“Pakk Taii Design Week 2023” ผลิบานแล้วไปต่อทั้งผู้คน เมือง และวัฒนธรรม ยกระดับเมืองสร้างสรรค์ปักษ์ใต้
ร่วมถอดรหัสความสำเร็จของ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “Pakk Taii Design Week 2023” โดย สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ที่ปิดฉากไปอย่างสวยงาม ในเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา (12 – 20 สิงหาคม 2566) เทศกาลฯ จัดขึ้นใน 3 พื้นที่หลักของจังหวัดสงขลา ได้แก่ ย่านเมืองเก่าสงขลา ท่าเรือแหลมสน ชุมชนหัวเขา และตัวเมืองหาดใหญ่ – ตลาดกิมหยง พร้อมกับกิจกรรมในจังหวัดอื่น ๆ ของภาคใต้ ได้แก่ ย่านทับเที่ยง จังหวัดตรัง และย่านอา-รมย์-ดี จังหวัดปัตตานี โดยมีนักสร้างสรรค์ นักออกแบบ นักพัฒนาเมือง ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่น เข้าร่วมกว่า 206 ราย รวมทั้งได้รับความร่วมมือจากองค์กรและผู้สนับสนุนกว่า 69 ราย ผ่านการจัดกิจกรรม 112 โปรแกรม ทั้งมหรสพ ศิลปะการแสดง ดนตรี ศิลปะการจัดวาง ศิลปะการจัดแสดงแสงไฟ เสวนา เวิร์กช็อป ฯลฯ ตลอด 9 วัน มีผู้เข้าร่วมงาน 100,791 คน สร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจในพื้นที่จัดงานและชุมชนโดยรอบกว่า 165 ล้านบาท พร้อมต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมและสินทรัพย์ในภูมิภาค ยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คนในปักต์ใต้อย่างรอบด้านและยั่งยืนต่อไปในอนาคต
ถอดรหัส 3 ความสำเร็จ “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566”
เข้าถึงทุกคน เชื่อมสัมพันธ์คนต่างวัย – เชื้อชาติ – พื้นที่
หากใครเป็นแฟนคลับ Design Week ที่จัดโดย CEA คงพอจะคุ้นเคยกับเหล่าดีไซเนอร์ นักออกแบบ หรือนักพัฒนาเมืองจากภาคเอกชนและภาครัฐ ที่มาร่วมกันจัดงานในภูมิภาคต่าง ๆ ทั้ง Bangkok Design Week จังหวัดกรุงเทพฯ , Chiang Mai Design Week จังหวัดเชียงใหม่, Isan Creative Festival จังหวัดขอนแก่น และเทศกาลงานอออกแบบน้องใหม่ล่าสุด Pakk Taii Design Week จังหวัดสงขลา ตรัง และปัตตานี แต่คงไม่มีเทศกาลฯ ไหน รวมพลังสร้างสรรค์ของคนท้องถิ่นในภูมิภาคได้ครบเครื่องเท่า #PTDW แม้พื้นที่หลักของเทศกาลฯ จะอยู่ที่ย่านเมืองเก่า จังหวัดสงขลา แต่กว่า 95% ของผู้ที่มาช่วยกันรังสรรค์เทศกาลฯ สุดครีเอต ล้วนเป็นชาวปักษ์ใต้ โดยประกอบด้วยนักสร้างสรรค์ นักออกแบบ ช่างฝีมือ ผู้ประกอบการ และชุมชนท้องถิ่นกว่า 206 ราย จาก 14 จังหวัด เช่น สงขลา ตรัง ปัตตานี ยะลา นครศรีธรรมราช พัทลุง สตูล สุราษฎร์ธานี กระบี่ ภูเก็ต ฯลฯ แน่นอนว่าตั้งแต่กระบวนการออกแบบแนวคิด งานดีไซน์ คงไม่ใครรู้เรื่อง ‘บ้าน’ ของตนเอง ได้ดีไปกว่าคนท้องถิ่น ในขณะที่การผลิตล้วนใช้สตูดิโอหรือบริษัทในพื้นที่ และการติดตั้งก็ใช้ทรัพยากรแรงงานสร้างสรรค์ชาวปักษ์ใต้ ที่พร้อมเผยศักยภาพสร้างสรรค์ของตนเองกันอย่างเต็มที่
นอกจากนี้ เทศกาลฯ มีเป้าหมายจะเป็นสะพานเชื่อมผู้คนต่างวัยเข้าหากัน ดึงคนรุ่นใหม่กลับบ้าน มาร่วมพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง จึงมีการวางแผนกระบวนการทำงาน และการนำเสนอที่เข้าถึงคนทุกวัยให้ได้มากที่สุด หัวใจสำคัญคือ “กลุ่มผู้ขับเคลื่อนหลักในพื้นที่” ซึ่งเปรียบเสมือน Key Man ที่เป็นเจเนอเรชันตรงกลาง ผู้ทำหน้าที่เชื่อมผู้สูงอายุและคนรุ่นใหม่ให้เข้าหากัน ผ่านโปรแกรมสร้างความร่วมมือในรูปแบบต่าง ๆ ตั้งแต่ก่อน ระหว่าง และหลังงาน ประกอบกับลักษณะทางกายภาพและบรรยากาศของย่านเมืองเก่าสงขลา พื้นที่หลักในการจัดเทศกาลฯ ที่ขนาดมีความกระชับ เดินถึงกันได้ อาคารบ้านเรือนผสมผสานสถาปัตยกรรมหลากยุคหลากเชื้อชาติ แต่งแต้มด้วยศิลปะที่ไม่แปลกแยก ทัศนียภาพริมทะเลสาบ รวมถึงความเป็นมิตรใกล้ชิดกันของผู้คน
ทางด้าน “เถตรัง ครีเอทีฟ วีก ครั้งที่ 1 เทศกาลสร้างสรรค์ของนักเถ” จังหวัดตรัง ได้นำอาคารเก่าของโรงพยาบาลตรังชาตะ ที่ไม่ได้ใช้งานมากกว่า 10 ปีมารังสรรค์ใหม่ โดย เครือข่ายนักสร้างสรรค์ ทีม ‘หัวบอน’ ให้กลายเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ (Creative Space) ที่รวบรวมงานครีเอทีฟในแบบเฉพาะ Made in Trang และสุดท้าย การจัดกิจกรรมขับเคลื่อนพื้นที่ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ของกลุ่ม ‘Melayu Living’ จังหวัดปัตตานี ที่ล้วนมีเสน่ห์เฉพาะตัว และส่งเสริมให้ความคิดสร้างสรรคที่สะท้อนดีเอ็นเอความเป็นปักษ์ใต้ได้ผลิบาน
แพลตฟอร์มสร้างโอกาสให้คนรุ่นใหม่หวนกลับบ้าน
เทศกาลฯ มีเป้าหมายสร้างแพลตฟอร์มให้ลูกหลานปักษ์ใต้ที่กลับมาบ้านได้มีที่ยืน มีพื้นที่ในการแสดงออก ได้จัดแสดงงานครั้งแรกไปพร้อมกับเทศกาลฯ เช่น SoulSouth Studio จาก จังหวัดยะลา, Southson Design จาก จังหวัดสงขลา, กลุ่ม Hatyai Connext จาก หาดใหญ่ , ทีม ‘หัวบอน’ จาก จังหวัดตรัง, กลุ่ม ‘Melayu Living’ จาก จังหวัดปัตตานี, กลุ่ม ‘Creative Nakhon’ จาก จังหวัดนครศรีธรรมราช ฯลฯ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้แสดงศักยภาพของพลังแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้เต็มที่ พร้อมช่วยต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมไม่ให้สูญหาย ด้วยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) ในแบบร่วมสมัย อันเป็นหัวใจสำคัญของเทศกาลฯ ที่ทำหน้าที่ทั้งบันทึกความทรงจำ บอกต่อ และตั้งคำถามในประเด็นต่าง ๆ เพื่อเปิดบทสนทนาร่วมกัน โดยเน้นเรื่องราวที่ยึดโยงกับผู้คน เทศกาลฯ จัดกิจกรรรมหลากหลายรูปแบบ เช่น นิทรรศการและละครเวทีที่เล่าเรื่องความสัมพันธ์ของครอบครัวจีน 5 เหล่า (กวางตุ้ง ไหหลำ แต้จิ๋ว ฮากกา และฮกเกี้ยน) ในจังหวัดสงขลา ศิลปะการแสดงโนราที่เล่าเรื่องตัวตนของครูโนรา หนังเล่าประเด็นทางสังคมในพื้นที่แบบสัญญะ หรือแม้แต่อินสตอลเลชันอาร์ตก็ยังสอดแทรกค่านิยมลึกซึ้งที่ชาวมุสลิมยึดถือ เพื่อให้เกิดความรู้สึกและประสบการณ์ร่วมในหลายมิติ ทั้งจากคนในพื้นที่เองในฐานะเจ้าของเรื่อง และคนนอกก็ยังได้ความรู้สึกของการเป็นคนในมากขึ้น ส่งเสริมให้วัฒนธรรมท้องถิ่นได้ปรับตัว ลื่นไหลไปกับยุคสมัยได้แบบไม่ทิ้งตัวตน นอกจากนี้ยังทำให้เกิดกระแสการตั้งคำถามของคนหนุ่มสาว ว่ากลับบ้านไปทำอะไรได้บ้าง ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในพื้นที่ของตนเอง ทั้งร้านกาแฟเปิดใหม่ ร้านอาหารฟิวชั่น ร้านเครื่องหอมร่วมสมัย ร้านหนังสือ พื้นที่สร้างสรรค์ หอศิลป์ ซึ่งล้วนบุกเบิกพื้นที่ทำกินและสร้างความหวังให้กับคนรุ่นใหม่อีกครั้ง ให้ปักษ์ใต้เป็น ‘เมืองที่ดี’ กล่าวคือ ‘เมืองที่มีรายได้’ รองรับผู้คนได้หลากหลาย อันเป็นแกนสำคัญในการกำหนดทิศทางการเปลี่ยนแปลงบ้านของพวกเขาต่อไป
สร้าง Snowball Effect ทางพื้นที่และเศรษฐกิจ ยกระดับคุณภาพชีวิตคนในชุมชน
เทศกาลฯ ได้ทำหน้าที่ในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) สามารถสร้างรายได้ระหว่างการจัดงานไม่น้อยกว่า 165 ล้านบาท โดยอาศัยปัจจัยทางด้านต้นทุนทางวัฒนธรรม (Cultural Asset) พลังขับเคลื่อนของคนรุ่นเก๋าและรุ่นใหม่ (Creative People) พื้นที่และอาคารบ้านเรือนที่เต็มไปด้วยความหลากหลายทางสถาปัตยกรรม (Creative Place) ปัจจัยทั้งหมดนี้ส่งผลกระทบเชิงบวกให้เกิดการนำความคิดสร้างสรรค์ (Creativity) มาประยุกต์ใช้ในการสร้างให้เกิดคุณค่า (Value Creation) ที่ก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านสังคม และเศรษฐกิจ (Economy Impact) ไปสู่การขับเคลื่อนปักษ์ใต้ในมุมมองใหม่ ที่ไม่ได้โดดเด่นแค่เรื่องแหล่งท่องเที่ยวอันงดงาม (Tourist) ตามธรรมชาติ แต่กำลังจะเป็นภูมิภาคที่สร้างการท่องเที่ยวเชิงสร้างสรรค์ (Creative Tourism) พร้อมดึงดูดคนสร้างสรรค์จากทั่วโลกเข้ามาใช้ชีวิตได้ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้เทศกาลฯ ยังมีงานบางส่วนได้จัดแสดงต่อ เช่น นิทรรศการ ‘Peranakan Reborn-Bornhere’ ของนักออกแบบรุ่นใหม่จากหาดใหญ่ ทั้งสถาปนิก อินทีเรียดีไซเนอร์ และกราฟิกดีไซเนอร์ ที่มารวมตัวกัน เพื่อตีความวัฒนธรรมเปอรานากัน และนำเสนอเป็นคอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์ดีไซน์สุดชิค ทั้งเก้าอี้ โต๊ะ พรม โคมไฟ ฯลฯ ณ อาคารเก่าทรงคลาสสิกอย่างบ้านเขียนเจริญ จนกลายเป็นแบรนด์ Pradtana.design แบรนด์เฟอร์นิเจอร์น้องใหม่ ที่นำเสนอส่วนผสมของความเป็นท้องถิ่น ประวัติศาสตร์ และศิลปะ ผ่านงานดีไซน์ร่วมสมัยได้อย่างน่าสนใจ ทีมนักออกแบบยังผลักดันคอลเล็กชันเฟอร์นิเจอร์นี้ ให้ได้ไปจัดแสดงที่ Peranakan Musuem ที่สิงคโปร์อีกด้วย, ศิลปะการจัดวาง ‘บินละห์’ หรือ ‘Billah’ ประติมากรรมบนท่าเรือ ริมทะเลสาบสงขลาฝั่งแหลมสน ฝีมือนักออกแบบจากปัตตานี กลายเป็นแลนด์มาร์กสไตล์มลายูที่ผู้สนใจสามารถนั่งเรือข้ามไปชมได้ทุกวัน (ติดตั้งถาวร), บ้านในกำแพงชุมชนแหลมสน อดีตบ้านคหบดีจีนอายุกว่า 200 ปี ที่หลงเหลือเพียงกำแพงและซุ้มประตูเก๋งจีน บ่อน้ำโบราณ และฐานเสาเรือนเดิม ถูกชุบชีวิตขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็น Songkhla Kombucha House รายล้อมด้วยสวนชาใบขลู่ แหล่งผลิตชาใบขลู่ และชาขลู่ที่่หมักผลไม้เจ้าแรกของจังหวัด รวมถึงผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ต่อยอดมาจากวัตถุดิบท้องถิ่น เพื่อกระจายรายได้ให้ชุมชน พร้อมกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวให้กับชุมชนต่อไปในระยะยาว, กราฟิกอัตลักษณ์ย่านมัสยิดบ้านบน ฝีมือนักออกแบบจากกรุงเทพฯ พจน์ อักษรสนาน ใช้ป้ายและองค์ประกอบต่าง ๆ ในย่านเป็นวัตถุดิบในการออกแบบ
งานกราฟิกร่วมสมัยและตัวอักษรที่สะท้อนตัวตนของมัสยิดบ้านบน งานออกแบบเหล่านี้ถูกนำมาประยุกต์ใช้จริงกับตลาดและงานของของชุมชนมัสยิดบ้านบนในระยะยาว ทั้งโลโก้ ฟอนต์ ป้าย ธงราว สติกเกอร์ กระดาษรองอาหาร ฯลฯ, งานศิลปะจัดวาง ‘Chinese Spring – Home’ ผลงานโดย นักรบ มูลมานัส ศิลปินคอลลาจชื่อดังจากกรุงเทพฯ ที่ประทับใจเรื่องราวของชาวจีน 5 เหล่าในสงขลา กับนิยามของคำว่า ‘บ้าน’ ยังคงจัดแสดงอยู่ที่บ้านเก้าห้อง ให้ทุกคนได้มาค้นหาเรื่องราวภายใต้ผลงานศิลปะล้ำสมัย ผสมผสานภาพถ่ายเก่าในเมืองสงขลา ที่จะกลายเป็นเสมือนเครื่องบันทึกประวัติศาสตร์และความทรงจำล้ำค่าของเมืองต่อไป
อย่างไรก็ดี งาน Design Week หรือ Design Festival ไม่ได้เป็นเพียงหนึ่งในเครื่องมือขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (Creative Economy) เท่านั้น แต่ยังเป็นเครื่องมือที่ช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของผู้คน โดยใช้การออกแบบเป็นอาวุธสำคัญ ส่งเสริมให้เมือง ‘น่าอยู่ น่าลงทุน และน่าท่องเที่ยว’ เมื่อในระดับที่เล็กที่สุดอย่าง ‘ย่านเศรษฐกิจสร้างสรรค์’ (Creative District) เกิดความเป็นอยู่ที่ดี เศรษฐกิจดีขึ้น ในระดับ ‘เมือง’(City) ก็จะดีขึ้นตามไปด้วย ภายใต้หัวใจสำคัญของการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน โดยที่การพัฒนาจะไม่จบแค่พื้นที่เล็ก ๆ แต่จะนำไปสู่การเชื่อมโยงถึงกันเป็นเครือข่ายความร่วมมือ ระหว่างย่านไปจนถึงระหว่างเมือง เพื่อเรียนรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์สู่การขับเคลื่อนจังหวัดต่าง ๆ ให้กลายเป็น ‘เมืองสร้างสรรค์’ ในเวทีโลกต่อไป
การจัดงาน “เทศกาลงานออกแบบปักษ์ใต้ 2566” หรือ “Pakk Taii Design Week 2023” เป็นความร่วมมือระหว่าง สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับภาคีเครือข่ายของภูมิภาคใต้ โดยได้รับการสนับสนุนจากจังหวัดสงขลา, การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.), สำนักงานส่งเสริมการจัดประชุมและนิทรรศการ (องค์การมหาชน) หรือ TCEB, องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) หรือ อพท., เอปสัน (ประเทศไทย), บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด และ บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) พร้อมขยายผลต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมของภาคใต้ เพื่อสร้างการรับรู้สู่สาธารณชนในวงกว้าง สานต่อภารกิจการสร้างสรรค์องค์ความรู้ การสนับสนุนและพัฒนาศักยภาพของผู้คนและธุรกิจในย่าน ตลอดจนเป็นศูนย์กลางที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับคนในพื้นที่ ที่ตอบโจทย์ความต้องการและการเปลี่ยนแปลงของโลกทั้งในปัจจุบันและอนาคต