“แอล ดับเบิลยู เอส” ระบุคอนโดฯ เกือบ 200 แห่งในเขตกรุงเทพฯ-ปริมณฑล ต้องออกแบบตามเกณฑ์อาคารประหยัดพลังงานที่มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 13 มีนาคม 2566 ส่งผลต้นทุนก่อสร้างเพิ่ม 5% แต่สามารถประหยัดค่าพลังงานได้ไม่น้อยกว่า 10% ต่อปี ระยะเวลาคืนทุน 3.5 ปี
นายประพันธ์ศักดิ์ รักษ์ไชยวรรณ กรรมการผู้จัดการ บริษัท แอล ดับเบิลยู เอส วิสดอม แอนด์ โซลูชั่น จำกัด (LWS) บริษัทวิจัยพัฒนาและที่ปรึกษาด้านอสังหาริมทรัพย์ในเครือบริษัท แอล พี เอ็น ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด(มหาชน) กล่าวว่า จากสถานการณ์ปัจจุบันที่ประเทศไทยมีการใช้พลังงานไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นของทั้งภาครัฐ ภาคธุรกิจ อุตสาหกรรม และที่อยู่อาศัย ซึ่งส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการผลิตพลังงานไฟฟ้า ทำให้กระทรวงพลังงานโดยกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการออกกฎกระทรวงกำหนดประเภท ขนาดของอาคาร และกำหนดวิธีในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน พ.ศ. 2563 โดยกฏกระทรวงดังกล่าวได้มีการประกาศลงในราชกิจจานุเบกษาเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2563 รวมทั้งออกประกาศกระทรวงฯ และประกาศกรมฯ ในปี พ.ศ. 2564 มีผลบังคับใช้กับอาคารที่จะสร้างใหม่ หรือดัดแปลงอาคาร ให้มีการออกแบบเป็นไปตามข้อกำหนดกฎหมายโดยเริ่มนำร่องใช้กับอาคารภาครัฐมาตั้งแต่ ปี 2554 และเริ่มมีผลบังคับใช้กับการก่อสร้างอาคารสำหรับภาคเอกชนในวันที่ 13 มีนาคม 2566
โดยกฎกระทรวงดังกล่าว นายประพันธ์ศักดิ์ อธิบายว่า เป็นเกณฑ์ที่เรียกว่า “เกณฑ์มาตรฐานอาคาร ด้านพลังงาน (Building Energy Code หรือ BEC)” ที่มีผลบังคับใช้กับอาคาร 9 ประเภท ที่มีขนาดพื้นที่รวมกันทุกชั้นในอาคารหลังเดียว ตั้งแต่ 2,000 ตารางเมตรขึ้นไป โดยสาระสำคัญของการกำหนดค่ามาตรฐานการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน มีการกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำในการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน ด้วยกันทั้งสิ้น 6 ระบบ ได้แก่ ระบบเปลือกอาคาร (OTTV, RTTV), ระบบไฟฟ้าแสงสว่าง (LPD), ระบบปรับอากาศ, อุปกรณ์ผลิตน้ำร้อน, การใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร และ การใช้พลังงานหมุนเวียนพร้อมกับแบ่งกลุ่มของอาคารเป็น 3 กลุ่มตามระยะเวลาการใช้งานของอาคารในแต่ละวัน ซึ่งใน 3 กลุ่มมีประเภทอาคารรวมทั้งหมด 9 ประเภท กล่าวคือ
กลุ่มที่ 1 ใช้งานวันละไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ สถานศึกษา, สำนักงานหรือที่ทำการ
กลุ่มที่ 2 ใช้งานวันละไม่เกิน 12 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ ห้างสรรพสินค้า หรือศูนย์การค้า, สถานบริการ,
โรงมหรสพ, อาคารชุมนุมคน
กลุ่มที่ 3 ใช้งานวันละไม่เกิน 24 ชั่วโมงต่อวัน ได้แก่ สถานพยาบาล อาคารชุด โรงแรม
เกณฑ์ในการพิจารณาจะใช้โปรแกรม Building Energy Code (BEC) ซึ่งเป็นโปรแกรมที่จัดทำขึ้นเพื่อเป็นเครื่องมือในการคำนวณค่าการอนุรักษ์พลังงาน ที่ต้องผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานออกเป็น 2 ลักษณะคือ การประเมินผ่านทุกรายระบบทั้ง 6 ระบบ หรือ การประเมินการใช้พลังงานโดยรวมของอาคาร ซึ่งสามารถดาวน์โหลดเพื่อดูหลักเกณฑ์การประเมินค่าอนุรักษ์พลังงาน เอกสารรายละเอียดเพิ่มเติม และข่าวสารสำคัญได้ทาง https://2e-building.dede.go.th/
หลังจากที่เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน(BEC) มีผลบังคับใช้กับภาคเอกชนในวันที่ 13 มีนาคม 2566 “LWS” ได้สำรวจข้อมูลคอนโดมิเนียมที่เข้าเกณฑ์ต้องขออนุญาติในการก่อสร้างหรือดัดแปลงอาคารตามเกณฑ์ BEC ในปี 2566 ทั้งสิ้น 168 อาคาร เป็นคอนโดมิเนียมที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างและคาดว่าจะสร้างเสร็จในปี 2566 ทั้งสิ้น 76 โครงการ มูลค่ารวม 94,224 ล้านบาท และเป็นโครงการที่เปิดตัวใหม่ในปี 2565 และ จะเริ่มดำเนินการก่อสร้างในปี 2566 จำนวน 92 โครงการ มูลค่า 135,297 ล้านบาท
จากรายงานของกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานระบุว่า อาคารที่ก่อสร้างภายใต้มาตรฐานของ BEC จะมีต้นทุนในการก่อสร้างเพิ่มขึ้น 5% เมื่อเทียบกับอาคารทั่วไป(Typical Building) ในขณะเดียวกันอาคารที่ก่อสร้างตามมาตรฐานของ BEC จะสามารถประหยัดพลังงานได้มากกว่าอาคารทั่วไปไม่น้อยกว่า 10% จากผลการศึกษาพบว่าอาคารที่ก่อสร้างใหม่ (New Building) จำนวน 3,300 อาคารต่อปี เป็นส่วนของอาคารของภาคเอกชน 3,000 อาคารต่อปี และของภาครัฐ 300 อาคารต่อปี ภายใต้มาตรฐานของ BEC จะสามารถลดการใช้ไฟฟ้าได้ 1,400 ล้านหน่วยต่อปี คิดเป็นมูลค่าเม็ดเงินที่ประหยัดได้ประมาณ 5,000 ล้านบาทต่อปี เมื่อคำนวณกับต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับสูงขึ้นจากการก่อสร้างภายใต้มาตรฐาน BEC จะใช้ระยะเวลาในการคืนทุนในส่วนของต้นทุนที่ปรับสูงขึ้นได้ภายในระยะเวลา 42 เดือนหรือ 3 ปี 6 เดือน
“จากผลการศึกษาดังกล่าวจะเห็นได้ว่า อาคารที่ถูกออกแบบและก่อสร้างตามเกณฑ์ BEC ถึงแม้จะ มีต้นทุนค่าก่อสร้างที่เพิ่มขึ้น แต่ระยะเวลาคืนทุนเร็ว และสามารถประหยัดค่าพลังงานได้ในระยะยาว ในภาวะที่ราคาพลังงานในปัจจุบันมีความผันผวนและมีแนวโน้มที่สูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว
มาตรฐานของ BEC นอกจากจะมีผลบังคับใช้กับอาคารใหม่ที่ขออนุญาติหลังวันที่ 13 มีนาคม 2566 แล้ว ยังมีผลกับอาคารที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างที่จะสร้างเสร็จหลังวันที่ 13 มีนาคม 2566 เนื่องจากตามเกณฑ์ดังกล่าว ในการเข้าตรวจสอบอาคารเพื่อเปิดใช้อาคารจำเป็นที่จะต้องได้รับการตรวจสอบว่าผ่านเกณฑ์ของ BEC หรือไม่ ภายใน 15 วันทำการ หากอาคารและระบบอุปกรณ์ต่าง ๆ ภายในอาคารไม่ผ่านการตรวจสอบจากเจ้าพนักงานท้องถิ่น เจ้าพนักงานท้องถิ่นมีอำนาจในการสั่งให้แก้ไขอาคารให้ถูกต้องตามมาตรฐานที่กำหนดจึงจะสามารถเปิดใช้อาคารได้
“จากมาตรฐานและเกณฑ์ BEC ดังกล่าว ทำให้นักพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ทั้งอาคารเพื่อการพาณิชย์ อาคารสำนักงาน อาคารชุด จำเป็นต้องให้ความสำคัญและได้รับคำแนะนำจากที่ปรึกษาด้านอาคารอนุรักษ์พลังงานและสิ่งแวดล้อมที่มีใบอนุญาตจากกระทรวงพลังงาน เพื่อให้การออกแบบและปรับปรุงอาคารเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนด ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของงานที่ LWS มีความเชี่ยวชาญ โดยเรามีทีมงานที่ได้รับใบอนุญาติในการให้คำแนะนำ การเตรียมความพร้อมรับมือการเปลี่ยนแปลงวิธีการยื่นขออนุญาตก่อสร้าง และดัดแปลงอาคารด้านพลังงานด้วยโปรแกรมการประเมิน BEC เพื่อที่จะสามารถให้บริการและข้อมูลที่เป็นประโยชน์สูงสุดแก่เจ้าของโครงการ ผู้ประกอบกิจการด้านการก่อสร้าง และผู้ประกอบกิจการด้านอสังหาริมทรัพย์” นายประพันธ์ศักดิ์ กล่าว