“สมาคมสถาปนิกสยาม” โชว์ศักยภาพพร้อมเดินหน้าจัดงาน “สถาปนิก’66” ภายใต้แนวคิดสุดล้ำ “ตำถาด: Time of Togetherness” เปิดมหกรรมถ่ายทอดแนวความคิดและสถาปัตยกรรมรสนัว!

สมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ นำโดย คุณชนะ สัมพลัง นายกสมาคมสถาปนิกสยามฯ จัดงานแถลงข่าว “งานสถาปนิก’66 (Architect’23) ภายใต้แนวคิด ตำถาด : Time of Togetherness” ร่วมพูดคุยถึงแนวคิด ความเป็นมาของคอนเซปต์ “ตำถาด” และไฮไลต์กิจกรรมต่างๆ ของการจัดงานในปีนี้ ณ C asean Samyan CO-OP, ชั้น 2 ศูนย์การค้าสามย่านมิตรทาวน์ เมื่อวันศุกร์ที่ 20 มกราคม 2566

งานสถาปนิก’66 ในปี 2023 นี้ ถูกจัดขึ้นภายใต้แนวคิด ตำถาด : Time of Togetherness” การจัดงานที่แสดงถึงอัตลักษณ์ทางวัฒนธรรมและสังคมของคนไทย ซึ่งคือ วัฒนธรรมด้านอาหาร เมื่อเราพบปะสังสรรค์กันคนไทยจะรับประทานอาหารร่วมกัน แม้ว่า มรดกทางวัฒนธรรมและความชื่นชอบทางด้านอาหารไทยจะมี ความหลากหลาย แต่อาหารไทยที่คนไทยและผู้คนทั่วโลกชื่นชอบมากที่สุดอย่างไม่ต้องสงสัย คือ ส้มตำ นั่นเอง ก็เปรียบเสมือนกับการจัดงานในปีนี้ ที่เป็นครั้งแรกของการผสมผสานรสชาติจากสถาปนิกทุกแขนงในการรวมตัวกันขององค์กรวิชาชีพทั้ง 5 นำโดย คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานจัดงานจากสมาคมสถาปนิกสยามในพระบรมราชูปถัมภ์ คุณธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ประธานร่วมจากสมาคมมัณฑนากร แห่งประเทศไทย คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี ประธานร่วมจากสมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานร่วมจากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย และ คุณประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก ที่จะมาเล่าเรื่องราวความพิเศษที่จะเกิดขึ้นในงาน

คุณปุยฝ้าย คุณาวัฒน์ ประธานจัดงานจากสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ กล่าวถึงการจัดงานครั้งนี้ว่า “การจัดงานครั้งนี้นับเป็นครั้งที่ 35 วัตถุประสงค์ของการจัดงานเพื่อนำเสนอผลงานความก้าวหน้าทางสถาปัตยกรรม สร้างความตระหนักรู้ถึงบทบาทวิชาชีพสถาปนิกที่มีต่อสังคม ผ่านนิทรรศการและกิจกรรมมากมาย โดยความพิเศษของสถาปนิก’66 ที่จะจัดขึ้นในปี 2023 คือมีการรวมตัวกันของ 5 องค์กรวิชาชีพ เนื้อหาและกิจกรรมที่ถูกจัดขึ้น จึงมีหลากหลายมิติ ทำให้เกิดการเชื่อมต่อและมองเห็นภาพรวมของวิชาชีพสถาปัตยกรรมได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น ซึ่งถือเป็นประโยชน์มากๆ สำหรับนักเรียน นักศึกษา และประชาชนคนทั่วไป โดยเรามีกิจกรรมใหม่ที่เป็นไฮไลต์ของงานคือ ‘Human Library’ ที่เปิดโอกาสให้ผู้มีประสบการณ์มาถ่ายทอดเรื่องราว ในบรรยากาศแบบงานสังสรรค์ ให้มาเจอกันในงาน น่าจะมีปฏิสัมพันธ์เกิดขึ้นแล้วมีประโยชน์ทางวิชาชีพดีกว่า”

คุณธีรานุช กรรณสูต วงศ์ไวศยวรรณ ประธานร่วมจากสมาคมมัณฑนากรแห่งประเทศไทย กล่าวว่า “ในส่วนของ TIDA ผู้ที่ได้มีโอกาสไปเดินงานสถาปนิกเมื่อกว่า 10 ปีที่แล้ว อาจคุ้นชื่อกับ TIDA จากการจัดแสดง ‘TIDA Salone’ มันคือ Designer Showcase ระหว่าง ดีไซเนอร์กับซัพพลายเออร์วัสดุหนึ่งชนิด และผู้รับเหมาอีกหนึ่งราย ทำห้องต่างๆ ขึ้นมา ซึ่ง TIDA Salone จะกลับมาอีกแน่นอนในงานสถาปนิก’66 และครั้งนี้เราคงทำอะไรที่แตกต่างออกไป แต่เกี่ยวข้องกับคอนเซปต์ “ตำถาด” ซึ่งหวังว่าจะเป็นที่ชื่นชอบของผู้มาเยี่ยมชมเช่นเดิม นอกจากนี้ยังจะได้รับชมผลงานจากการประกวด TIDA Thesis Awards และ TIDA Awards ซึ่งเราจะนำมาแสดงในงานครั้งนี้  นอกจากนี้สำหรับคนทั่วไป TIDA ยังมีกิจกรรม TIDA Talk ให้ผู้ที่สนใจได้ฟังเรื่องผลงานการออกแบบภายใน เรื่องมุมมองหรือวิธีดำเนินการที่น่าสนใจ ในโซน TIDA SOCIETY มี Seminar ทางวิชาการสำหรับนักออกแบบที่เป็นประเด็นเฉพาะ และยังมี TIDA Lounge พื้นที่ส่วนบริการให้นั่งพักเหนื่อยและบริการไอติมแท่งรวมมิตร รวมถึงส่วนจัดจำหน่ายของที่ระลึกเพื่อให้มีอะไรติดไม้ติดมือกลับบ้านกันไปอีกด้วย”

คุณมังกร ชัยเจริญไมตรี ประธานร่วมจาก สมาคมภูมิสถาปนิกประเทศไทย กล่าวว่า “ถ้าถามว่าในงานสถาปนิก’66 TALA จะเป็นอะไรในถาด เราพยายามที่จะกลับไปอยู่กับธรรมชาติ ให้มีการแทรกสีเขียวสีฟ้าหรือระบบน้ำกับระบบต้นไม้ เราเป็นผักพวกนี้ที่เสียบอยู่ตามที่ต่าง ๆ เป็นตัวกลางที่จะดึงอะไร ๆ เข้ามา เป็นผักแกล้ม ที่ประดับอยู่ข้างจานแต่ผักเป็นอาหารที่มีประโยชน์ และทำให้ร่างกายเราแข็งแรง เมืองก็เหมือนกัน ในงานสถาปนิก’66 นี้ TALA เตรียมพื้นที่ “TALA CLASSROOM” ให้นั่งคุย นั่งเล่น นั่งฟัง ในรูปแบบอารีน่า ที่นำเสนอประเด็นเกี่ยวกับภูมิสถาปนิก ด้วยความตื่นเต้น เราก็อยากใส่เยอะ คอนเซ็ปต์ของเราคืออยากให้มัน flexible ที่สุดสำหรับกิจกรรมต่าง ๆ เลยเป็นอารีน่าที่คนนั่งอยู่รอบ ๆ ก็สามารถได้อะไรด้วยไม่ใช่ลักษณะกระดานมีสูตรคำนวณนอกจากนี้ยังมีกิจกรรม  สนุก ๆ อย่างการจัดสวนถาด อยากให้ส่วนของพื้นที่สมาคมฯ เป็นเหมือน Pocket park ในหมู่บ้าน ให้ทุกคนเดินเมื่อย ๆ มานั่งพักได้ ถึงเวลาเราจะมี Symposium กรอกหูเอง”

ผศ.คมกริช ธนะเพทย์ ประธานร่วม จากสมาคมสถาปนิกผังเมืองไทย กล่าวว่า “พื้นที่การจัดแสดงของ TUDA ในงานสถาปนิก’66 มีประเด็นหลัก ๆ ที่ต้องการเล่าคือการพัฒนาเมือง ทั้งในแง่ปัญหาและโอกาสในการแก้ไขพัฒนา ปัญหาที่คุ้นเคยกันเรื่องน้ำเรื่องสิ่งแวดล้อมเราก็ทำให้มันชัดเจนขึ้น โดยในงานครั้งนี้เราจะมี โซน TUDA ZEB (แซบ) การจัดแสดงผลงานวิทยานิพนธ์และผลงานออกแบบและการศึกษาวิจัยจาก สถาบันการศึกษา โซน TUDA X Muang (เมือง) การจัดแสดงผลงานการประกวดแบบเมืองพัทยา และเมืองอื่นๆ ที่ TUDA ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดกิจกรรมการพัฒนาเมือง โซน TUDA X Mhu (หมู่) หรือ TUDA and Friends การจัดแสดงงานของหน่วยงาน บริษัทที่มีผลงานโดดเด่น ด้านการออกแบบและพัฒนาเมือง โซน TUDA Khak (คัก) โชว์เคส  โชว์คัก ผลงานการออกแบบเมือง ที่เป็นผลงานของสมาชิก TUDA และ โซน TUDA Muan (ม่วน) พื้นที่ให้สมาชิกได้พัก นั่งพูดคุย และจัดเสวนากัน”

คุณประภากร วทานยกุล นายกสภาสถาปนิก กล่าวว่า “หัวใจสำคัญของ ACT FORUM ภายในงานสถาปนิก’66 ครั้งนี้ คือต้องการให้สถาปนิกทุกสาขาและประชาชนทั่วไปเข้าใจถึงวิชาชีพของเรามากขึ้นทั้ง 4 สาขา ทั้งสถาปัตยกรรมหลัก, สถาปัตยกรรมผังเมือง, ภูมิสถาปัตยกรรม, สถาปัตยกรรมภายในและมัณฑนศิลป์ ในการทำงานร่วมกันในลักษณะการ Collaboration”ซึ่งหนึ่งในวิธีคิดเรื่องหัวข้อที่จะใช้พูดคุยในงานสัมมนา จะตั้งต้นจากโปรเจกต์ที่คาดว่ามีคนสนใจก่อนหรืออาจเป็นเรื่องที่กำลังเป็นประเด็นสังคม โดยสภาสถาปนิกได้เชิญวิทยากรต่างชาติและวิทยากรไทยจากสาขาวิชาชีพ มาแบ่งปันประสบการณ์ด้านการออกแบบ เพื่อสร้างมุมมองแนวคิดและแนวทางการทำงานร่วมกันกับวิชาชีพที่เกี่ยวข้องที่หลากหลาย นอกจากนี้ ภายในงานเราจะมีการบริการสมาชิกโดยให้คำปรึกษา ให้ข้อมูลและบริการสมาชิก ประกอบด้วย สมัครสมาชิก, ต่ออายุใบอนุญาตฯ, งานหนังสือรับรอง 39 ทวิ / ภาคีพิเศษ , งานเลื่อนระดับ,  งานรับรองปริญญา ,งานกฎหมายและจรรยาบรรณ สถาปนิกอาสาที่คอยให้คำปรึกษาปัญหาเรื่องงานออกแบบ และการจำหน่ายของที่ระลึกของสภาสถาปนิกอีกด้วย”

ด้าน คุณศุภแมน มรรคา รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ทีทีเอฟ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ในฐานะออแกไนเซอร์จัดงาน เปิดเผยข้อมูลเกี่ยวกับพื้นที่จัดเเสดงสินค้าภายในงานว่า  “ปีนี้คาดว่าจะกลับมาจัดงานได้อย่างยิ่งใหญ่เต็มพื้นที่ 75,000 ตารางเมตร เหมือนก่อนสถานการณ์โควิด-19 ระบาดอย่างแน่นอน ซึ่งตอนนี้มีผู้แสดงสินค้าตอบรับเข้าร่วมงานแล้วกว่า 750 ราย โดยคิดสัดส่วนเป็นผู้แสดงสินค้าจากต่างประเทศกว่า 20% อาทิ ออสเตรเลีย จีน ฟินแลนด์ เยอรมัน อินเดีย อิตาลี ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มาเลเซีย สิงคโปร์ ไต้หวัน และสหรัฐอเมริกา โดยคาดว่าตลอดการจัดงานทั้ง 6 วัน จะมีผู้เข้าชมงานไม่ต่ำกว่า 300,000 คน นอกจากนี้ อีกหนึ่งไฮไลท์ของงานสถาปนิก’66 ทุกท่านจะได้พบกับ Thematic Pavilion พื้นที่จัดแสดงสินค้าในรูปแบบพิเศษที่เน้นการนำศักยภาพของนวัตกรรมวัสดุก่อสร้างมาออกแบบผ่านมุมมองของสถาปนิก พร้อมสร้างประสบการณ์ทางสถาปัตยกรรมใหม่ ๆ เช่นเดียวกับพาวิลเลียนในงานระดับโลก ซึ่งเราได้เตรียมไว้ทั้งหมด 4 พื้นที่กระจายอยู่ทั่วพื้นที่การจัดงาน สำหรับงานสถาปนิกถือเป็นงานเดียวที่มีการรวมตัวของคนในวงการออกแบบและก่อสร้างไว้มากที่สุดระดับอาเซียน จึงอยากขอเรียนเชิญทุกท่านให้ไปร่วมสัมผัสประสบการณ์อันยิ่งใหญ่ในงานครั้งนี้”

แล้วมาพบกับมหกรรมถ่ายทอดแนวความคิดและสถาปัตยกรรมรสนัวได้ใน งานสถาปนิก’66 (Architect’23) จะจัดขึ้นในวันที่ 25-30 เมษายน 2566 ณ ชาเลนเจอร์ ฮอลล์ อิมแพ็ค เมืองทองธานี และสามารถติดตามข่าวสารความเคลื่อนไหวและข้อมูลเพิ่มเติมได้ทาง FB Page : งานสถาปนิก : ASA Expo Website: www.asaexpo.org

Architect'23ASAงานสถาปนิก’66ตำถาด: Time of Togethernessสมาคมสถาปนิกสยาม
Comments (0)
Add Comment