เชี่ยวชาญด้านห้องปฏิบัติการทางการแพทย์ได้พัฒนาทักษะและปรับปรุงการดูแลผู้ป่วยในภูมิภาค นอกจากนี้ แพลตฟอร์มดังกล่าวยังมีการจับคู่ธุรกิจและการลงทุนด้านเครื่องมือแพทย์ ธุรกิจด้านการดูแลสุขภาพในประเทศต่างๆ อีกด้วย
ผู้ที่สนใจเข้าชมงาน Medlab Asia & Asia Health ยังสามารถเข้าชมงานได้ถึงวันที่ 21 ตุลาคมนี้ ที่ อาคาร 5-6 อิมแพค เมืองทองธานี ตั้งแต่เวลา 10.00 – 18.00 น.