เมื่อวันที่ 3 สิงหาคม 2566 สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับกระทรวงวัฒนธรรม จังหวัดเชียงใหม่ องค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB และกลุ่มเมืองสร้างสรรค์ขององค์การยูเนสโกในประเทศไทย จัดงานแถลงข่าว ‘การยื่นประมูลสิทธิ์ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพการจัดการประชุมประจําปีของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์องค์การยูเนสโก ครั้งที่ 17 พ.ศ. 2568 (UCCN Annual Conference 2025) จังหวัดเชียงใหม่’ โดยมี นายอิทธิพล คุณปลื้ม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ ดร. อรรชกา สีบุญเรือง ประธานกรรมการ TCEB และ CEA นายจิรุตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ และ ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ร่วมแถลงข่าว ณ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์
สำหรับการเสนอของประเทศไทยในนามจังหวัดเชียงใหม่เพื่อเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ ถือเป็นโอกาสพิเศษในการกระชับความสัมพันธ์ระหว่างเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกจากทุกสาขาทั่วโลก และการกำหนดเป้าหมายเชิงกลยุทธ์ของเมืองสร้างสรรค์ต่าง ๆ ร่วมกัน ภายใต้จุดประสงค์ในการนำอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และวัฒนธรรมมาเป็นหัวใจของการพัฒนาประเทศตั้งแต่ระดับท้องถิ่นไปจนถึงการสร้างความร่วมมือในระดับนานาชาติ โดยปัจจุบันมีเมืองสร้างสรรค์ในเครือข่ายยูเนสโก จำนวน 7 สาขา รวมทั้งสิ้น 295 เมือง
ทั้งนี้ เชียงใหม่ในฐานะเมืองสร้างสรรค์ สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้าน (Crafts and Folk Art) และ 1 ใน 5 เมืองสร้างสรรค์ของประเทศไทย (กรุงเทพฯ ภูเก็ต สุโขทัย และเพชรบุรี) ของเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกได้ทำการยื่นประมูลสิทธิ์จัดการประชุมภายใต้หัวข้อ Enhancing Multicultural Transformation การยกระดับคุณค่าจากต้นทุนด้านศิลปวัฒนธรรมบนพื้นฐานของเมืองพหุวัฒนธรรมดั้งเดิมสู่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์ที่มีความร่วมสมัยในปัจจุบัน เพื่อนำเสนอความหลากหลายทางศิลปะและวัฒนธรรมที่เติบโตและมีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยพลวัตดังกล่าวยังถือเป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้เชียงใหม่กลายเป็นจุดหมายสำคัญที่ได้รับการยอมรับจากทั้งนักท่องเที่ยวและ Digital Nomad จากทั่วโลกอีกด้วย
นายนิรัตน์ พงษ์สิทธิถาวร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่า “จังหวัดเชียงใหม่มีความหลากหลายทั้งในแง่ของโอกาสและศักยภาพทางด้านวัฒนธรรม วิถีชีวิต ประเพณี สถาปัตยกรรม ศิลปหัตถกรรม และทรัพยากรธรรมชาติ นอกจากนี้ เรายังได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมระดับนานาชาติมาแล้วหลายครั้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งงาน Chiang Mai Crafts Forum ในปี 2562 และ Chiang Mai Creative Cities Network Forum ในปี 2564 ที่สำคัญ นอกจากสถานะของการเป็นเมืองสร้างสรรค์สาขาหัตถกรรมและศิลปะพื้นบ้านที่เราได้รับการประกาศจากองค์การยูเนสโก เมื่อปี 2560 เชียงใหม่ยังถือเป็นเมืองที่ได้รับการยกย่องในระดับสากลอีกมากมาย ทั้งการเป็นเมืองหัตถกรรมโลก WWC World Craft Cities และเมืองแห่งการเรียนรู้ UNESCO Learning Cities ในปี 2564 รวมถึงเมืองแห่งเทศกาลโลก World Festival and Event City ในปี 2565 และเมื่อพิจารณาถึงการที่เมืองเป็นศูนย์กลางการเดินทาง และมาตรฐานของโรงแรมที่พักที่สามารถรองรับผู้เข้าร่วมประชุมจากทั่วโลกได้ เชียงใหม่จึงมีความพร้อมเป็นเจ้าภาพการประชุมฯ ครั้งนี้”
นายพิชัย เลิศพงศ์อดิศร นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงใหม่ กล่าวว่าในฐานะที่ อบจ. เชียงใหม่ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงสำคัญในการขับเคลื่อนโครงการเมืองสร้างสรรค์เชียงใหม่ โดยล่าสุดยังได้เป็นเจ้าภาพการจัดประชุมเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ประเทศไทยเมื่อช่วงเดือนกรกฎาคมที่ผ่านมา จึงเห็นว่าหากเชียงใหม่ได้รับเลือกเป็นเจ้าภาพการจัดประชุมฯ จะเป็นโอกาสสำคัญให้กับผู้คนในเมืองอย่างมาก “งานประชุมนี้จะเปิดโอกาสให้เมืองของเราได้นำเสนอศักยภาพด้านความคิดสร้างสรรค์ รวมถึงการสร้างความร่วมมือกับประเทศสมาชิกในการต่อยอดคุณค่าด้านศิลปวัฒนธรรมและงานหัตถกรรมสู่เวทีโลก”
ทั้งนี้ นายก อบจ. เชียงใหม่ยังย้ำอีกว่า ในฐานะที่เชียงใหม่เป็น ‘นครที่เป็นที่สุดแห่งความสง่างามทางวัฒนธรรม’ จึงได้มีการวางกรอบแนวคิดในการจัดงานประชุมฯ ด้วยการนำเสนอวัฒนธรรมที่หลากหลาย รวมถึงการต่อยอดต้นทุนทางวัฒนธรรมจากอดีตสู่ปัจจุบัน และที่สำคัญคือการนำเสนอสิ่งดีงามของไทยให้ต่างชาติได้รับรู้ด้วยความภาคภูมิใจ
ด้าน ดร. ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (CEA) กล่าวปิดท้ายว่า CEA ในฐานะผู้นำในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทยสู่เวทีโลก ได้เล็งเห็นความสำคัญของการพัฒนาและต่อยอดเมืองสร้างสรรค์ของไทยที่อยู่ภายใต้เครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโก ผ่านการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมฯ
ทั้งนี้ นอกเหนือการขับเคลื่อนการเป็นสมาชิกเครือข่ายเมืองสร้างสรรค์ยูเนสโกของประเทศไทย และการประชาสัมพันธ์ศักยภาพของประเทศไทยสู่เวทีโลก ยังมีการคาดการณ์ว่าหากเชียงใหม่ได้รับการคัดเลือกให้เป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมระดับนานาชาติครั้งนี้ จะสามารถสร้างมูลค่าเพิ่มในอุตสาหกรรมสร้างสรรค์และกระตุ้นเศรษฐกิจของประเทศได้กว่า 125.86 ล้านบาท และเปิดโอกาสให้ผู้คนได้เข้าถึงการพัฒนาด้านอุตสาหกรรมสร้างสรรค์อันเกิดจากการเรียนรู้และแลกเปลี่ยนระหว่างกลุ่มประเทศสมาชิก รวมถึงยังสอดคล้องกับพันธกิจของกระทรวงวัฒนธรรมที่ต้องการเผยแพร่งานด้านศิลปวัฒนธรรมของไทย พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือและความสัมพันธ์กับต่างประเทศผ่านมิติทางวัฒนธรรมอีกด้วย