ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เป็นประธานเปิดโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) โดยมีนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร ให้เกียรติกล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย นายสมเกียรติ พลอยน้อย ผู้ช่วยผู้อำนวยการเขตด้านแผนและวิชาการ การยางแห่งประเทศไทยเขตภายใต้ตอนบน หัวหน้าส่วนราชการจังหวัดชุมพร หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เกษตรกรชาวสวนยาง สื่อมวลชน และผู้เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 100 คน เมื่อวันที่ 27 มีนาคม 2566 ณ โรงแรมลอฟท์ มาเนีย บูติก โฮเทล อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร
สำหรับกรมธรรม์ประกันภัยสวนยางพารา ที่นายทะเบียนได้ให้ความเห็นชอบแบบและข้อความกรมธรรม์ประกันภัยไปแล้ว มีเงื่อนไขการรับประกันภัยต้นยางช่วงอายุ 7-26 ปี โดยจะให้ความคุ้มครองภัยธรรมชาติหลัก สำหรับความเสียหายของต้นยางพาราที่ปลูกในพื้นที่เพาะปลูกที่เอาประกันภัย ซึ่งได้รับความเสียหายโดยสิ้นเชิง อันเป็นผลเนื่องจาก 1) ไฟไหม้ รวมถึงไฟไหม้ที่เกิดจากหรือเป็นผลมาจากฟ้าผ่า 2) ภัยน้ำท่วม 3) ภัยลมพายุ ซึ่งความคุ้มครองดังกล่าวจะช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือประกันภัยเพื่อบริหารความเสี่ยงต่อภัยธรรมชาติ เบี้ยประกันภัยรายปี (รวมอากรแสตมป์และภาษีมูลค่าเพิ่ม) 99 บาทต่อไร่ จำนวนเงินเอาประกันภัย 1,600 บาทต่อไร่
ด้านนายวิสาห์ พูลศิริรัตน์ ผู้ว่าราชการจังหวัดชุมพร กล่าวขอบคุณสำนักงาน คปภ. ที่ได้คัดเลือกให้จังหวัดชุมพร เป็นจังหวัดเป้าหมายของการจัดอบรมเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจตามโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ (ประกันภัยสวนยางพารา) ซึ่งมีความเหมาะสมและจำเป็นอย่างยิ่งสำหรับพี่น้องเกษตรกรชาวจังหวัดชุมพร เพื่อให้การประกันภัยเข้ามาเติมเต็มและเป็นเครื่องมือในการบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติให้กับเกษตรกรชาวสวนยางจังหวัดชุมพร ดังนั้นประกันภัยสวนยางพารา จึงมีความสำคัญและเป็นประโยชน์อันจะสร้างความมั่นคงในการประกอบอาชีพ และส่งผลให้เกษตรกรชาวสวนยางมีคุณภาพชีวิตดีขึ้นต่อไป
ในโอกาสนี้ เลขาธิการ คปภ. พร้อมคณะผู้บริหารสำนักงาน คปภ. ได้เคาะประตูบ้านประชาชนเพื่อเยี่ยมและพูดคุยกับชาวชุมชน เพื่อรับฟังความคิดเห็น ปัญหา อุปสรรคเกี่ยวกับเกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพาราในพื้นที่ตำบลถ้ำสิงห์ อำเภอเมือง จังหวัดชุมพร โดยมี นายปรีชา ศิลปศร อดีตกำนัน ตำบลถ้ำสิงห์ เกษตรกรผู้เพาะปลูกยางพารา จำนวน 10 ไร่ ได้สะท้อนปัญหาที่หลากหลายโดยเฉพาะความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ ได้แก่ ภัยลมพายุและภัยน้ำท่วม รวมทั้งโรคใบร่วง โรคราแป้ง โรคเส้นดำ โรคเปลือกเน่า โรครากขาว โรครากแดง แมลงและศัตรูพืช เช่น หนอนทราย ปลวก เพลี้ย และหนู ซึ่งการประกันภัยสวนยางพาราจะสามารถช่วยให้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีเครื่องมือเพื่อบริหารความเสี่ยงจากภัยธรรมชาติ
“การลงพื้นที่ชุมชนของสำนักงาน คปภ. ครั้งนี้เป็นการบูรณาการโครงการ 1 ภาค 1 ผลิตภัณฑ์ประกันภัย กับโครงการ คปภ. เพื่อชุมชน เพื่อขับเคลื่อนและส่งเสริมความรู้ความเข้าใจการประกันภัยสวนยางพาราแก่ประชาชนในท้องถิ่นให้สามารถเข้าถึงระบบประกันภัยและนำมาบริหารจัดการความเสี่ยง รวมทั้งนำข้อมูลที่ได้ไปพัฒนาผลิตภัณฑ์ประกันภัยสวนยางพาราให้มีความเหมาะสมและตอบโจทย์ความต้องการของพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางพาราอย่างแท้จริงโดยขณะนี้อยู่ระหว่างการประสานงานกับ ธ.ก.ส. เพื่อบูรณาการและเพิ่มช่องทางเข้าถึงที่ใกล้ชิดกับพี่น้องเกษตรกรชาวสวนยางมากขึ้น” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย