ม.ศิลปากร-ซีพีเอฟ ยกระดับความร่วมมือทางวิชาการ ผลิตบัณฑิตคุณภาพ ก้าวทันโลกอนาคต

มหาวิทยาลัยศิลปากร และบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ลงนามความร่วมมือทางวิชาการ (MOU) เพื่อพัฒนาหลักสูตรผลิตบัณฑิตที่มีทักษะและมีความรู้ด้าน STEM  วิทยาศาสตร์ (Science) เทคโนโลยี (Technology) วิศวกรรมศาสตร์ (Engineering) และคณิตศาสตร์ (Mathematics)โดยเปิดโอกาสให้นักศึกษาเรียนรู้โดยลงมือปฏิบัติจริงในสถานประกอบการของซีพีเอฟ ผ่านโครงการ Co-Creation Program

ซึ่งพิธีลงนาม มีนายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ ลงนามร่วมกับ ศาสตราจารย์ ดร.ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมี น.สพ. สุจินต์ ธรรมศาสตร์ ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ ธุรกิจสัตว์น้ำ นางสาวพิมลรัตน์ รีพัฒนาวิจิตรกุล ประธานผู้บริหารทรัพยากรบุคคล ซีพีเอฟ และคณะผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยศิลปากร ร่วมด้วย ณ ห้องประชุมชั้น 30 ซี.พี.ทาวเวอร์ สีลม

นายประสิทธิ์ บุญดวงประเสริฐ ประธานคณะผู้บริหาร ซีพีเอฟ กล่าวว่า ซีพีเอฟ มีความมุ่งมั่นสร้างความร่วมมือกับสถาบันการศึกษา เพื่อพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนที่บูรณาการองค์ความรู้และเน้นการปฏิบัติจริงมากขึ้น เพื่อให้นักศึกษามีความรู้และทักษะจากประสบการณ์จริง เป็นบัณฑิตที่มีทักษะตรงตามความต้องการของธุรกิจและอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อนักศึกษาในการนำไปประยุกต์ในการทำงานเมื่อสำเร็จการศึกษา และเป็นประโยชน์ต่อภาคเอกชนที่จะได้รับความคิดสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ ช่วยเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันให้กับองค์กรเป็นผู้นำในการผลิตอาหารที่มีคุณค่าโภชนาการ ราคาสมเหตุสมผล ด้วยกระบวนการผลิตประสิทธิภาพสูง โดยความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยศิลปากรในครั้งนี้ นับเป็นต้นแบบในการผนึกพลังกันเพื่อสร้างคน สร้างอนาคต และสร้างเครือข่าย ร่วมขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทยเติบโตอย่างมั่นคง และเป็น “ครัวของโลก” อย่างยั่งยืน สอดคล้องตามหลักปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนของเครือซีพี ที่มุ่งดำเนินธุรกิจโดยก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรตามลำดับ ซึ่งเป็นสิ่งที่เรายึดถือปฏิบัติ

“เรามีความมั่นใจว่าโครงการนี้จะเป็นการเสริมสร้างทักษะให้กับนักศึกษาของมหาวิทยาลัย มีความพร้อมที่จะเรียนรู้และทำงาน เรียนไปทำงานไป นำความรู้จากการศึกษามาทดลองใช้จริง ได้เห็นปัญหาและแนวทางการแก้ไข เป็นโครงการที่ตรงกับวิสัยทัศน์ของเครือซีพี โดยท่านประธานอาวุโส ธนินท์ เจียรวนนท์ มีนโยบายที่ชัดเจนว่าการดำเนินธุรกิจต้องมองประโยชน์เพื่อประเทศชาติ ประชาชน และองค์กรก็จะได้ประโยชน์ด้วย หวังว่าโครงการ Co-Creation Program จะเป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อสร้างให้เกิดประโยชน์กับนักศึกษาซึ่งเป็นบุคลากรที่มีความสำคัญของประเทศ” นายประสิทธิ์กล่าว

ด้าน ศาสตราจารย์ ดร. ธนะเศรษฐ์ ง้าวหิรัญพัฒน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวว่า มหาวิทยาลัยฯ มุ่งมั่นพัฒนาหลักสูตรที่โดดเด่นให้บัณฑิตรู้จริงและทำงานจริง ซึ่งโครงการ Co-Creation Program เน้นความสำคัญของการจัดการเรียนการสอนระหว่างมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชนในรูปแบบ Work-Based Learning (WBL) ทั้งภาคทฤษฎีและการปฏิบัติจริง ผลิตบันฑิตพร้อมใช้ (Ready to Use) เมื่อสถานประกอบการรับเข้าทำงานแล้ว สามารถทำงานในตำแหน่งนั้นๆ ได้ทันที ไม่ต้องทดลองงาน ขอขอบคุณซีพีเอฟที่มอบโอกาสดีๆ ให้กับเยาวชนคนรุ่นใหม่ ซึ่งจะเติบโตเป็นกำลังสำคัญที่จะพัฒนาเศรษฐกิจและประเทศชาติ ความร่วมมือในครั้งนี้ นักศึกษาของมหาวิทยาลัยน่าจะได้รับประโยชน์หลายๆอย่างในความร่วมมือของมหาวิทยาลัยกับบริษัทเอกชน  ที่จะร่วมกันพัฒนาหลักสูตรและผลิตบัณฑิตที่มีคุณลักษณะที่พึงประสงค์ในศตวรรษที่ 21 โดยมีซีพีเอฟใช้ศักยภาพของบริษัทมาช่วยพัฒนานักศึกษา นอกจากนี้ ยังเป็นการเฉลิมฉลองในโอกาสครบรอบ 80 ปี ของมหาวิทยาลัยที่จะเดินหน้าผลิตบัณฑิตคุณภาพเพื่อตอบแทนสังคมและประเทศชาติอย่างต่อเนื่องต่อไป