APEC 2022 Thailand เปิดโอกาสธุรกิจ เอสซีจีพบ 3 ผู้นำประเทศที่มาร่วมประชุม สานความสัมพันธ์ เจรจาการค้า การลงทุน หนุนเศรษฐกิจให้แข็งแกร่ง

เอสซีจี เข้าพบ 3 ผู้นำประเทศ ในโอกาสที่เยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ เข้าร่วมการประชุม APEC 2022 Thailand ได้แก่ นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม นายเฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand R. Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ และนายฮัน ด็อก-ซู (Han Duck-soo) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี สานความสัมพันธ์อันดีระหว่างกัน และเจรจาความร่วมมือด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้แข็งแกร่งยิ่งขึ้น

นายรุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี กล่าวว่า “การประชุม APEC 2022 ประเทศไทยครั้งนี้ เป็นเวทีสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก มีส่วนสำคัญทำให้การค้า การลงทุน และเศรษฐกิจของภูมิภาคฟื้นตัว ทั้งยังเป็นโอกาสอันดีที่ภาคธุรกิจได้มีโอกาสเข้าพบผู้นำประเทศต่างๆ เพื่อกระชับความสัมพันธ์ให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น นำไปสู่การเจรจาความร่วมมือด้านธุรกิจ การค้า การลงทุน เพิ่มศักยภาพเศรษฐกิจของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้แข็งแกร่งมากขึ้น สอดคล้องกับแนวคิดของ APEC 2022 ประเทศไทย” เปิดกว้าง สร้างสัมพันธ์ เชื่อมโยงกันสู่สมดุล” (Open. Connect. Balance.)”

เอสซีจีมีโอกาสเข้าพบ 3 ผู้นำประเทศที่มาเยือนประเทศไทยอย่างเป็นทางการ ได้แก่ นายเหวียน ซวน ฟุก (Nguyen Xuan Phuc) ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เพื่อหารือการลงทุนของเอสซีจี อาทิ โครงการลองเซิน ปิโตรเคมิคอลส์ (Long Son Petrochemicals – LSP) ที่มีการดำเนินงานอย่างเข้มงวดตามมาตรฐานความปลอดภัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมระดับโลก โดยจะเริ่มดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงต้นปี 2566 ซึ่งมีส่วนสนับสนุนการเติบโตทางเศรษฐกิจของเวียดนามอย่างยั่งยืน

เอสซีจียังได้เข้าพบ นายเฟอร์ดินานด์ โรมูอัลเดซ มาร์กอส จูเนียร์ (Ferdinand R. Marcos Jr.) ประธานาธิบดีฟิลิปปินส์ เพื่อหารือถึงการดำเนินงานที่เอสซีจีได้เข้าไปลงทุนแล้ว ตลอดจนแผนการขยายโครงการลงทุนในอนาคตเพื่อเสริมสร้างโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศ นอกจากนั้นเอสซีจียังมีโอกาสเข้าพบ นายฮัน ด็อก-ซู (Han Duck-soo) นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐเกาหลี ซึ่งเป็นประเทศที่มีศักยภาพสูงด้านนวัตกรรม โดยได้เจรจาเกี่ยวกับโอกาสการเข้าไปลงทุนเกี่ยวกับเทคโนโลยี ดิจิทัล นวัตกรรมด้านพลังงาน อาทิ โซลูชันพลังงานสะอาด พลังงานแสงอาทิตย์ นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้า และการสร้างเครือข่ายความร่วมมือระหว่างผู้ประกอบการภาคธุรกิจ

การประชุม APEC 2022 ประเทศไทย นอกจากจะเป็นการกระชับความสัมพันธ์ของเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกให้แนบแน่นยิ่งขึ้นแล้ว ยังเกิดความร่วมมือในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของภาครัฐ ภาคธุรกิจเอกชน และภาคส่วนอื่นๆ นำมาซึ่งการจ้างงาน สร้างรายได้ ช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของโลกหลังวิกฤตโควิด-19 เนื่องจากเขตเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิกมีประชากรรวมกว่า 2,900 ล้านคน หรือประมาณ 1 ใน 3 ของโลก และมีผลิตภัณฑ์มวลรวม (GDP) รวมกันกว่า 53 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือประมาณ 1,700 ล้านล้านบาท เกินครึ่งของ GDP โลก และมีมูลค่าการค้ารวมกันเกือบครึ่งหนึ่งของการค้าโลก