มันนิกซ์ บริษัทฟินเทคสตาร์ทอัปร่วมทุนระหว่างประเทศของ SCB X และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน จับมือ ADVANCE.AI ผู้ให้บริการเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) จากประเทศสิงคโปร์ นำนวัตกรรมพิสูจน์ตัวตนของผู้ใช้แบบอิเล็กทรอนิกส์ (e-KYC) ภายใน 60 วินาที หวังช่วยลดความเหลื่อมล้ำการเข้าไม่ถึงบริการทางการเงินและยกระดับประสบการณ์การใช้สินเชื่อดิจิทัลผ่านแอปฟินนิกซ์
“เราอยากให้ลูกค้ามั่นใจว่าข้อมูลที่ให้เรามานั้นปลอดภัย ความน่าเชื่อถือของผลิตภัณฑ์และบริษัทเป็นเรื่องสำคัญมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มลูกค้าที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในระบบ ดังนั้น เทคโนโลยีการบริการยืนยันตัวตนแบบอิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้เราให้บริการกลุ่มผู้ที่เข้าไม่ถึงการเงินได้ โดยเป็นไปตามข้อกำหนดด้านการใช้เทคโนโลยีชีวมิติ (Biometric Technology) ได้เป็นอย่างดี” นางสาวอาชีกล่าว
“ความน่าเชื่อถือเป็นสิ่งสำคัญมากในอุตสาหกรรมฟินเทค สำหรับเราในบทบาทขององค์กร การยืนยันและพิสูจน์ตัวตนเป็นสิ่งสำคัญ จึงต้องมั่นใจได้ว่าเรามีเทคโนโลยีที่เหมาะสมจริงๆ และทำให้ลูกค้าไว้วางใจที่จะให้ข้อมูลส่วนตัวกับเราด้วย” นางสาวชลินี บุญส่งทรัพย์ Product Owner บริษัท มันนิกซ์ จำกัด กล่าวเสริม
บริษัท มันนิกซ์ จำกัด (MONIX) ก่อตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2563 เป็นบริษัทร่วมทุนของกลุ่มธุรกิจทางการเงิน SCB X และ Abakus Group ฟินเทคยูนิคอร์นจากประเทศจีน ด้วยการผสมผสานระหว่างนวัตกรรม เทคโนโลยี และองค์ความรู้ด้านผู้ใช้งานของทั้งสองกลุ่มธุรกิจ เพื่อนำเสนอผลิตภัณฑ์ที่จะช่วยแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการเงิน ที่ผลิตภัณฑ์ทางการเงินรูปแบบเดิมยังไม่สามารถทำได้ผ่านแอปพลิเคชันฟินนิกซ์ (FINNIX)
แอปพลิเคชันฟินนิกซ์เป็นบริการที่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย ให้บริการสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ผ่านช่องทางดิจิทัล 100% ตลอด 24 ชั่วโมง ตั้งแต่การขอสินเชื่อจนถึงการอนุมัติสินเชื่อและเบิกถอน สร้างโอกาสให้ผู้มีรายได้น้อยที่เคยถูกธนาคารหรือสถาบันการเงินปฏิเสธมาก่อนสามารถสมัครขอสินเชื่อได้อย่างง่ายดายภายใน 5 นาที ปัจจุบันแอปพลิเคชันฟินนิกซ์มียอดดาวน์โหลดมากกว่า 7.5 ล้านครั้ง และมีคะแนนรีวิวแอปเฉลี่ยอยู่ที่ 4.5 จาก 5 ในกูเกิลเพลย์และแอปเปิลแอปสโตร์ โดยปัจจุบันมียอดปล่อยสินเชื่อไปแล้วกว่า 1 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ จากข้อมูลของ Macquarie กลุ่มบริษัทการเงินระดับโลกระบุว่า ประเทศไทยมีประชากรวัยทำงานที่ไม่สามารถเข้าถึงการบริการทางการเงินของธนาคารสูงถึง 63% ซึ่งรวมถึงผู้บริโภคที่มีรายได้น้อยหรือธุรกิจขนาดเล็กไปจนถึงขนาดกลางที่เข้าไม่ถึงผลิตภัณฑ์ของธนาคาร
ข้อมูลนี้สอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนขององค์การสหประชาชาติ (SDGs) ที่มุ่งส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เท่าเทียมและเป็นธรรม เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางการเงินในประเทศ เรื่องนี้อยู่จัดอยู่ในเป้าหมายลำดับที่ 8 จาก 17 เป้าหมายขององค์การฯ นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเป้าหมายของรัฐบาลไทยที่มุ่งพัฒนาให้คนไทยกว่า 30 ล้านคนสามารถเข้าถึงระบบธนาคารและบริการภาคการเงินผ่านเทคโนโลยีดิจิทัลสมัยใหม่