ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานในพิธีเปิดสัมมนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) โดยมี นายปรัชญา เสริฐลือชา นายอำเภอบ้านไร่ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผศ.ดร.ชญณา ศิริภิรมย์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ซมโปะ ประกันภัย (ประเทศไทย) จํากัด (มหาชน) นายสมิทธิ ว่องไพฑูรย์ ผู้บริหารบริษัท อุตสาหกรรม น้ำตาลบ้านไร่ จำกัด นายไพฑูรย์ ฟักเขียว ผู้อำนวยการวิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี เกษตรกรผู้ปลูกอ้อย พนักงานโรงงานอุตสาหกรรมน้ำตาลบ้านไร่ สมาคมชาวไร่อ้อยอำเภอบ้านไร่ และภาคเอกชนต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมสัมมนา จำนวน 150 คน เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2566 ณ วิทยาลัยชุมชนอุทัยธานี อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี
โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย เป็นนโยบายสำคัญของสำนักงาน คปภ. ที่ดำเนินการเชิงรุกเพื่อให้ประชาชนในทุกภูมิภาคสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและมีผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่ตอบโจทย์ความต้องการอย่างแท้จริงสำหรับปีนี้ สำนักงาน คปภ. ภาค 2 (นครสวรรค์) ได้เสนอ “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (กรมธรรม์ประกันภัยอ้อย) เนื่องจากจังหวัดอุทัยธานี เป็นจังหวัดที่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำเกษตรกรรมหลากหลายชนิด โดยมีพื้นที่สำหรับการปลูกอ้อย รวมมากกว่า 3 แสนไร่ มีการเก็บเกี่ยวผลผลิตมากเป็นอันดับที่ 4 ของพื้นที่เขตภาคกลาง อีกทั้งอ้อยเป็นพืชที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจและมีการส่งออกเป็นจำนวนมาก โดยส่วนใหญ่จะนำไปแปรรูปเป็นน้ำตาล ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมของประเทศที่มีผลผลิตติด 1 ใน 5 อันดับแรกของโลก การสัมมนาครั้งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น เพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นให้เข้าถึงระบบประกันภัยโดยตรงกับความต้องการ และเพื่อให้ประชาชนในท้องถิ่นได้เข้าถึงระบบประกันภัย และสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาใช้ในการบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม
เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนหนึ่งว่า ที่ผ่านมาสำนักงาน คปภ. ได้ให้ความสำคัญกับภาคเกษตรกรรมของประเทศ เป็นอย่างยิ่ง โดยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการพัฒนากรมธรรม์ประกันภัยเพื่อการเกษตรตามแผนยุทธศาสตร์สำนักงาน คปภ. ระยะ 3 ปี (พ.ศ. 2564-2566) ผ่านการดำเนินการเป็นรูปธรรมหลายด้าน ได้แก่ การประกันภัยข้าวนาปีและการประกันภัยข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ซึ่งได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ และเอกชน ในการนำระบบประกันภัยไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำทางด้านเศรษฐกิจของประชาชน โดยเฉพาะภาคเกษตรกรรมของประเทศ ซึ่งประกันภัยอ้อยถือว่าเป็นโมเดลใหม่ของประกันภัยพืชผลทางเกษตร โดยดึงผู้ประกอบธุรกิจผลิตน้ำตาลเข้ามามีส่วนร่วมในการทำให้เกษตรกรชาวไร่อ้อยสามารถเข้าถึงประกันภัย
จากนั้นเมื่อวันที่ 24 กุมภาพันธ์ 2566 เลขาธิการ คปภ. ได้นำคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ผู้ไกล่เกลี่ยของสำนักงาน คปภ. ผู้แทนสมาคมประกันชีวิตไทย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย พร้อมด้วยผู้บริหารของบริษัทประกันชีวิต และบริษัทประกันวินาศภัย ลงพื้นที่ชุมชนบ้านผาทั่ง อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี โดยมี นายอนุชา พัสถาน ปลัดจังหวัดอุทัยธานี ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ ซึ่งเป็นการลงพื้นที่ครั้งที่ 2 ตามโครงการ คปภ. เพื่อชุมชนปี 6 เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจเชิงรุกให้กับประชาชนในชุมชน ในรูปแบบ Mobile Insurance Unit หรือศูนย์บริการประชาชนด้านการประกันภัยเคลื่อนที่แบบครบวงจร เผยแพร่ประชาสัมพันธ์บทบาทหน้าที่ของสำนักงาน คปภ. และให้ความรู้เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับชุมชน ให้ความช่วยเหลือ และรับเรื่องร้องเรียนที่เกี่ยวข้องกับการประกันภัย ผ่าน “Mobile Complaint Unit” หรือศูนย์รับเรื่องร้องเรียนและไกล่เกลี่ยข้อพิพาทด้านการประกันภัยเคลื่อนที่ รวมถึงการเข้าร่วมกิจกรรมฐานความรู้เพื่อเรียนรู้วิถีชีวิต ความเสี่ยง และวัฒนธรรมของชุมชน พร้อมมีการถ่ายทำรายการ “คปภ. เพื่อชุมชน” เพื่อเผยแพร่ทางสถานีโทรทัศน์และสื่อออนไลน์ ทำให้เกิดการเรียนรู้ด้านการประกันภัยในวงกว้าง อันจะเกิดประโยชน์ต่อการสร้างความรู้ความเข้าใจด้านประกันภัย ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีจากชาวชุมชน
นอกจากนี้ ชาวชุมชนในพื้นที่อำเภอบ้านไร่ส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำไร่อ้อยและประสบกับปัญหาภัยแล้งอยู่เนื่อง ๆ ดังนั้นการทำประกันภัยพืชผลอ้อยจากภัยแล้งโดยใช้ดัชนีน้ำฝนแล้ง (ตรวจวัดด้วยดาวเทียม) สำหรับรายย่อย (ไมโครอินชัวร์รันส์) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ตาม “โครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์” ก็สามารถช่วยบริหารความเสี่ยงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกอ้อยได้ด้วย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ.พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหา และความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีเหตุไฟไหม้ (ไฟฟ้าลัดวงจร) ภายในบ้านที่เป็นที่อยู่อาศัย ส่งผลให้ทรัพย์สินภายในห้องทำงานได้รับความเสียหาย ซึ่งสำนักงาน คปภ. จังหวัดอุทัยธานี ได้ให้การช่วยเหลือในกรณีนี้เนื่องจากมีปัญหาในการตีความเงื่อนไขกรมธรรม์ประกันภัย จนเป็นผลให้ชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม
“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนประกันภัยอ้อย รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรอย่างแท้จริง ซึ่งสามารถใช้เป็นโมเดลสร้างภูมิคุ้มกันในการประกอบอาชีพด้านการเกษตร ตลอดจนช่วยยกระดับรายได้ให้กับเกษตรกรไทยให้มีความยั่งยืน” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย