กฟผ. โชว์ศักยภาพด้านนวัตกรรมของคนไทย กวาด 4 รางวัล JDIE 2023 ประเทศญี่ปุ่น 2 ผลงาน สิ่งประดิษฐ์นวัตกรรมของ กฟผ. นำ AI ตรวจจับภาพเพลิงไหม้ พร้อมแจ้งเตือนทันที และระบบควบคุมอัตโนมัติกังหันก๊าซในโรงไฟฟ้า คว้า 4 รางวัล จากเวที JDIE 2023 ประเทศญี่ปุ่น
นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยว่า กฟผ. มุ่งมั่นส่งเสริมให้พนักงาน กฟผ. พัฒนาผลงานวิจัย นวัตกรรม และสิ่งประดิษฐ์ เพื่อยกระดับการดำเนินภารกิจและคุณภาพชีวิตของคนไทย โดยส่ง 2 ผลงานจากนักประดิษฐ์ กฟผ. คว้า 4 รางวัลสิ่งประดิษฐ์และนวัตกรรม จากการเข้าร่วมประกวดและจัดแสดงผลงานร่วมกับนักวิจัยและนักประดิษฐ์จากทั่วโลกกว่า 15 ประเทศ ที่ส่งกว่า 300 ผลงานเข้าร่วมประกวดในเวทีระดับนานาชาติ “2023 Japan Design, Idea and Invention Expo” (JDIE 2023) ณ เมืองโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น เมื่อวันที่ 7 – 8 กรกฎาคม ที่ผ่านมา
โดย 4 รางวัล ดังกล่าว ได้แก่ 1 รางวัล Gold Medal และ 1 รางวัลพิเศษ JDIE 2023 Special Award จาก President of Chizai Corporation ประเทศญี่ปุ่น จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. เรื่อง “การตรวจจับเพลิงไหม้ด้วยการประมวลผลภาพ” เป็นระบบตรวจจับเปลวไฟขนาดเล็ก และเพลิงไหม้ โดยใช้ปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ผ่านการเรียนรู้รูปแบบต่างๆ (Model) ของเปลวไฟ ตรวจจับภาพวัตถุผ่านกล้อง USB Camera ที่ติดตั้งอยู่ภายในตู้คอนโทรล และแปลงข้อมูลให้อยู่ในรูปแบบดิจิทัล ผ่านอุปกรณ์ควบคุมขนาดเล็ก (Microcontroller Unit : MCU) วิเคราะห์หาความผิดปกติที่ระบบ (Server) แบบ Real Time และแจ้งเตือนไปยังโทรศัพท์มือถือผ่านแอปพลิเคชันไลน์ (LINE) และในพื้นที่ (Local Site) ผ่านสัญญาณเสียงฮอร์น (Horn Alarm) ประหยัดงบประมาณในการบำรุงรักษาสถานีไฟฟ้าแรงสูงได้ถึง 60 เท่า เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายในการซ่อมบำรุง โดยมีแผนขยายผลไปใช้กับสถานีไฟฟ้าแรงสูงของ กฟผ. ทั่วประเทศ และสามารถขยายผลติดตั้งในทุกพื้นที่ที่ต้องการระบบแจ้งเตือนเพลิงไหม้ เป็นประโยชน์ต่อองค์การและประเทศชาติอย่างมหาศาล
1 รางวัล Silver Medal และ 1 รางวัลพิเศษ จาก Indonesian Invention and Innovation Promotion Association (INNOPA) ประเทศอินโดนีเซีย จากผลงานสิ่งประดิษฐ์ กฟผ. เรื่อง “ระบบควบคุมการทำงาน PO Mode ของกังหันก๊าซ GT26 แบบอัตโนมัติ” เป็นการพัฒนาระบบควบคุมของเครื่องกังหันก๊าซ รุ่น GT26 ในโรงไฟฟ้าพระนครเหนือตั้งแต่ปี 2564 ซึ่งเดิมจำเป็นต้องเปลี่ยนโหมดโดยพนักงานควบคุมเครื่องเท่านั้น ระบบที่พัฒนาขึ้นนี้จะช่วยเลือกกำลังผลิต (Power Output) สูงสุดให้เหมาะสม เป็นไปตามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า ลดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามวาระ เพิ่มเสถียรภาพให้กับระบบไฟฟ้า และลดความผิดพลาดรวมทั้งภาระของพนักงานควบคุมเพื่อให้สามารถปฏิบัติงานด้านอื่นได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาตามวาระ คิดเป็นมูลค่าเกือบ 3 ล้านบาท/ปี/เครื่อง สามารถขยายผลไปประยุกต์ใช้งานกับโรงไฟฟ้าอื่น ๆ ได้
“4 รางวัลนวัตกรรมที่ได้รับจาก JDIE 2023 นับเป็นความภาคภูมิใจของ กฟผ. และคนไทย กฟผ. พร้อมสนับสนุนและส่งเสริมการสร้างสรรค์นวัตกรรมและสิ่งประดิษฐ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เพื่อคุณภาพชีวิตคนไทยที่ดียิ่งขึ้น” นายประเสริฐศักดิ์ เชิงชวโน กล่าวย้ำในตอนท้าย