กสิกรไทย ออกมาตรการพักชำระเงินต้น 6 เดือน ช่วยลูกค้าบรรเทาผลกระทบจากอุทกภัย

ธนาคารกสิกรไทยออกมาตรการช่วยเหลือลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ด้วยมาตรการ “พักชำระเงินต้น จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน และให้วงเงินสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัย” หวังช่วยบรรเทาความเดือดร้อนและให้ลูกค้าฟื้นฟูได้อย่างเร็ว ลูกค้าที่ประสบอุทกภัยในจังหวัดที่ธนาคารกำหนด สามารถขอเข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่ 1 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2565  

นายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง กรรมการผู้จัดการ ธนาคารกสิกรไทย เปิดเผยว่า จากเหตุการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในหลายจังหวัดของประเทศ ทำให้ลูกค้าของธนาคารทั้งลูกค้าธุรกิจและลูกค้าบุคคลได้รับผลกระทบ ทั้งการใช้ชีวิตประจำวัน การทำธุรกิจ รวมถึงสร้างความเสียหายให้กับทรัพย์สินของลูกค้า ธนาคารพร้อมช่วยบรรเทาความเดือดร้อน และช่วยให้ลูกค้ามีเงินทุนในการฟื้นฟูและสามารถกลับมาใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจได้ตามปกติในเร็ววัน ผ่านมาตรการความช่วยเหลือซึ่งลูกค้าสามารถเลือกเข้าร่วมมาตรการได้ตามความเหมาะสม

ลูกค้าที่เข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือต้องไม่มีสถานะเป็น NPL ณ สิ้นเดือนก่อนที่จะขอเข้าร่วมมาตรการช่วยเหลือ และต้องอาศัย หรือมีธุรกิจอยู่ในพื้นที่ หรือมีหลักประกันอยู่ในจังหวัดที่กำหนด คือ พิษณุโลก นครสวรรค์ มหาสารคาม สุรินทร์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง ปทุมธานี และภูเก็ต โดยมาตรการช่วยเหลือมีรายละเอียด ดังนี้

มาตรการที่ 1 “พักชำระเงินต้น” จ่ายเฉพาะดอกเบี้ย ระยะเวลาสูงสุด 6 เดือน สำหรับลูกค้าที่ใช้บริการสินเชื่อเพื่อธุรกิจ สินเชื่อเงินด่วนแบบผ่อนระยะยาวเพื่อธุรกิจ สินเชื่อบ้าน สินเชื่อเงินด่วน Xpress Loan บัตรเครดิต บัตรเงินด่วน Xpress Cash และบัตรธุรกิจ

มาตรการที่ 2 “เงินกู้สำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัย” ให้วงเงินสูงสุดไม่เกิน 90% ของราคาประเมิน ระยะเวลากู้สูงสุดไม่เกิน 30 ปี และไม่ต้องประเมินราคาหลักประกัน

ธนาคารกสิกรไทยมุ่งมั่นในการช่วยเหลือและยืนหยัดเคียงข้างลูกค้าในทุกวิกฤติ โดยลูกค้าธุรกิจที่สนใจเข้าร่วมมาตรการสามารถติดต่อได้ที่ผู้ดูแลความสัมพันธ์ลูกค้า หรือ K-BIZ Contact Center 02-8888822 สำหรับลูกค้าบุคคลติดต่อได้ที่ K-Contact Center 02-8888888 ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน – 30 ธันวาคม 2565

kbankธนาคารกสิกรไทยมาตรการพักชำระเงินต้นเงินกู้สำหรับซ่อมแซมที่อยู่อาศัย
Comments (0)
Add Comment