ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดเวทีเสวนาตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ ในหัวข้อ “ปรับเปลี่ยนวิถี ไม่กินปลาดิบ วางแผนชีวิต ด้วยประกันภัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี” โดยมีนายวันชัย จันทร์พร ผู้ว่าราชการจังหวัดนครพนม ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วยวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิจากหน่วยงานเครือข่ายที่ให้ความรู้ ประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์อรรถพล ติตะปัญ หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศมะเร็งท่อน้ำดี โรงพยาบาลศรีนครินทร์ และกรรมการสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี (CARI) นางสาวดาเนตร วันทนีย์ ผู้อำนวยการกลุ่มงานกำกับผลิตภัณฑ์ประกันวินาศภัย สำนักงาน คปภ. นายไพบูลย์ ทรงแสงฤทธิ์ ผู้ป่วยโรคมะเร็งท่อน้ำดี และนายแพทย์สมบัติ แทนประเสริฐสุข ที่ปรึกษาแผนกสินไหมสุขภาพบริษัท ประกันภัยไทยวิวัฒน์ จำกัด (มหาชน) รวมทั้งมีการกิจกรรมจัดบูธประชาสัมพันธ์และส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยของสำนักงาน คปภ. กองทุนประกันชีวิต กองทุนประกันวินาศภัย กองทุนทดแทนผู้ประสบภัย สมาคมตัวแทนประกันชีวิตและที่ปรึกษาการเงิน บริษัทประกันชีวิต บริษัทประกันวินาศภัย โรงพยาบาลนครพนม มูลนิธิมะเร็งท่อน้ำดีมหาวิทยาลัยขอนแก่น หน่วยงานเครือข่าย และ OTOP จำนวน 24 แห่ง ตลอดจนการจัดกิจกรรมตรวจคัดกรองพยาธิใบไม้ตับโดยสถาบันวิจัยโรคมะเร็งท่อน้ำดี มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้แก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมภายในงาน “ฟรี” โดยมีกลุ่มเป้าหมายทั้งอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไปเข้าร่วมกิจกรรมกว่า 150 คน เมื่อวันที่ 13 มีนาคม 2566 ณ ห้องประชุมแกรนด์บอลรูม โรงแรมฟอร์จูน ริเวอร์วิว นครพนม จังหวัดนครพนม
โดยสำนักงาน คปภ.ภาค 3 (ขอนแก่น) ซึ่งรับผิดชอบกำกับดูแลพื้นที่ภาคอีสาน จำนวน 11 จังหวัด ได้สำรวจข้อมูลในพื้นที่พบว่า ประชากรในเขตภาคอีสาน มักมีพฤติกรรมการรับประทานอาหารในกลุ่มปลาน้ำจืดแบบมีเกล็ด โดยวิธีการปรุงแบบสุก ๆ ดิบ ๆ เช่น ก้อยปลา ปลาหมกไฟ ปลาร้า ที่เป็นกลุ่มปลาตะเพียน ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ทำให้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับ และหลังจากติดเชื้อประมาณ 20-30 ปี ก็จะป่วยเป็นโรคมะเร็งท่อน้ำดีและเสียชีวิตภายใน 1 ปี ประกอบกับข้อมูลของสถาบันวิจัยมะเร็งท่อน้ำดี พบว่า ประชากรในภาคอีสานมีสถิติป่วยเป็นโรคนี้สูงที่สุดในประเทศไทยและสูงที่สุดในโลก โดยคาดการณ์ว่ามีผู้ติดเชื้อพยาธิใบไม้ตับประมาณ 6 ล้านคน และในจำนวนนี้พัฒนาเป็นมะเร็งท่อน้ำดีประมาณปีละ 10,000 – 20,000 ราย โดยผู้ป่วยที่เสียชีวิตส่วนใหญ่เป็นหัวหน้าครอบครัวที่มีอยู่อายุระหว่าง 40-60 ปี นับเป็นการสูญเสียชีวิตในช่วงวัยแรงงาน ส่งผลให้เกิดปัญหาทั้งทางด้านเศรษฐกิจ สังคม และการพัฒนาประเทศตามมา
ดังนั้น สำนักงาน คปภ. จึงได้พิจารณาให้ความเห็นชอบแบบ “กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี” เพื่อนำระบบประกันภัยเข้าไปรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องมือหรือทางเลือกหนึ่งให้กับประชาชนในการบริหารความเสี่ยงในชีวิต โดยเฉพาะการประกันภัยสุขภาพที่สามารถรองรับภาระค่าใช้จ่ายที่อาจเกิดขึ้น หรือการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรด้วยโรคที่เกิดจากวิถีการใช้ชีวิตหรือวัฒนธรรมการบริโภคของประชาชน
ทั้งนี้กรมธรรม์ประกันภัยมะเร็งท่อน้ำดี ให้ความคุ้มครองผู้ทำประกันภัยที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยครั้งแรกว่าเป็นมะเร็งท่อน้ำดี โดยมีหลักฐานรายงานการตรวจวินิจฉัย X-RAY ช่องท้องด้วยคอมพิวเตอร์ (CT SCAN) หรือ รายงานการตรวจวินิจฉัยช่องท่องด้วยเครื่องแม่เหล็ก (MRI หรือ MRCT) บริษัทประกันภัยจะจ่ายเงินผลประโยชน์ให้กับผู้เอาประกันภัย ขึ้นอยู่กับวงเงินความคุ้มครองที่ซื้อไว้ อัตราเบี้ยประกันภัยที่ไม่แพง โดยจะแบ่งตามช่วงอายุผู้ทำประกันภัย
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ.พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน รวมทั้งรับฟังสภาพปัญหาและความต้องการด้านประกันภัย เพื่อนำข้อมูลไปประกอบการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยให้สามารถตอบโจทย์ความต้องการของชุมชนได้อย่างแท้จริง รวมทั้งถอดบทเรียนจากประสบการณ์จริงของชาวชุมชน กรณีประสบอุบัติเหตุรถพลิกคว่ำที่จังหวัดขอนแก่น เป็นเหตุให้เสียชีวิต ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ให้การช่วยเหลือในการอำนวยความสะดวกและประสานงานบริษัทประกันภัย จนเป็นผลให้ทายาทของชาวชุมชนรายนี้ได้รับการจ่ายค่าสินไหมทดแทนอย่างเป็นธรรม และต่อมาภายหลังสำนักงาน คปภ. ได้บูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่าผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วย ซึ่งสำนักงาน คปภ. ได้ช่วยประสานงานให้ได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการเรียบร้อยแล้ว
“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับความต้องการและความเสี่ยงของประชาชนในท้องถิ่นนั้น ๆ รวมทั้งเพื่อส่งเสริมความรู้ความเข้าใจด้านการประกันภัยให้กลุ่มเป้าหมายและประชาชนในท้องถิ่นสามารถเข้าถึงระบบประกันภัยได้ตรงกับความต้องการและสามารถนำระบบประกันภัยเข้ามาบริหารความเสี่ยงได้อย่างเหมาะสม” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย