บีโอไอนำธุรกิจไทยโรดโชว์จีน เดินหน้าดึงลงทุนยานยนต์ไฟฟ้า – พลังงานสะอาด
บีโอไอ นำทีมลัดฟ้าสู่ฉงชิ่ง – เฉิงตู มหานครฝั่งตะวันตกของจีน พบผู้ผลิตรถยนต์ไฟฟ้า (EV) รายใหญ่ “ฉางอัน – เฌอรี่ ออโตโมบิล” พร้อมนำคณะนักธุรกิจไทยเข้าร่วมงาน WCIF มหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตก 1 ใน 10 งานระดับชาติของจีน เปิดเวทีจับคู่ธุรกิจ ดึงดูดการลงทุนอุตสาหกรรมอีวี – พลังงานสะอาด
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เปิดเผยผลการจัดกิจกรรมชักจูงการลงทุน ณ มหานครฉงชิ่ง และนครเฉิงตู มณฑลเสฉวน สาธารณรัฐประชาชนจีน ระหว่างวันที่ 28 – 30 มิถุนายน 2566 โดยคณะได้พบกับผู้บริหารของบริษัทรถยนต์ EV รายใหญ่ของจีน ได้แก่ บริษัท ฉงชิ่ง ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด (Chongqing Changan Automobile) และบริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด (Chery Automobile) ผู้ผลิตรถยนต์ EV อันดับที่ 5 – 6 ของจีน โดยได้หารือกันถึงความคืบหน้าของแผนการลงทุนในประเทศไทย นโยบายส่งเสริมการลงทุนและมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมรถยนต์ EV ของไทย
นอกจากนี้ บีโอไอได้นำคณะผู้ประกอบการจากสมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย เข้าร่วมงานมหกรรมแสดงสินค้าที่สำคัญที่สุดของภูมิภาคตะวันตกของจีน (The 19th Western China International Fair หรือ WCIF) ซึ่งถือเป็น 1 ใน 10 งานระดับชาติของจีน และประเทศไทยได้รับเกียรติเป็นประเทศเกียรติยศ (Guest Country of Honor) เพียงประเทศเดียวในการจัดงานครั้งนี้ โดยมี นายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีน เป็นประธานเปิดงาน และศาสตราจารย์ พรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เข้าร่วมกล่าวในพิธีเปิดด้วย โดยภายในงาน บีโอไอได้ร่วมกับมณฑลเสฉวนและสถานกงสุลใหญ่ ณ นครเฉิงตู จัดสัมมนาในหัวข้อ China (Sichuan) – Thailand Investment Cooperation Conference โดยบีโอไอ ได้นำเสนอโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมเป้าหมาย โดยเฉพาะอุตสาหกรรมที่จีนมีความเชี่ยวชาญ เช่น EV, อิเล็กทรอนิกส์, ดิจิทัล และ BCG รวมทั้งมาตรการสนับสนุนจากภาครัฐในด้านต่าง ๆ โดยมีผู้บริหารภาคธุรกิจและสื่อมวลชนจีนให้ความสนใจเข้าร่วมงานกว่า 160 คน
นอกจากนี้ บีโอไอยังได้ร่วมกับสำนักงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งนครเฉิงตู และศูนย์ถ่ายทอดเทคโนโลยีแห่งเมืองเทียนฟู จัดกิจกรรมสัมมนาและเชื่อมโยงธุรกิจระหว่างผู้ประกอบการไทยและผู้ประกอบการจีนในอุตสาหกรรมพลังงานสะอาด (Green Energy) เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม รวมทั้งระบบชาร์จไฟฟ้าและอุปกรณ์กักเก็บพลังงาน เป็นต้น โดยบีโอไอได้นำผู้ประกอบการไทยเข้าร่วมงานจับคู่ธุรกิจหลายราย เช่น สมาคมส่งเสริมการรับช่วงการผลิตไทย และบริษัทในกลุ่ม ปตท., ทีซีซี และสหยูเนี่ยน เป็นต้น
ชูไทยฐานผลิต EV ของภูมิภาค
นายนฤตม์ กล่าวว่า จากการเข้าพบ Mr. Zhu Huarong ประธานบริษัท ฉางอัน ออโตโมบิล จำกัด และทีมผู้บริหารระดับสูง บริษัทได้ให้ความสำคัญกับประเทศไทย และยืนยันแผนการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ในประเทศไทย ด้วยเงินลงทุนในเฟสแรกประมาณ 9,000 ล้านบาท เพราะเล็งเห็นถึงโอกาสของตลาดไทยและภูมิภาคอาเซียน และความพร้อมของไทยในการเป็นแหล่งผลิตรถยนต์ที่โดดเด่นของภูมิภาค โดยบริษัทมีแผนเปิดตัวรถยนต์ EV ในไทยช่วงปลายปีนี้ สำหรับการลงทุนจัดตั้งโรงงานผลิตรถยนต์ EV ขณะนี้มีความคืบหน้าไปมาก โดยได้เตรียมการฝั่งประเทศไทยพร้อมหมดแล้ว รอเพียงการอนุมัติในขั้นตอนสุดท้ายจากรัฐบาลจีนเท่านั้น นอกจากนี้ บริษัทยังมีแผนการวิจัยและพัฒนารถยนต์ในไทยในอนาคต เนื่องจากเล็งเห็นถึงศักยภาพของไทยมากกว่าการเป็นฐานการผลิต โดยบีโอไอได้นำเสนอภาพการเติบโตของตลาดรถยนต์ EV ในประเทศไทย มาตรการสนับสนุนล่าสุด รวมทั้งให้ความมั่นใจเรื่องความต่อเนื่องของนโยบายสนับสนุนรถยนต์ EV และยินดีที่จะประสานงานกับทุกภาคส่วนเพื่อให้การลงทุนของบริษัทประสบความสำเร็จ
สำหรับบริษัท เฌอรี่ ออโตโมบิล จำกัด บีโอไอได้หารือกับผู้บริหารที่รับผิดชอบด้านการลงทุนต่างประเทศของบริษัท ซึ่งมองว่าไทยเป็นประเทศยุทธศาสตร์ที่เหมาะสำหรับการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ไฟฟ้าขับพวงมาลัยขวา เพื่อส่งออกไปยังประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยบริษัทให้ความสนใจประเทศไทยอย่างมาก ขณะนี้อยู่ระหว่างการเจรจากับพันธมิตรและพิจารณารูปแบบการลงทุนที่เหมาะสมในไทย ในส่วนของการเข้าสู่ตลาดไทย บริษัทมีแผนนำรถยนต์ไฟฟ้าแบบ SUV รุ่น OMODA 5 เข้ามาเปิดตลาดในไทยเป็นรุ่นแรกในช่วงต้นปี 2567 เพื่อรองรับการเติบโตอย่างก้าวกระโดดของตลาดรถยนต์ไฟฟ้าไทย
“จากการหารือกับผู้ผลิตรถยนต์ EV รายใหญ่ของจีนทั้งสองราย มองว่าประเทศไทยมีศักยภาพในการเป็นฐานการผลิตและส่งออกรถยนต์ EV พวงมาลัยขวา เพราะมีความพร้อมด้านระบบนิเวศของอุตสาหกรรมยานยนต์ และมีตลาด EV ที่เติบโตสูงที่สุดในภูมิภาค ซึ่งบีโอไอได้ตอกย้ำมาตรการสนับสนุน EV แบบครบวงจรของภาครัฐ รวมทั้งความต่อเนื่องของนโยบายส่งเสริมอุตสาหกรรม EV เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนในช่วงเปลี่ยนผ่านรัฐบาล” นายนฤตม์ กล่าว
ทั้งนี้ ในช่วง 5 เดือนแรกของปี 2566 (ม.ค. – พ.ค.) มีโครงการจากจีนยื่นขอรับการส่งเสริมจำนวน 93 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนกว่า 31,000 ล้านบาท ส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ ยานยนต์และชิ้นส่วน และเคมีภัณฑ์