ออมสิน ชู ESG in action เดินหน้าธนาคารเพื่อสังคม เปิดผลงานเด่นด้านสิ่งแวดล้อม สังคม ธรรมาภิบาล สร้างอิมแพคเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท

นายวิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน เปิดเผยว่า ธนาคารออมสินเป็นธนาคารเพื่อสังคมที่ดำเนินการโดยใช้แนวคิด ESG เป็นกรอบการดำเนินธุรกิจ มุ่งสร้าง Social Impact ที่เป็นรูปธรรมผ่านกระบวนการดำเนินงาน ESG in action บนเส้นทางการพัฒนาที่ยั่งยืน ไปสู่เป้าหมายช่วยแก้ปัญหาความยากจน ลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยที่ผ่านมาธนาคารสามารถสร้าง Social Impact ประเมินมูลค่าแล้วเป็นเม็ดเงินกว่า 55,400 ล้านบาท

ESG in action หรือการดำเนินธุรกิจด้วยกรอบแนวคิด ESG ของธนาคารได้สร้างผลลัพธ์เชิงบวก เกิดการเปลี่ยนแปลงมากมายต่อสิ่งแวดล้อม สังคม และด้านธรรมาภิบาล โดยในด้าน E : สิ่งแวดล้อม ธนาคารได้สนับสนุนการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ผ่านการออกผลิตภัณฑ์การเงินที่ช่วยขับเคลื่อนการดูแลสิ่งแวดล้อม อาทิ สินเชื่อ GSB for BCG Economy สินเชื่อ Green Biz, Green Home Loan และสินเชื่อบุคคล GSB Go Green รวมถึงการจัดจำหน่าย ESG Bond ที่มีส่วนแบ่งตลาดเป็นอันดับ 1 ของตราสารหนี้ภาครัฐ และติด 1 ใน 10 ของตราสารหนี้ภาคเอกชน วงเงินจัดจำหน่ายรวม 20,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีโครงการด้านสิ่งแวดล้อมที่ธนาคารดำเนินการอย่างจริงจัง ไม่ว่าจะเป็นโครงการติดตั้งระบบ Solar Rooftop ที่สาขาและอาคารสำนักงานใหญ่ โครงการปลูกป่าเพื่อชดเชย/ลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก โครงการ Community Waste Bank ร่วมกับ UNDP โครงการธนาคารปูม้าส่งเสริมประมงยั่งยืน

และล่าสุดธนาคารได้กำหนดให้มีการใช้ ESG Score เป็นเกณฑ์การพิจารณาปล่อยสินเชื่อแก่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีวงเงินกู้ 500 ล้านบาทขึ้นไป โดยลูกค้ารายที่มีผลคะแนน ESG Score ในระดับดีมาก ธนาคารจะให้การสนับสนุนโดยลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ หรือเพิ่มวงเงินให้กู้ ส่วนรายที่คะแนน ESG Score ต่ำกว่า 2 ธนาคารสงวนสิทธิ์ไม่พิจารณาให้กู้ไว้ก่อน แต่จะเข้าช่วยเหลือมีส่วนร่วมเพื่อยกระดับการดำเนินงานของลูกค้าด้าน ESG ให้ดีขึ้น ซึ่งนับเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารที่มีการนำเอา ESG Score มาเป็นเกณฑ์ประกอบการพิจารณาปล่อยสินเชื่ออย่างจริงจัง นอกจากนี้ ธนาคารเตรียมยกระดับการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมที่สำคัญหลังจากนี้ โดยอยู่ระหว่างการเตรียมประกาศเป้าหมาย GSB Net Zero Target อย่างเป็นทางการ ตั้งเป้าลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกมากกว่า 50% ภายในปี 2030 และเป็นศูนย์ภายในปี 2050

S หรือ Social เป็นภารกิจหลักที่ธนาคารให้ความสำคัญและดำเนินการผ่านโครงการต่าง ๆ ซึ่งท้ายที่สุดจะนำไปสู่การแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการช่วยลดภาระดอกเบี้ยให้กับลูกค้ากลุ่มฐานราก โดยเน้นดำเนินการใน 3 มิติ ได้แก่ 1) การสร้างโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ หรือ Financial Inclusion โดยการปล่อยสินเชื่อผ่อนปรนเงื่อนไขและอัตราดอกเบี้ยต่ำ สามารถช่วยเหลือประชาชนรายย่อยและกลุ่มฐานรากได้แล้วกว่า 3.7 ล้านคน ในจำนวนนี้ 3.2 ล้านคนเป็นผู้ไม่มีโอกาสเข้าถึงแหล่งเงินในระบบเพราะมีเครดิตต่ำหรือไม่มีเครดิตทางการเงินมาก่อน ส่วนกลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ที่ธุรกิจได้รับผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 จำนวนกว่า 48,000 ราย ก็ได้รับการเติมทุนเสริมสภาพคล่องเป็นเม็ดเงินรวมกว่า 2.5 แสนล้านบาท ให้สามารถนำไปประคองธุรกิจและฟื้นฟูกิจการให้เดินหน้าต่อได้ ส่วนมิติที่ 2) การปรับโครงสร้างดอกเบี้ยตลาดให้เป็นธรรม ผ่านการเข้าทำธุรกิจสร้างการแข่งขันในตลาดสินเชื่อจำนำทะเบียน ซึ่งสามารถลดโครงสร้างอัตราดอกเบี้ยของธุรกิจนี้ลงมาอยู่ที่ 16-18% ในปัจจุบัน รวมถึงการปล่อยสินเชื่อ SMEs มีที่ มีเงิน ที่ให้ลูกค้าสามารถใช้ที่ดินเป็นหลักประกันการขอสินเชื่อได้ ซึ่งประสบความสำเร็จนำไปสู่การร่วมทุนจัดตั้งบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ปล่อยสินเชื่อช่วยผู้ประกอบการ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุนเป็นเม็ดเงินกว่า 25,000 ล้านบาท มิติที่ 3) การสร้างงานสร้างอาชีพ สามารถพัฒนาทักษะอาชีพแก่ประชาชนได้มากกว่า 300,000 ราย ให้เงินทุนประกอบอาชีพมากกว่า 140,000 ราย และสร้างช่องทางการขายแล้ว 25,000 ร้านค้า ผ่านกิจกรรมของโครงการยุวพัฒน์รักษ์ถิ่น โครงการออมสินxอาชีวะสร้างอาชีพสู่ชุมชน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีโครงการเพื่อสังคมอีกมากมายที่ธนาคารตั้งเป้าพัฒนาคนและชุมชนอย่างยั่งยืน ได้แก่ การริเริ่มโครงการต้นแบบเพื่อการพัฒนาองค์รวมในพื้นที่ 5 หมู่บ้าน อ.เฉลิมพระเกียรติ จ.น่าน โครงการของขวัญปีใหม่ส่งเสริมการจ้างงานชาวบ้านและผู้ด้อยโอกาส โครงการสร้างแหล่งอาหารยั่งยืนเพื่อเยาวชนยากไร้ และอื่น ๆ อีกมากมายที่เป็นโครงการช่วยเหลือและให้โอกาสแก่ประชาชนฐานรากกลุ่มต่าง ๆ

G : Governance ธนาคารดำเนินกิจการอย่างโปร่งใสและตรวจสอบได้ ยึดมั่นในการบริหารจัดการภายใต้หลักธรรมาภิบาล ผ่านกระบวนการปรับลดงบประมาณองค์กรลงเกือบ 25% ต่อปี โดยในปี 2566 ได้ลดการตั้งงบประมาณลงถึง 9,800 ล้านบาทต่อปี นอกจากการใช้งบประมาณอย่างประหยัดและคุ้มค่าแล้ว ยังมีการปรับกระบวนการจัดซื้อจัดจ้างใหม่ทั้งหมดเพื่อให้เกิดความเป็นธรรมและโปร่งใสในการทำธุรกิจ อีกทั้งยังสามารถเพิ่มศักยภาพความแข็งแกร่งของธนาคารโดยได้เพิ่มปริมาณเงินสำรองทั่วไปได้มากกว่า 46,000 ล้านบาทในระยะเวลาเพียง 3 ปี รวมถึงการสร้างวัฒนธรรมคุณธรรมในองค์กร รณรงค์ส่งเสริมต่อต้านการทุจริตและความโปร่งใสในการดำเนินงาน โดยธนาคารได้รับผลประเมิน ITA ปี 2565 ระดับสูงสุด 4 ปีติดต่อกัน

ด้านผลการดำเนินงานปี 2566 ในรอบ 6 เดือน สิ้นสุด ณ วันที่ 30 มิ.ย.2566 ธนาคารมีกำไรสุทธิ จำนวน 17,344 ล้านบาท มีสินเชื่อรวม 2.35 ล้านล้านบาท เงินฝากรวม 2.68 ล้านล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.16 ล้านล้านบาท พร้อมกับสามารถรักษาระดับ NPLs ได้ที่ 2.63% ค่าเผื่อหนี้สงสัยจะสูญต่อสินเชื่อด้อยคุณภาพ (Coverage Ratios) 172.10% และมีเงินสำรองรวม (Total Provision) แตะระดับ 106,595 ล้านบาท นับว่าสูงสุดเป็นประวัติการณ์ของธนาคาร

ทั้งนี้ ในครึ่งปีหลังของปี 2566 ธนาคารเตรียมออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนตามนโยบายกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย รวมถึงการเปิดตัวบริษัทนอนแบงก์ (Non Bank) ภายในไตรมาส 4 เพื่อเข้าแข่งขันลดดอกเบี้ยในตลาดสินเชื่อไม่มีหลักประกัน ที่จะสามารถให้บริการสินเชื่อรายย่อยได้ครอบคลุมความเสี่ยงที่สูงขึ้น เป็นแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนถูกลงและเป็นธรรม โดยใช้ Alternative Data อนุมัติสินเชื่อผ่านแอปพลิเคชันที่จะทำให้กระบวนการปล่อยสินเชื่อทำได้ง่ายขึ้น และการเร่งขยายเป้าหมายการปล่อยสินเชื่อของบริษัท มีที่ มีเงิน จำกัด ให้สามารถอนุมัติสินเชื่อได้ภายในปีนี้ 7,000 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังมีแผนการดำเนินงานเพื่อสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาลอีกหลากหลายโครงการ ที่ธนาคารจะเคลื่อนที่เร็วเพื่อยกระดับการดำเนินงาน ESG in Action สานต่อธนาคารเพื่อสังคมสู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน