SCG Decor โชว์นวัตกรรมดิจิทัลพลิกโฉม Smart Bathroom รับเทรนด์การใช้ชีวิตยุคใหม่ใส่ใจสุขภาพ สะอาดปลอดภัย พร้อมโชว์เอไอ หุ่นยนต์ช่วยการผลิต เร่งบุกตลาดสุขภัณฑ์อาเซียนคาดมูลค่าตลาดสูงถึง 7 หมื่นล้านบาท
นายนำพล มลิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท เอสซีจี เดคคอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCGD ซึ่งเป็นบริษัทแกนหลักของ เอสซีจี ในการดำเนินธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์ (Decor Surfaces & Bathroom) ผ่านบริษัทย่อยและบริษัทร่วม โดยปัจจุบันเป็นผู้นำธุรกิจตกแต่งพื้นผิวและสุขภัณฑ์อย่างครบวงจรในภูมิภาคอาเซียน ที่มีฐานผลิตกระเบื้องปูพื้น บุผนัง ในประเทศไทย ประเทศเวียดนาม ประเทศฟิลิปปินส์ ประเทศอินโดนีเซีย และมีฐานผลิตสุขภัณฑ์ในประเทศไทย กล่าวว่า “หลังโควิด19 ส่งผลให้วิถีใช้ชีวิตของผู้คนเปลี่ยนไปใน 3 ด้าน คือการคำนึงถึงสุขอนามัย ป้องกันเชื้อโรค (Hygiene) – ความสะดวกสบายในการใช้ชีวิต (Convenience) – การใช้ห้องน้ำเป็นพื้นที่แห่งการพักผ่อน (Entertainment/ Emotion) SCG Decor จึงได้พัฒนานวัตกรรมและออกแบบสินค้าเพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภคดังกล่าว เช่น กลุ่มธุรกิจตกแต่งพื้นผิว ได้พัฒนากระเบื้องฟอกอากาศพร้อมประจุลบในสารเคลือบกระเบื้อง กระเบื้องยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย กระเบื้องกันลื่น ซึ่งได้รับการตอบรับที่ดีทั้งในประเทศไทย เวียดนาม ส่วนกลุ่มธุรกิจสุขภัณฑ์ได้พัฒนานวัตกรรมสุขภัณฑ์ Smart Toilet ที่มีระบบสัมผัสอัตโนมัติ ซึ่งมีฐานการผลิตอยู่ที่ประเทศไทย โดยมองว่าตลาดสุขภัณฑ์ในประเทศไทยรวมถึง Smart Bathroom ยังมีโอกาสเติบโตอีกมาก เช่นเดียวกับตลาดในอาเซียน คาดว่าจะมีมูลค่า 78,700 ล้านบาทในปี 2569 สูงกว่าตลาดในไทยกว่า 6 เท่าตัว จึงเป็นโอกาสของ SCG Decor คว้าโอกาสในตลาดนี้”
“COTTO ได้นำระบบออโตเมชันมาใช้ ภายใต้แนวคิด หุ่นยนต์ทำงานร่วมกับคน หรือ Man & Machine Automation Smart Factory นำความเชี่ยวชาญในการผลิตสุขภัณฑ์ มาสอน ออกแบบ และควบคุมให้หุ่นยนต์สามารถทำงานได้อย่างประณีต แม่นยำ เพื่อให้มั่นใจว่าลูกค้าจะได้รับสินค้าคุณภาพสูง พร้อมกับการคำนึงถึงความปลอดภัยและสุขภาพของพนักงาน โดยนำมาใช้ในกระบวนการผลิตหลัก ๆ อาทิ การขึ้นรูปหม้อน้ำสำหรับโถสุขภัณฑ์ด้วยเครื่องหล่อแรงดันสูง ที่ใช้สายพานและระบบลำเลียงอัตโนมัติ ช่วยลดความเสี่ยงจากการบาดเจ็บจากการทำงานในการเคลื่อนย้ายชิ้นงานด้วยแรงงานคน ระบบพ่นสีเคลือบอัตโนมัติด้วยหุ่นยนต์ ทำให้สีที่เรียบเนียนสม่ำเสมอได้มาตรฐานและยังช่วยลดการสัมผัส สูดดมสีของพนักงาน นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังได้นำเทคโนโลยีชั้นสูงอื่น ๆ มาใช้ในห้องปฏิบัติการทดสอบ เช่น เทคโนโลยีการประมวลภาพ หรือ Image Processing เพื่อเพิ่มความละเอียดแม่นยำในการตรวจสอบและวิเคราะห์คุณภาพสินค้าก่อนส่งถึงมือลูกค้า เป็นต้น”