ทีเส็บเดินหน้าแผนปฏิบัติการ 5 ปี (2566-2570) ภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go พร้อมผลักดันแคมเปญ Thailand MICE to Meet You Year 2023 กระตุ้นเศรษฐกิจและขับเคลื่อนประเทศไทยสู่จุดหมายปลายทางไมซ์ระดับโลก ด้วยนวัตกรรมและการสร้างความยั่งยืนร่วมกัน รองรับการเดินทางทั่วโลกที่กลับมาคึกคักอีกครั้ง
นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ ทีเส็บ เปิดเผยว่า “อุตสาหกรรมไมซ์ทั่วโลกมีแนวโน้มที่ดีในการฟื้นตัวกลับมาหลังจากที่ประเทศต่าง ๆ เริ่มลดข้อจำกัดในการเดินทางเข้า-ออกประเทศมากขึ้น ทีเส็บมีแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี พ.ศ. 2566-2570 ที่ให้การสนับสนุนและส่งเสริมอุตสาหกรรมไมซ์ ภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go ด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นพันธมิตรเพื่อความสำเร็จของธุรกิจ ขับเคลื่อนประเทศไทยให้เป็นจุดหมายปลายทางไมซ์ด้วยนวัตกรรมและสร้างความยั่งยืนร่วมกัน พร้อมกับผลักดันแคมเปญปีแห่งการจัดประชุมและนิทรรศการ 2566 หรือ Thailand MICE to Meet You Year 2023 เร่งกระตุ้นการจัดงาน สร้างรายได้กระจายสู่ภูมิภาคต่าง ๆ ฟื้นฟูเศรษฐกิจทั่วประเทศ”
แผนปฏิบัติการภายใต้ยุทธศาสตร์ TCEB Go จะสามารถขับเคลื่อนอุตสาหกรรมไมซ์และผลักดันประเทศไทยเป็นจุดหมายปลายทางของไมซ์โลก ซึ่งจะดำเนินการตามยุทธศาสตร์ใน 5 ด้าน ประกอบด้วย
T: Thailand As Global MICE Leader มุ่งผลักดันให้ประเทศไทยเป็นผู้นำในการจัดกิจกรรมไมซ์ระดับโลก เพื่อเพิ่มรายได้และขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศ พร้อมสร้างพันธมิตรและสร้างโอกาสทางธุรกิจ ด้วยการดึงงานระดับนานาชาติเข้ามาจัดในประเทศไทยอย่างงานมหกรรมพืชสวนโลกอุดรธานี พ.ศ. 2569 รวมถึงการประมูลสิทธิ์ดึงงานภายใต้โครงการ One Ministry, One Convention ซึ่งเป็นความร่วมมือกับหน่วยงานภาครัฐที่เป็นเจ้าภาพ โดยร่วมกับกระทรวงการคลังดึงงาน Annual Meetings of the International Monetary Fund และ งาน World Bank Group 2026 การประมูลสิทธิ์การเป็นเจ้าภาพจัดงานมหกรรมพืชสวนโลกนครราชสีมา พ.ศ. 2572 และการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน Expo 2028 Phuket Thailand นอกจากนั้นยังวางแผนการขยายฐานตลาดใหม่ในตลาดอิสราเอลและตะวันออกกลาง เช่น ยูเออี ตลาดเอเชียกลาง เช่น คาซัคสถาน ควบคู่ไปกับการรักษาตลาดเดิมที่เป็นตลาดหลักในเอเชียแปซิฟิก เช่น ตลาด CLMV อินเดีย มาเลเซีย อินโดนีเซีย เกาหลี ญี่ปุ่น และจีน รองลงมาคือ ตลาดอเมริกาเหนือ และยุโรป
C: Create Destination Competitiveness Through Diverse Local Identity ยกระดับศักยภาพการรองรับกิจกรรมไมซ์ในแต่ละพื้นที่ ด้วยการสร้างความหลากหลายของอัตลักษณ์ในพื้นที่และประสบการณ์ที่มีคุณค่า ผ่านการพัฒนาและส่งเสริมความร่วมมือกับชุมชน ตลอดจนเครือข่ายในท้องถิ่น อาทิ การพัฒนาเส้นทางสายไมซ์ในแต่ละจังหวัด การพัฒนา Product MICE Premium ที่นำสินค้าและบริการท้องถิ่นมาพัฒนาเป็นสินค้าสำหรับอุตสาหกรรมไมซ์ อาทิ ของที่ระลึก ของว่าง หรือของฝาก และการทำการตลาดเชิงพื้นที่เพื่อค้นหาอัตลักษณ์ของเมือง (City DNA) แล้วพัฒนาให้เป็นจุดขายที่น่าจดจำ รวมถึงการผลักดันงานเทศกาลสำคัญประจำท้องถิ่นให้เป็นงานเด่นระดับประเทศและระดับนานาชาติ อาทิ งานประเพณีถือศีลกินผัก จ.ภูเก็ต งานไหมนานาชาติ จ.ขอนแก่น เพื่อกระจายการเติบโตของจุดหมายปลายทางไมซ์ให้หลากหลายและครอบคลุมทั่วประเทศยิ่งขึ้น
E: Execute Innovative MICE Solution การส่งเสริมพัฒนาทักษะด้านดิจิทัลและนวัตกรรมด้านการบริการไมซ์ เพื่อยกระดับขีดความสามารถทางการแข่งขันของไมซ์ไทยบนเวทีโลก โดยมุ่งพัฒนาศูนย์กลางข้อมูล MICE Intelligence Center ให้เป็นศูนย์กลางข้อมูลอุตสาหกรรมไมซ์ของประเทศสำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจได้นำไปใช้เพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน การพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิทัล Thailand MICE One Stop Service เพื่ออำนวยความสะดวกด้านโลจิสติกส์ไมซ์ และการดำเนินโครงการ MICE Winnovation อย่างต่อเนื่องที่จะมีการเปิดตัวปีที่ 3 วันที่ 31 มีนาคมนี้ เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการไมซ์ในการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการจัดงานและแก้ปัญหาจริง สามารถตอบโจทย์ความต้องการทั้งในส่วนของผู้จัดงาน ผู้ร่วมงาน และสถานที่จัดงาน ครบวงจรในธุรกิจไมซ์
B: Build Agile and High Performance Organization มุ่งสู่การเป็นองค์การสมรรถนะสูงที่คล่องตัวและทันโลกโดยเพิ่มประสิทธิภาพการดำเนินงานขององค์การด้วยกลยุทธ์ AAA คือ การเชื่อมโยงกระบวนการทำงาน (Alignment) การเพิ่มความคล่องตัวในการทำงาน (Agile) และ การทำงานเชิงโครงการแบบบูรณาการข้ามฝ่ายงาน (Agenda-Based) รวมถึงการพัฒนาสมรรถนะบุคลากร (Competency) สร้างศักยภาพบุคลากร ที่เน้นทั้งด้านการพัฒนาประสิทธิภาพการทำงาน และการพัฒนาด้านจิตใจควบคู่ไปกับการมีวัฒนธรรมองค์กรที่มีคุณธรรม จริยธรรม เพื่อให้ทีเส็บเป็นองค์กรที่สร้างสมดุลย์ในสภาพแวดล้อมการทำงานและเสริมสร้างศักยภาพของบุคลากรได้อย่างยั่งยืน
Go: Go for MICE Sustainability พลิกโฉมไมซ์ไทยด้วยความยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันให้จุดหมายปลายทางไมซ์ได้รับการรับรองมาตรฐานด้านความยั่งยืนในระดับนานาชาติ Global Destination Sustainability Index และผลักดันให้องค์กรที่เกี่ยวข้องกับการจัดงานไมซ์ผ่านการรับรองมาตรฐาน ISO 20121 การจัดการและบริหารธุรกิจอีเวนต์อย่างยั่งยืน รวมถึงการพัฒนาระบบคำนวณคาร์บอนฟุตพริ้นท์ และการสนับสนุนการจัดงานแบบคาร์บอนเป็นกลาง (Carbon Neutral Event) พร้อมผลักดันให้ผู้จัดงานและผู้ประกอบการไมซ์ผ่านการรับรองการบริหารการจัดงานอย่างยั่งยืน หรือ Thailand Sustainable Event Management Standard (TSEMS) เพิ่มเติมอีก 450 องค์กรทั่วประเทศ นอกจากนี้ทีเส็บได้รับการรับรองเป็นองค์กรที่มีหน้าที่รับรองสมรรถนะของบุคคลตามมาตรฐานอาชีพ ในสาขาวิชาชีพการจัดประชุมนิทรรศการใน 5 สาขา ได้แก่ อาชีพการจัดการการเดินทางเพื่อเป็นรางวัล อาชีพการจัดการการจัดประชุม อาชีพการจัดการงานแสดงสินค้าและนิทรรศการ อาชีพการจัดการงานอีเวนต์ และอาชีพการจัดการสถานที่จัดงาน โดยมีเป้าหมายดำเนินการทดสอบและรับรองมาตรฐานบุคลากรในอาชีพไมซ์ภายใน 5 ปี จำนวน 500 ราย ซึ่งจะก่อให้เกิดความยั่งยืนในการพัฒนาบุคลากรในอุตสาหกรรมไมซ์ไทย
อีกทั้งยังเดินหน้าสานต่อการจัดงาน MICE DAY หรือวันจัดประชุมและนิทรรศการแห่งชาติ ในวันที่ 26 เมษายนนี้ เพื่อให้เห็นถึงความสำคัญของอุตสาหกรรมไมซ์ที่มีต่อการพัฒนาประเทศมาอย่างยาวนานนับตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน โดยภายในงานได้รับเกียรติจากผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีและความยั่งยืนมาร่วมแชร์ประสบการณ์และองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์ต่อธุรกิจไมซ์ ซึ่งจะมีผู้เข้าร่วมงานจากแวดวงอุตสาหกรรมไมซ์กว่า 400 คน
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมไมซ์ไทยในไตรมาสแรกของปีงบประมาณ 2566 (ตุลาคม ถึง ธันวาคม 2565) มีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมทั้งสิ้น 7,934,099 คน สร้างรายได้ 28,528 ล้านบาท โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 183,618 คน สร้างรายได้ 12,028 ล้านบาท แบ่งเป็นกลุ่มงานแสดงสินค้าจำนวน 97,015 คน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ทำรายได้สูงสุด 6,876 ล้านบาท ตามมาด้วยกลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 55,687 คน รายได้ 3,238 ล้านบาท กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 17,653 คน รายได้ 1,063 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 13,263 คน รายได้ 851 ล้านบาท
ด้านนักเดินทางไมซ์ในประเทศมีจำนวนรวม 7,750,481 คน สร้างรายได้ 16,500 ล้านบาท มีกลุ่มงานแสดงสินค้าเป็นตลาดใหญ่ที่สุดจำนวน 7,308,525 คน สร้างรายได้ 14,815 ล้านบาท รองลงมาคือ กลุ่มประชุมวิชาชีพจำนวน 304,826 คน รายได้ 1,109 ล้านบาท กลุ่มประชุมองค์กรจำนวน 129,054 คน รายได้ 537 ล้านบาท และกลุ่มการเดินทางเพื่อเป็นรางวัลจำนวน 8,076 คน รายได้ 39 ล้านบาท
“ส่วนเป้าหมายการดำเนินงานตลอดปีงบประมาณ 2566 คาดการณ์ว่าจะมีนักเดินทางไมซ์รวมจำนวน 18,550,000 คน สร้างรายได้ 109,000 ล้านบาท โดยเป็นนักเดินทางไมซ์ต่างชาติ 760,000 คน รายได้ 50,000 ล้านบาท และนักเดินทางไมซ์ในประเทศ 17,790,000 คน รายได้ 59,000 ล้านบาท ในส่วนของแผนปฏิบัติการระยะ 5 ปี TCEB Go คาดการณ์ว่าตั้งแต่ปีงบประมาณ 2566-2570 จะมีจำนวนนักเดินทางไมซ์รวมกว่า 160 ล้านคน ประมาณการรายได้รวมกว่า 945,000 ล้านบาท” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย