ดร.สุทธิพล ทวีชัยการ เลขาธิการคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (เลขาธิการ คปภ.) เปิดเผยว่า จากกรณีโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง (ช่วงหน้าปั๊มน้ำมัน ปตท.) ถนนหลวงแพ่ง แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง กรุงเทพมหานคร ได้พังถล่มลงมาระหว่างการก่อสร้าง ส่งผลทำให้มีผู้เสียชีวิต 2 ราย และบาดเจ็บ 12 ราย เหตุเกิดเมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2566 นั้น เบื้องต้นได้สั่งการให้สำนักงาน คปภ. เขตบางนา และสำนักงาน คปภ. เขตท่าพระสายคุ้มครองสิทธิประโยชน์ บูรณาการร่วมกันเพื่อตรวจสอบการทำประกันภัยและติดตามรายงานความเสียหายอย่างเร่งด่วนผ่าน Platform การรายงานข้อมูลกรณีอุบัติภัยกลุ่มหรือรายใหญ่ด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ รวมทั้งให้ลงพื้นที่เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับผู้ประสบภัยและครอบครัว เพื่อนำระบบประกันภัยช่วยบรรเทาความเดือดร้อนให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บได้อย่างมีประสิทธิภาพและเป็นธรรม
ทั้งนี้ จากการตรวจสอบความเสียหายทั้งต่อชีวิต ร่างกายและทรัพย์สินจากการเกิดอุบัติเหตุครั้งนี้ พบว่า ผู้เสียชีวิตทั้ง 2 ราย เป็นพนักงานของโครงการดังกล่าว ส่วนผู้บาดเจ็บ 12 ราย เป็นพนักงานก่อสร้าง 5 ราย และประชาชนที่ใช้เส้นทางสัญจรในบริเวณนั้น 7 ราย โดยตรวจสอบเบื้องต้นพบว่าโครงการทางยกระดับถนนอ่อนนุช-ลาดกระบัง ได้มีการทำประกันภัยการปฏิบัติงานตามสัญญาไว้กับบริษัท กรุงเทพประกันภัย จำกัด (มหาชน) เริ่มต้นความคุ้มครองวันที่ 9 มิถุนายน 2566 ถึงวันที่ 24 พฤศจิกายน 2568 คุ้มครองความรับผิดต่อบุคคลภายนอกวงเงิน 50,000,000 บาท ในสัดส่วน 60% และบริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) ในสัดส่วน 40%
สำหรับการติดตามการจ่ายค่าสินไหมทดแทนของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บ สำนักงาน คปภ. เขตบางนาได้ประสานบริษัทประกันภัยที่เกี่ยวข้องกับอุบัติเหตุในครั้งนี้แล้ว เพื่ออำนวยความสะดวกด้านประกันภัยให้กับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บอย่างเต็มที่ นอกจากนี้ สำนักงาน คปภ. อยู่ระหว่างการบูรณาการการทำงานร่วมกับสมาคมประกันชีวิตไทย และสมาคมประกันวินาศภัยไทย เพื่อตรวจสอบเพิ่มเติมว่า ผู้เสียชีวิตและผู้บาดเจ็บในอุบัติเหตุครั้งนี้มีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ ไว้ด้วยหรือไม่ หากตรวจสอบพบภายหลังว่าผู้ประสบภัยมีการทำประกันภัยประเภทอื่น ๆ เพิ่มเติมอีก ก็จะได้รับค่าสินไหมทดแทนเพิ่มเติมตามสัญญาประกันภัยที่ระบุไว้ทุกประการ
“สำนักงาน คปภ. ขอแสดงความเสียใจอย่างยิ่งกับครอบครัวของผู้เสียชีวิตและมีความห่วงใยต่อผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุครั้งนี้ และพร้อมจะดูแลในด้านประกันภัยอย่างเต็มที่ ทั้งนี้อุบัติเหตุเกิดขึ้นได้ทุกที่ ทุกเวลา และกับทุกคน จึงควรให้ความสำคัญกับการทำประกันภัยเพื่อช่วยบริหารความเสี่ยงภัย โดยเฉพาะการก่อสร้างโครงการที่เกี่ยวกับระบบสาธารณูปโภค หรือโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม ซึ่งที่ผ่านมาเกิดอุบัติเหตุอยู่เนื่อง ๆ จึงควรทำประกันภัยให้ครอบคลุมทุกมิติ เพื่อให้ระบบประกันภัยช่วยบริหารความเสี่ยงและเยียวยาความสูญเสียต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ หากต้องการสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับประกันภัย สามารถสอบถามได้ที่ สายด่วน คปภ. 1186” เลขาธิการ คปภ. กล่าวในตอนท้าย