วันนี้ โรงเรียนบ้านแก้วเพชรพลอย อ.ตาพระยา จ. สระแก้ว คึกคักเป็นพิเศษ นักเรียนทุกคนต่างตื่นเต้นที่จะได้เห็นชุมนุมอาชีพนำไข่ไก่สดๆ จาก “โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน” มาแปรรูปเป็นไข่ม้วน และขนมไข่ทาโกะยากิ แสนอร่อย ซึ่งเป็นการต่อยอดจากกิจกรรมชุมนุมไก่ไข่ มาบูรณาการเข้ากับรายวิชาเศรษฐกิจพอเพียง เพื่อให้เด็กๆ ทุกคนได้รับประทานเมนูไข่ไก่ที่หลากหลาย จากไข่สดที่ได้จากแม่ไก่ที่พวกเขาดูแลเป็นอย่างดี
นางอลิสา เพชรมะดัน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก้วเพชรพลอย เล่าถึงที่มาของโครงการฯ นี้ว่า เมื่อก่อนเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านมะกอก ต.ทับเสด็จ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว และได้เริ่มทำโครงการเลี้ยงไก่ไข่ฯ มาก่อน เพราะเห็นว่าโรงเรือนไก่ไข่จะกลายเป็นแหล่งผลิตอาหารโปรตีนที่สำคัญให้กับนักเรียนได้ จากที่ต้องซื้อไข่ไก่ในตลาดเพื่อมาทำอาหารกลางวัน ทั้งเสียเงินมากกว่าและคุณภาพไข่ไก่ก็ควบคุมไม่ได้ จึงตัดสินใจขอเข้าร่วมโครงการกับทาง มูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท ซึ่งได้รับการพิจารณาให้ร่วมดำเนินโครงการ
เมื่อย้ายมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านแก้วเพชรพลอย โรงเรียนขนาดกลาง มีนักเรียน 164 คน เปิดสอนตั้งแต่ชั้นอนุบาล 2 – ป.6 จึงนำแนวคิดนั้นมาทำที่นี่ด้วย โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านมา เพื่อให้เป็นแนวทางฝึกอาชีพให้กับนักเรียน ให้มีกิจกรรมที่เป็นพื้นฐานอาชีพได้ในอนาคต และยังเป็นการฝึกความรับผิดชอบ การทำงานเป็นทีม ได้เรียนรู้การจดบันทึกการผลิต ผลผลิต รายรับ-รายจ่าย เป็นการเชื่อมโยงเรียนรู้เรื่องการใช้จ่าย ที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในชีวิตประจำวัน รู้จักการใช้เงินมากขึ้น แต่ก่อนอาจได้เงินมาง่ายๆ เมื่อได้ดูแลไก่จากกระบวนการเลี้ยงจนถึงขาย ทำให้รู้ว่าการได้เงินมานั้นยากลำบาก และยังเป็นการร้อยเรียงกระบวนการทำงาน เด็กๆได้เรียนรู้ตั้งแต่การเลี้ยง การซื้อ-ขาย จนถึงประกอบอาหารกลางวัน ที่สำคัญนักเรียนทุกคนยังได้บริโภคไข่ไก่ที่สดใหม่ สะอาด ปลอดภัย เป็นแหล่งโปรตีนที่ช่วยลดปัญหาภาวะทุพโภชนาการ และยังกลายเป็นคลังอาหารให้กับคณะครู ผู้ปกครอง และชาวชุมชน ได้ซื้อไปบริโภคในราคาถูกกว่าท้องตลาดอีกด้วย
“โครงการเลี้ยงไก่ไข่มีประโยชน์มากๆต่อนักเรียนของเรา เป็นการพัฒนาให้นักเรียนมีพัฒนาการที่ดีขึ้น ผ่านกระบวนการทำงาน การวางแผน การรับผิดชอบงาน และยังช่วยพัฒนาสุขภาพ เพราะได้ทานอาหารตามหลักโภชนาการ โรงเรียนได้เป็นคลังอาหารให้ชุมชน ปัจจุบันการเลี้ยงไก่กลายเป็นกิจกรรมที่เป็นรูปร่างที่สุด ที่เด็กๆได้มีโอกาสลงมือทำ มีการแบ่งงานและหน้าที่รับผิดชอบ โดยตอนเริ่มต้นมีเจ้าหน้าที่มูลนิธิฯ และพี่ๆสัตวบาลของ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ มาดูแล มีการอบรมให้กับครูและพาไปศึกษาดูงานในโรงเรียนต้นแบบ ทำให้เริ่มต้นโครงการได้ไม่ยาก ที่ผ่านมามีโรงเรือนอื่นที่สนใจเข้ามาเยี่ยมชมโครงการ เมื่อเด็กๆได้รับคำชม ก็มีกำลังใจ ภูมิใจ และเกิดแรงบันดาลใจในการทำโครงการให้ดียิ่งขึ้น” ผอ.อลิสา กล่าว
ด.ญ. สุจิตรา สิมมา หรือ น้องเฟิร์น อายุ 12 ปี นักเรียนชั้น ป.6 บอกว่า ดีใจมากที่ได้มารับผิดชอบเลี้ยงไก่ไข่ หนูมีความสุขทุกครั้งที่ได้มาทำหน้าที่ดูแลไก่ และชอบสังเกตพฤติกรรมของน้องไก่ที่เลี้ยง โครงการนี้มีประโยชน์กับหนูมากๆ ทั้งทำให้พวกเราที่มาร่วมโครงการฯ เป็นคนที่มีความรับผิดชอบ รู้หน้าที่ของตัวเอง เราภูมิใจที่ได้เลี้ยงไก่เพื่อให้เพื่อนๆน้องๆได้รับประทานไข่ไก่ที่เราช่วยกันดูแลอย่างดี เพราะไข่มีประโยชน์ต่อสุขภาพทำให้ร่างกายแข็งแรง ตอนนี้ไข่ของเรายังถูกนำไปแปรรูปเป็นขนมต่างๆ ด้วย หนูขอขอบคุณมูลนิธิเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาชีวิตชนบท และซีพีเอฟ ที่มอบโครงการดีๆให้กับพวกเรา ทำให้นักเรียนทุกคนได้บริโภคไข่ไก่ที่สด สะอาด ปลอดภัย พวกหนูและน้องๆจะทำโครงการนี้ให้ดีที่สุด
เช่นเดียวกับ ด.ช. ทีปกร สายบุตร หรือ น้องเท็น บอกว่า โครงการฯนี้ ทำให้ตนเองสามารถนำความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่ไปเลี้ยงที่บ้านได้ด้วย การได้เรียนรู้เรื่องการทำบัญชีรายรับรายจ่ายก็นำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันได้ ที่สำคัญนักเรียนทุกคนกยังมีโอกาสได้มาศึกษาวิธีการเลี้ยงไก่ไข่ โรงเรียนเราก็ได้เป็นแหล่งเรียนรู้ของนักเรียนและชุมชน และมีรายได้จากการขายไข่ไก่ผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน นักเรียนก็ได้เงินปันผลจากหุ้นสหกรณ์ฯ
นอกจากนี้ โรงเรียนยังมุ่งเน้นเรื่องกิจกรรมเกษตรให้เป็นแหล่งผลิตอาหารเช้าให้กับนักเรียนทุกคน เนื่องจากที่โรงเรียนจัดโครงการอาหารเช้าเพื่อนักเรียน โดยให้บริการแก่เด็กๆ เพื่อลดภาระแก่พ่อแม่ผู้ปกครอง เนื่องจากครอบครัวนักเรียนส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรและทำอาชีพรับจ้างทั่วไป นักเรียนที่นี่จึงมาโรงเรียนกันแต่เช้าตั้งแต่ 06.30 น. เพื่อมาฝากท้องไว้กับโรงเรียน เด็กนักเรียนที่นี่เกือบ 100% จึงได้รับประทานอาหารเช้าซึ่งเป็นมื้อสำคัญ เด็กๆมาถึงก็จะรีบลงแปลงดูแลผักของตนเอง เพื่อป้อนเข้าโครงการอาหารเช้า โดยนักเรียนแต่ละระดับชั้นจะรับผิดชอบดูแลพืชผัก 1 ชนิด ทั้งการเพาะเห็ดนางฟ้า พืชผักสวนครัว คะน้า มะเขือ พริก กะหล่ำ รวมถึงผักสมุนไพร ข่า ตะไคร้ ใบมะกรูด กะเพรา โหระพา ที่จำเป็นต้องใช้ในการปรุงอาหาร จึงไม่ต้องซื้ออีก และยังมีกิจกรรมปลูกดอกดาวเรืองมัดเป็นกำขายในช่วงวันพระวันโกน ร่วมทั้งกิจกรรมร้อยมาลัย โดยเด็กๆจะได้เรียนรู้ตั้งแต่การดูแลการปลูก แบ่งกล้า รดน้ำ พรวนดิน เก็บดอกดาวเรือง มัดกำและร้อยมาลัย กระทั่งการรวมกลุ่มจำหน่ายที่หน้าโรงเรียน
ทั้งโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และอาชีพเกษตรทั้งหมดที่โรงเรียนปูพื้นฐานให้กับเด็กๆในวันนี้ จะกลายเป็นองค์ความรู้ของเด็กๆที่เป็นทักษะอาชีพ สามารถใช้ได้ในอนาคตอย่างแน่นอน