ทุกภาคส่วนมองพรรคการเมืองขายฝันค่าแรงขั้นต่ำ หวั่นศก.พัง ย้ายฐานการผลิต พร้อมให้คำนึงถึงระบบประกันสังคม รัฐยังค้างจ่ายเงิน 5 หมื่นล้าน และไม่พอค่าครองชีพ รวมทั้งคำนึงแรงงานนอกระบบ แรงงานอิสระ สหภาพฯ ฉะ! รัฐต้องเลิกพูดค่าแรงขั้นต่ำ แต่ควรทำเป็นโครงสร้างทั้งระบบเหมือนกันทั้งแรงงานในระบบ—นอกระบบ
นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย เปิดเผยในงานสัมมนาสาธารณะในประเด็นค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทย ของหลักสูตรผู้บริหารการสื่อสารมวลชนระดับกลาง ด้านกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ หรือ บสก.รุ่นที่ 11 โดยสถาบันอิศราว่า พรรคการเมืองต่างใช้นโยบายประชานิยมในการหาเสียงด้วยการชูประเด็นด้วยการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ โดยส่วนตัวเห็นว่าเป็นนโยบายชวนเชื่อทางการตลาด แต่เชื่อว่าส่วนหนึ่งทำได้จริง เพราะการขึ้นค่าจ้างเป็นเรื่องของนายจ้าง เป็นเรื่องของภาคเอกชนที่เป็นผู้จ่าย ไม่ได้ใช้งบประมาณของพรรคการเมือง หรือ งบจากภาครัฐแต่อย่างใด โดยหากค่าจ้างที่สูงขึ้นเกินจากความเป็นจริง จะส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่ของการอุปโภคบริโภคทั้งหมด และ สุดท้ายภาระจะตกอยู่กับผู้บริโภค ทั้งนี้ ในฐานะนายจ้าง มองว่าค่าจ้างขั้นต่ำของไทยควรจะเป็นค่าจ้างที่ขึ้นเป็นอัตโนมัติ ตามอัตราเงินเฟ้อ และ ต้องไม่มีการเมืองเข้ามาแทรกแซง
นอกจากนี้อยากฝากถึงเด็กรุ่นใหม่ GEN Z ที่กำลังหางานทำสิ่งที่ต้องมีคือทักษะด้านภาษา โปรแกรมคอมพิวเตอร์พื้นฐานต้องมี บุคลิกภาพที่ดีแต่งกายที่เหมาะสมมีการเตรียมข้อมูลก่อนการสัมภาษณ์ และสุดท้ายอย่าเลือกงานเพราะแม้ว่าเงินเดือนจะน้อยในตอนต้น แต่ประสบการทำงานจะทำให้เราสามารถเพิ่มค่าตอบแทนในอนาคตได้
นายยงยุทธ แฉล้มวงษ์ ที่ปรึกษาฝ่ายการวิจัยนโยบายทรัพยากรมนุษย์ TDRI กล่าวถึงนโยบายหาเสียงของพรรคการเมือง ว่า การหาเสียงด้วยการกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ค่าจ้างไม่เป็นไปตามกลไกเศรษฐกิจ และทำให้ต้นทุนสูงการผลิตของประเทศสูงขึ้น ดังนั้นเมื่อพรรคการเมืองนำค่าจ้างมาเป็นนโยบายในการหาเสียงจะเป็นอันตรายต่อประเทศ เพราะกกต.กำหนดเอาไว้ว่า นโยบายที่พรรคการเมืองใช้หาเสียงเมื่อได้เป็นรัฐบาลแล้วจะต้องทำจริง ซึ่งจะทำให้นายจ้างได้รับผลกระทบ และจากนี้ไปมองว่ารัฐบาลไม่ได้อยู่ยาว เหมือนในอดีต ซึ่งมีความเป็นไปได้ได้ว่านโยบายค่าแรงจะเปลี่ยนทุก 2 ปี ทั้งนี้ขอฝากไปยังพรรคการเมืองว่า ควรทำให้ค่าจ้างเป็นไปตามกลไกไตรภาคี เพราะถ้ามีการแทรกแซงจะทำให้ขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศลดลง ตลาดแรงงานได้รับผลกระทบ
นางสุนทรี หัตถี เซ่งกิ่ง กรรมการสมาคมเครือข่ายแรงงานนอกระบบ (ประเทศไทย) กล่าวว่า แรงงานนอกระบบ คือ แรงงานที่ไม่ได้อยู่ในภาคการจ้างงานที่เป็นทางการ ปี 2565 คนมีงานทำทั้งสิ้น 39.6 ล้านคน ในจำนวนนี้เป็นแรงงานนอกระบบ 20.2 ล้านคนซึ่งค่าจ้างขั้นต่ำไม่คุ้มครอง ที่เห็นได้ชัดคือในช่วงสถานการณ์การระบาดของโควิด-19 กลุ่มแรงงานนอกระบบเป็นกลุ่มแรกที่ได้รับผลกระทบ ต้องลดค่าใช้จ่ายของครอบครัวและปรับตัวอย่างมาก เนื่องจากไม่มีรายได้ประจำ ไม่สามารถที่จะฝันเรื่องค่าจ้างขั้นต่ำได้ อีกทั้งบางอาชีพของแรงงานนอกระบบขึ้นอยู่กับการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก ถ้าการท่องเที่ยวยังไม่กลับมาก็ยากที่จะฟื้น แม้สถานการณ์โควิด-19 จะคลี่คลายแต่หลายอาชีพที่เป็นแรงงานนอกระบบก็ยังไม่ได้กลับมาทั้งหมด
“คำถามว่า ค่าแรงขั้นต่ำขายฝันแรงงานไทยหรือไม่ เราอยู่นอกระบบของการคิดค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ว่าจะประกาศอะไร จะเป็นฝันของใครไม่รู้ แต่ไม่ครอบคลุมแรงงานนอกระบบ ดังนั้นสิ่งที่ภาครัฐควรทำคือ การคุ้มครองค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างที่เป็นธรรม ต้องคุ้มครองถึงแรงงานนอกระบบกลุ่มที่มีผู้จ้างงานหรือนายจ้างด้วย และเป็นหน้าที่ของรัฐบาลต้องประกันรายได้กลุ่มคนเหล่านี้ ต้องมีมาตรการส่งเสริมให้มีรายได้ให้เท่าเทียมกับค่าจ้างขั้นต่ำของแรงงานในระบบ”