ภาครัฐต้อน “หมูเถื่อน” ไม่จนมุม มัดตราสังเกษตรกร
ข่าวคราวที่กรมปศุสัตว์ลุยตรวจเข้มป้องกันและปราบปรามการลักลอบนำเข้าเนื้อหมูเถื่อน ล่าสุดร่วมกับกำลังทหารจับกุม “กองทัพมด” ที่กำลังขนเนื้อหมู 5 ตัน มาตามเส้นทางธรรมชาติ โดยลักลอบนำเข้ามาจากประเทศกัมพูชา เป็นการบุกจับขณะกำลังเร่งขนเนื้อหมูขึ้นรถห้องเย็นที่ชายแดนอำเภออรัญประเทศ จังหวัดสระแก้ว โดยด่านกักกันสัตว์สระแก้วดำเนินการทำลายเนื้อหมูเถื่อนที่ยึดได้ในทันที เนื่องจากกระทำดังกล่าวเป็นความผิดตาม พ.ร.บ. โรคระบาดสัตว์ พ.ศ. 2558 มาตรา 31 และพ.ร.บ. ศุลกากร พ.ศ. 2560 มาตรา 246
การตรวจจับที่ยังพบต่อเนื่องเช่นนี้ สะท้อนว่าขบวนการลักลอบนำเข้าหมูยังไม่หมดไปจากประเทศไทย ยังคงตัวการบ่อนทำลายชาติ ไม่เกรงกลัวกฎหมาย เพียงแต่เปลี่ยนช่องทางนำเข้า เพราะยังขายให้กับผู้ค้าหมูที่หวังทำกำไรจากการรับหมูเถื่อนมาวางขายเพื่อลดต้นทุน โดยไม่คิดถึงผลกระทบที่จะตามมา ทั้งความเสียหายด้านสุขอนามัยที่จะเกิดกับประชาชนคนไทย และผลต่ออาชีพเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูของไทยโดยเฉพาะรายย่อยและรายเล็กไม่สามารถเริ่มต้นเลี้ยงใหม่ได้ เพราะตราบใดที่ภาครัฐยังจับไม่หมดในระหว่างที่ผลผลิตในประเทศน้อย ราคาจะเป็นสิ่งล่อใจให้ขบวนการลักลอบนำเข้าหมูเถื่อนทำงานต่อเนื่อง
ที่ผ่านมา ภาครัฐเพียงแต่เงื้อดาบแต่ฟันเพียงเบา ปล่อยให้ข้าศึกวิ่งหนีไปซ่อนตัวในป่า หากแต่ต้องสำนึกตลอดเวลาว่าหมูเถื่อน คือข้าศึกใหญ่ของแผ่นดิน ต้องลงดาบฟันฉับเดียวขาด ให้พวกที่ยังเหลือหวาดกลัวและล่าถอยไป ทั้งกรมศุลกากรและกรมปศุสัตว์ มีกฎหมายในมือเปรียบเสมือนเหมือนอาญาสิทธิ์ในการฟาดฟันผู้กระทำผิดได้เต็มที่ ก็ควรใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ที่สำคัญควรทำงานแบบสองประสาน บูรณาการการทำงานโดยมีเป้าหมาย “หมูเถื่อน” ในไทยต้องหมดไปเร็วที่สุดภายในสิ้นเดือนนี้…ก็จะเป็นข่าวดี
อย่าให้หมูเถื่อนกลายเป็นดาบสองคมที่บาดลึกทั้งประชาชนที่ต้องรับสารเร่งเนื้อแดง สารตกค้าง และโรคที่ปะปนมาด้วย เพราะหมูเถื่อนทั้งหมดนี้ เป็นสินค้าที่ไม่มีคุณภาพ เก่าเก็บ หรือเป็นสินค้าหมดอายุที่ประเทศต้นทางผลักดันให้คนไทยกิน เพื่อไม่ต้องเสียต้นทุนในการทำลายสินค้าขยะเหล่านั้น พบว่าผลิตภัณฑ์ที่จับแต่ละครั้ง เป็นหมูเก่าผลิตมานาน บางล็อตผลิตมาแล้วครึ่งปีหรือข้ามปี บางส่วนมีเชื้อรา และเน่าเสีย ซึ่งไม่ควรนำมาบริโภค เพราะส่งผลกระทบต่อสุขอนามัยและความปลอดภัยของผู้บริโภคโดยตรง ที่สำคัญประเทศผู้ผลิตต้นทางไม่เข้มงวดกับสารตกค้างในเนื้อสัตว์ ทั้งสารเร่งเนื้อแดงและยาปฏิชีวนะ
ขณะเดียวกัน ภาคผู้เลี้ยงซึ่งถือเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากเรื่องนี้ ต้องวิตกกังวลกับการเข้ามาของหมูเถื่อน ที่มาแย่งตลาดและแข่งราคากับหมูในประเทศ ทำให้เกษตรกรที่กำลังฟื้นตัวจากภาวะโรคและการชะลอการเลี้ยงไปก่อนหน้านี้ต้องเสียกำลังใจ เพราะต้นทุนการเลี้ยงก็สูงอยู่แล้ว ยังต้องต่อสู้กับโรคระบาด แต่กลับมาเจอปัญหาหมูเถื่อนเป็นวิกฤติซ้อนวิกฤติอีก ผู้เลี้ยงที่อยากกลับมาเลี้ยงจึงไม่กล้าลงทุน ที่สำคัญเกษตรกรต้องหวาดหวั่นว่าจะได้รับโรคต่างถิ่น รวมถึงเสี่ยงกับโรค ASF ที่มากับหมูเหล่านี้
ภาครัฐ อย่ามัวแต่กำกฎหมายไว้ในมือให้เหงื่อออกแล้ววางลง แต่ต้องใช้ให้ถูกที่ถูกทาง ทั้ง พรบ.ป้องกันการทารุณกรรมและการจัดสวัสดิภาพสัตว์ พ.ศ.2557, พรบ.โรคระบาดสัตว์ พ.ศ.2558, พรบ.ควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ พ.ศ.2558, พรบ.ควบคุมการฆ่าเพื่อจำหน่ายเนื้อสัตว์ พ.ศ.2559 และระเบียบอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นต้องเร่งดำเนินการทันที เพราะยิ่งปล่อยปละละเลยไม่เด็ดขาด ต้อน “หมูเถื่อน” ไม่จนมุมเสียที ก็รังแต่จะทำให้ขบวนการนี้คิดหาวิธีใหม่ๆที่ใช้หลบเลี่ยงการจับกุมไปได้เรื่อยๆ ถึงเวลานั้นหมูเถื่อนเคลือบพิษร้ายจะกระจายไปทั่วไทยและกัดกินชาติได้อย่างแน่นอน
หลังจากนี้ก็เหลือเพียงความร่วมมือของทุกภาคส่วน ที่ต้องเร่งจัดการให้ถึงที่สุด สาวไปให้ถึงตัวการใหญ่ของกลุ่มผู้ไม่หวังดีที่จ้องทำลายชาติ เพื่อปกป้องเศรษฐกิจไทยที่ต้องถูกกัดกินจากขบวนการนำเข้าหมูเถื่อน ก่อนที่ทั้งเศรษฐกิจ สุขภาพ ความมั่นคงอาหาร และอาชีพคนไทยจะถูกทำลายไปในที่สุด
*โดย ปริวรรธน์ โพธนาม นักวิชาการด้านปศุสัตว์