- รายได้จากการดำเนินงานจำนวน 7,156.7 ล้านบาท (+0.7% YoY)
- รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 214.4 ล้านบาท (+4.6% YoY) จากการขยายตัวของสินเชื่อ
- กำไรสุทธิ 1,368.9 ล้านบาท (-35.3% YoY) จากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.2
- รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 20.5 ล้านบาท (+1.3% YoY) จากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ
- อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อเงินให้สินเชื่อลดลงจาก 3.3% (31 ธ.ค.65) เหลือ 3.1% (30 มิ.ย.66)
พอล วอง ชี คิน กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคาร ซีไอเอ็มบี ไทย เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่มธนาคาร สำหรับงวดหกเดือนสิ้นสุดวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีรายได้จากการดำเนินงานจำนวน 7,156.7 ล้านบาทเพิ่มขึ้น 51 ล้านบาท หรือร้อยละ 0.7 เมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 สาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของรายได้ดอกเบี้ยสุทธิร้อยละ 4.6 และรายได้อื่นร้อยละ 1.3 สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิร้อยละ 21.7 กำไรจากการดำเนินงานก่อนหักผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นลดลงร้อยละ 7.3 เป็นจำนวน 3,105.6 ล้านบาท เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของรายได้จากการดำเนินงาน ร้อยละ 0.7 สุทธิกับการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ร้อยละ 7.9 กำไรสุทธิลดลงจำนวน 746.6 ล้านบาท หรือร้อยละ 35.3 เป็นจำนวน 1,368.9 ล้านบาทเมื่อเปรียบเทียบกับงวดเดียวกันสาเหตุหลักเกิดจากการเพิ่มขึ้นของค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานและผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นเพิ่มขึ้นร้อยละ 94.2 โดยเป็นการตั้งสำรองเพิ่มขึ้นเพื่อให้สอดคล้องกับหลักความระมัดระวังของธนาคารและเหมาะสมกับสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เป็นอยู่
เมื่อเปรียบเทียบผลการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2566 และ 2565 รายได้ดอกเบี้ยสุทธิเพิ่มขึ้น 214.4 ล้านบาท หรือร้อยละ 4.6 เป็นผลจากการขยายตัวของสินเชื่อ รายได้อื่นเพิ่มขึ้นจำนวน 20.5 ล้านบาท หรือร้อยละ 1.3 ส่วนใหญ่เป็นผลจากการเพิ่มขึ้นของกำไรสุทธิจากเงินลงทุน และกำไรสุทธิจากการขายสินเชื่อด้อยคุณภาพ สุทธิกับการลดลงของรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิจำนวน 183.9 ล้านบาท หรือร้อยละ 21.7 มาจากการลดลงของค่าธรรมเนียมจากการจำหน่ายผลิตภัณฑ์ประกันภัย
ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงานสำหรับงวดหกเดือนปี 2566 เปรียบเทียบกับงวดเดียวกันปี 2565 เพิ่มขึ้นจำนวน 297.0 ล้านบาทหรือร้อยละ 7.9 สาเหตุหลักมาจากการเพิ่มขึ้นของค่าเผื่อการด้อยค่าของทรัพย์สินรอการขาย ทำให้อัตราส่วนค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน ต่อรายได้จากการดำเนินงานงวดหกเดือนปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 56.6 เพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับงวดเดียวกันของปี 2565 อยู่ที่ ร้อยละ 52.8
อัตราส่วนรายได้ดอกเบี้ยสุทธิต่อสินทรัพย์เฉลี่ย (Net Interest Margin – NIM) สำหรับงวดหกเดือนปี 2566 อยู่ที่ร้อยละ 2.7 ลดลงจากงวดเดียวกันปี 2565 อยู่ที่ร้อยละ 2.8 เป็นผลจากต้นทุนเงินฝากที่เพิ่มขึ้น
วันที่ 30 มิถุนายน 2566 เงินให้สินเชื่อสุทธิจากรายได้รอตัดบัญชี (รวมเงินให้สินเชื่อซึ่งค้ำประกันโดยธนาคารอื่นและเงินให้สินเชื่อแก่สถาบันการเงิน) ของกลุ่มธนาคารอยู่ที่ 242.9 พันล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.2 เมื่อเทียบกับเงินให้สินเชื่อ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 กลุ่มธนาคารมีเงินฝาก (รวมตั๋วแลกเงิน หุ้นกู้ และผลิตภัณฑ์ทางการเงินบางประเภท) จำนวน 289.7 พันล้านบาท ไม่เปลี่ยนแปลงเมื่อเทียบกับสิ้นปี 2565 อัตราส่วนสินเชื่อต่อเงินฝาก (the Modified Loan to Deposit Ratio) ของกลุ่มธนาคารเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 83.8 จากร้อยละ 81.2 ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565
สินเชื่อด้อยคุณภาพ (NPLs) อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพ ต่อเงินให้สินเชื่อทั้งสิ้นอยู่ที่ร้อยละ 3.1 ลดลงเมื่อเทียบกับ ณ วันที่ 31 ธันวาคม 2565 อยู่ที่ร้อยละ 3.3 ซึ่งสอดคล้องกับการปรับโครงสร้างพอร์ตสินทรัพย์ของธนาคารด้วยการลดลงของสินเชื่อพาณิชย์ธนกิจ ธนาคารซีไอเอ็มบีไทยยังคงมาตรฐานการอนุมัติสินเชื่อ และนโยบายการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุมขึ้น ตลอดจนได้มีแนวทางเพิ่มประสิทธิภาพการติดตามหนี้ การดำเนินการดูแลและการแก้ไขลูกหนี้ที่ถูกผลกระทบดังกล่าวอย่างใกล้ชิด
อัตราส่วนค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นต่อเงินให้สินเชื่อด้อยคุณภาพ ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2566 อยู่ที่ร้อยละ 122.1 เพิ่มขึ้นจากสิ้นปี 2565 ซึ่งอยู่ที่ร้อยละ 114.6 ค่าเผื่อผลขาดทุนด้านเครดิตที่คาดว่าจะเกิดขึ้นของกลุ่มธนาคารอยู่ที่จำนวน 8.7 พันล้านบาท ซึ่งเป็นเงินสำรองส่วนเกินตามเกณฑ์ธนาคารแห่งประเทศไทยจำนวน 1.5 พันล้านบาท
เงินกองทุนรวมของกลุ่มธนาคาร ณ สิ้นวันที่ 30 มิถุนายน 2566 มีจำนวน 58.1 พันล้านบาท คิดเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนรวมต่อสินทรัพย์เสี่ยงร้อยละ 21.2 โดยเป็นอัตราส่วนเงินกองทุนชั้นที่ 1 ร้อยละ 15.7