ครม.ท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศ เห็นชอบรับรองมาตรฐานสมรรถนะบุคลากรอาเซียน สาขา MICE Professionals และสาขา Event Professionals พร้อมประกาศใช้ร่วมกันทั่วอาเซียนปีนี้ เพิ่มความสามารถในการแข่งขัน และเสริมสร้างศักยภาพอุตสาหกรรมไมซ์อาเซียนให้เข้มแข็งมากขึ้น
ในการประชุม ASEAN Tourism Ministerial ครั้งที่ 26 ณ เมืองยอร์กยาการ์ต้า สาธารณรัฐอินโดนีเซีย คณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน 10 ประเทศ ได้อนุมัติรับรองมาตรฐานสมรรถนะบุคลากรอาเซียน หรือ ASEAN Mutual Recognition Arrangement on Tourism Professionals (ASEAN MRA on TP) สาขา MICE Professionals และสาขา Event Professionals ให้เป็นมาตรฐานที่พร้อมใช้ร่วมกันทั่วอาเซียน โดยเริ่มตั้งแต่ปี 2566 นี้เป็นต้นไป
ประเทศไทยโดยทีเส็บรับเป็นเจ้าภาพในการจัดทำและพัฒนามาตรฐานสมรรถนะบุคลากรอาเซียน สาขาEvent Professionals ร่วมกับหน่วยงานพันธมิตร อาทิ กรมการท่องเที่ยว กระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา สมาคมและเครือข่ายภาคการศึกษาที่มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมไมซ์ ซึ่งได้มีการนำเสนอรายงานความคืบหน้า และผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียน โดยครอบคลุม 11 ตำแหน่งงาน ประกอบด้วย 1. Project Manager 2. Production Manager 3. Show Manager 4. Event Coordinator 5. Marketing Coordinator 6. Event Registration Supervisor 7. Event Administration Supervisor 8. Event Registration Staff 9. Event Transportation Staff 10. Liaison Officer และ 11. General Support Staff
ส่วนสาขา MICE Professionals ประเทศอินโดนีเซียรับเป็นเจ้าภาพในการจัดทำและพัฒนามาตรฐานในสาขาดังกล่าว ซึ่งได้ผ่านการรับรองจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรีท่องเที่ยวอาเซียนในรอบเดียวกันนี้กับประเทศไทย โดยครอบคลุม 21 ตำแหน่งงาน
นอกจากนี้ ยังมีกำหนดจัดอบรม ASEAN Grand Master Training (Master Assessor) ให้แก่ผู้แทนจากประเทศสมาชิกอาเซียน โดยคาดว่าจะดำเนินการแล้วเสร็จภายในเดือนกันยายนปี 2567 และในปี 2568 กำหนดจัดอบรม Thailand Assessor Training ให้แก่ผู้ตรวจประเมินในอุตสาหกรรมไมซ์เพื่อเตรียมความพร้อมในการเปิดสอบรับรองมาตรฐานสมรรถนะบุคลากรอาเซียน สาขา Event Professionals ในประเทศไทย โดยตั้งเป้าหมายว่าในปี 2569 ประเทศไทยจะมีบุคลากรในสาขา Event Professionals ที่ผ่านการรับรองจำนวน 50 คน และคาดว่าทั่วประเทศสมาชิกอาเซียนจะมีบุคลากรผ่านการรับรองในสาขา MICE Professionals และ สาขา Event Professionals กว่า 1,000 คน
“ไมซ์ถือเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่มีการเจริญเติบโตอย่างต่อเนื่อง และมีส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งการมีมาตรฐานสมรรถนะบุคลากรอาเซียนทั้งในสาขา MICE Professionals และ สาขา Event Professionals จะส่งผลต่อการเปิดเสรีการค้าและบริการในภูมิภาคอาเซียนมากขึ้น เอื้อประโยชน์ให้บุคลากรด้านไมซ์สามารถไปทำงานในประเทศสมาชิกอาเซียนอื่นๆ ได้สะดวกยิ่งขึ้น เกิดการยอมรับทักษะและความสามารถของบุคลากรร่วมกันในภูมิภาค ส่งเสริมการเรียนการสอนหรือการฝึกอบรมเน้นสมรรถนะที่เป็นมาตรฐานเดียวกัน นำไปสู่การยกระดับและพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันในอุตสาหกรรมไมซ์ทั้งของประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน” นายจิรุตถ์ กล่าวทิ้งท้าย