บพท.สนับสนุนมหาวิทยาลัยพะเยา จัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ระยะ 6 เดือน เพื่อรองรับการพัฒนางานวิจัยของประเทศตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี พ.ศ. 2566 – 2570 โดยระดมผู้ทรงคุณวุฒิหลากหลายสาขาร่วมเป็นวิทยากร
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา ผู้อำนวยการ หน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) และที่ปรึกษาโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ แถลงว่า บพท.และมหาวิทยาลัยพะเยา ได้ร่วมมือกันจัดทำโครงการการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ด้วยการบูรณาการความร่วมมือกับคณาจารย์ ตลอดจนผู้ทรงคุณวุฒิที่มีประสบการณ์การจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ มาจัดทำหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ หรือ Area Based Collaboration Academy-ABC Academy
“เป้าหมายหลักของหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากร สู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ อยู่ที่การเสริมสร้างและพัฒนาให้เกิดทักษะที่มีความสำคัญยิ่งยวดในการสร้างประสิทธิภาพและประสิทธิผลที่ดีแก่การจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่อย่างน้อย 3 ประการ ได้แก่ 1). ทักษะการสร้างกลไกกระบวนการความร่วมมือระหว่างภาคีเครือข่ายในพื้นที่ ทั้งภาครัฐ เอกชน ประชาสังคม ชุมชน ท้องถิ่น รวมทั้งภาควิชาการ 2). ทักษะการพัฒนาแนวความคิดเพื่อริเริ่มดำเนินโครงการที่ตอบสนองความต้องการและสอดคล้องกับบริบทของพื้นที่ 3). ทักษะการวางแผนกลยุทธ์ด้านการสื่อสาร และการขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ไปสู่การสร้างการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ด้วยการวิจัยและนวัตกรรม”
ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย ประธานคณะอนุกรรมการที่ปรึกษาการขับเคลื่อนวิทยสถาน”ธัชภูมิ”เพื่อการพัฒนาพื้นที่ และที่ปรึกษาหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ กล่าวว่า นักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ มีความสำคัญอย่างสูงในการขับเคลื่อนงานวิจัยเพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงระดับพื้นที่อย่างเป็นรูปธรรม โดยใช้ความรู้และทักษะในการถักทอกลไกกระบวนการเพื่อสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงาน นำไปสู่ผลลัพธ์ที่ดีต่อการสร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีในพื้นที่
ศ.ดร.เสมอ ถาน้อย รองอธิการบดี ฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยพะเยา ในฐานะผู้ประสานงานหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ ชี้แจงว่า รายละเอียดของหลักสูตร จะครอบคลุมทักษะความรู้ว่าด้วยแนวความคิดการจัดการพื้นที่แบบมีส่วนร่วม ทักษะความรู้ในการพัฒนากลไกกระบวนการการมีส่วนร่วม ทักษะความรู้ในการพัฒนาแผนงานริเริ่มที่สอดคล้องกับบริบทในพื้นที่ รวมทั้งทักษะความรู้ว่าด้วยการวางแผนกลยุทธ์การสื่อสาร และขับเคลื่อนนโยบายสาธารณะ ซึ่งจะใช้เวลาในการศึกษาอบรม และฝึกทักษะภาคปฏิบัติรวมทั้งสิ้น 190 ชั่วโมง
“การศึกษาอบรมของหลักสูตรนี้ จะมีเฉพาะวันเสาร์ ต่อเนื่องกันไป 24 สัปดาห์ หรือ 6 เดือน โดยมีผู้ทรงคุณวุฒิหมุนเวียนกันมาเป็นวิทยากร อาทิ ศ.(กิตติคุณ) นพ.สิทธิพร จิตต์มิตรภาพ ศ.นพ.วิจารณ์ พานิช ศ.ดร.ปิยะวัติ บุญ-หลง ศ.ดร.พีระพงศ์ ทีฆสกุล รศ.ดร.เจษฎา มิ่งฉาย รศ.ดร.ชิตณรงค์ ศิริสถิตย์กุล รศ.ดร.พีรเดช ทองอำไพ ผศ.ดร.วารุณี อริยวิริยะนันท์ ผศ.ดร.อภิรักษ์ สงรักษ์ ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ดร.สีลาภรณ์ บัวสาย คุณสมพร ใช้บางยาง คุณเอ็นนู ซื่อสุวรรณ คุณบัญญัติ คำบุญเหลือ และดร.กิตติ สัจจาวัฒนา”
ดร.กิตติ กล่าวในท้ายที่สุดว่า ผู้ผ่านการศึกษาอบรมหลักสูตรการพัฒนาศักยภาพบุคลากรสู่การเป็นนักจัดการงานวิจัยเชิงพื้นที่ จะมีขีดความสามารถในการออกแบบ และพัฒนาโครงการการวิจัย และพัฒนาเชิงพื้นที่ ที่สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจให้กับพื้นที่ได้อย่างเป็นรูปธรรม และสามารถใช้เครื่องมือในการประเมินผลกระทบทางเศรษฐกิจ (ROI) และผลกระทบทางสังคม (SROI) ได้อย่างถูกต้องและเหมาะสม อีกทั้ง สามารถเชื่อมโยงการดำเนินงานกับระดับนโยบายได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรรองรับการพัฒนางานวิจัยของประเทศตามกรอบนโยบายและยุทธศาสตร์การอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อววน.) ปี พ.ศ. 2566 – 2570