“น้ำตาลมะพร้าวบางแค”ผู้ผลิตน้ำตาลมะพร้าวจากอัมพวา จ.สมุทรสงคราม เจ้าของผลิตภัณฑ์น้ำตาลนานาชนิด ภายใต้เครื่องหมายการค้าต่าง ๆ เช่น ตรากุหลาบแดง ตราเจดีย์ และตราเสน่ห์อัมพวา อยู่ในตลาดธุรกิจผู้ผลิตน้ำตาลมานานกว่า 25 ปี สร้างชื่อเป็นที่รู้จักและคุ้นเคยของลูกค้าในหลายจังหวัด กลายเป็นวัตถุดิบใช้ประกอบอาหารคาวหวานประจำครัวเรือนไทยมายาวนาน จนปัจจุบัน สร้างอาณาจักรธุรกิจของตัวเองบนพื้นที่กว่า 5 ไร่ ตั้งที่ ต.ท่าคา อ.อัมพวา พัฒนาโรงงานผลิตได้มาตรฐานครบถ้วน พร้อมเดินหน้าต่อเพิ่มกำลังการผลิต และปรับปรุงด้านบริหารจัดการอย่างต่อเนื่อง
แม้จะทำธุรกิจน้ำตาล แต่เส้นทางที่ผ่านมาไม่ได้เจอแต่เรื่องหอมหวาน ต้องล้มลุกคลุกคลาน ฮึดสู้ฝ่าวิกฤตมาหลายครั้ง โดยเฉพาะอุปสรรคด้านการเงินที่เป็นโจทย์หิน แต่การมีธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.) หรือ SME D Bank เป็นเพื่อนร่วมทาง ช่วยสนับสนุนการเงิน ทั้งในช่วงขยับขยายธุรกิจ ตลอดจนเมื่อต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต ช่วยให้สามารถดำเนินกิจการต่อได้อย่างราบรื่น รวมถึงยังส่งเสริมให้เข้าสู่มาตรฐานต่างๆ รองรับการเติบโตในอนาคตอีกด้วย
น้ำตาลมะพร้าวบางแค ไม่ได้เริ่มต้นธุรกิจจากย่านบางแค กรุงเทพมหานคร แต่เป็นชื่อที่มาจาก “วัดบางแคใหญ่” ตั้งอยู่ใน อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม โดย “คุณไมตรี พันธ์พงษ์วงศ์” เติบโตมาในครอบครัวที่ทำกิจการอยู่แถววัดบางแคใหญ่ อ.อัมพวา หลังแต่งงานก็แยกครอบครัวมาทำธุรกิจน้ำตาลมะพร้าว ซึ่งเป็นความชอบส่วนตัวของเขา โดยใช้ชื่อ “น้ำตาลมะพร้าวบางแค” เพื่อระลึกถึงที่มาของพวกเขานั่นเอง
การพัฒนาสินค้าของน้ำตาลมะพร้าวบางแค มองจากความต้องการของลูกค้าเป็นหลัก จากทำน้ำตาลมะพร้าวแบบดั้งเดิม ก็เริ่มพัฒนามาเป็นน้ำตาลชนิดต่างๆ เพื่อนำไปประกอบอาหารประเภทหลากหลายตามความต้องการของลูกค้า เช่น นำไปทำเป็นขนม อาหาร ตลอดจนกลุ่มซอส หรือน้ำจิ้ม เป็นต้น โดยปัจจุบันมีสินค้าอยู่ 3 ตัวหลัก คือ น้ำตาลชนิดพิเศษ น้ำตาลชนิดรอง และน้ำตาลกรวด ภายใต้แบรนด์ที่แตกต่างกันไป ตามกลยุทธ์การขายในแต่ละพื้นที่
“ลูกค้าของเรามีทั้งกลุ่มที่มารับซื้อตรงจากหน้าโรงงานแล้วเอาไปขายต่อ ส่วนหนึ่งเราส่งตามร้านยี่ปั๊วในต่างจังหวัด อีกกลุ่มเป็นผู้ขายที่มาติดต่อเรา แล้วทำสัญญาค้าขายร่วมกัน โดยเราจะทำแบรนด์แบบเฉพาะเจาะจงสำหรับส่งให้กับผู้ขายกลุ่มนี้เท่านั้น เพื่อให้เขาเอาไปทำตลาดในพื้นที่ของเขา ไม่ทับไลน์กับตลาดเดิมของเรา เช่น แบรนด์เสน่ห์อัมพวา ที่ส่งขายไปยังภาคอีสานเป็นหลัก ตรากุหลาบแดง กับตราเจดีย์ จะเน้นโซนภาคตะวันออกและกรุงเทพ ล่าสุดก็มีคนไปทำตลาดภาคใต้และกำลังจะส่งออกไปมาเลเซียอีกด้วย”
ข้อดีของกลยุทธ์นี้ คือ การเพิ่มขีดความสามารถในการทำตลาดให้กับน้ำตาลมะพร้าวบางแค เนื่องจากพวกเขาถนัดขายหน้าโรงงานและชำนาญตลาดพื้นที่โซนภาคตะวันออกเป็นหลัก ดังนั้นการได้ศักยภาพของผู้ค้าที่เชี่ยวชาญในพื้นที่อื่นๆ มาช่วย ก็จะทำให้สามารถปลดล็อคข้อจำกัดที่มีอยู่ได้ อีกทั้ง ส่งสินค้าได้ตรงกลุ่มมากขึ้น ช่วยเดินหน้าธุรกิจต่อไปได้อย่างราบรื่น
แต่ตลอดการทำธุรกิจไม่ได้หอมหวานเหมือนน้ำตาล คุณดวงตาเล่าว่า กว่าจะเติบโตมา ต้องผ่านอุปสรรคปัญหาเยอะมาก ตั้งแต่ขายได้น้อย ทำออกมาแล้วขายไม่ได้ บางช่วงก็ขายไม่ทัน บางครั้งเจอแข่งราคา ไหนจะวิกฤตเศรษฐกิจที่เข้ามาในแต่ละรอบอีก เรียกว่าต้องล้มลุกคลุกคลานมาหลายครั้ง กว่าจะตั้งหลักได้ เช่นเดียวกับช่วงวิกฤตโควิด-19
“ช่วงโควิดยอดขายก็ลดลงตามสภาพ แม้สินค้าอาหารยังพอไปได้เรื่อย ๆ แต่คนส่วนหนึ่งก็ลดการกินการใช้ลง ประหยัดกันมากขึ้น ซึ่งกระทบกับรายได้ของเราในช่วงนั้นไปด้วย เราก็แก้สถานการณ์ทั้งปรับการทำงานของพนักงาน ให้สลับกันหยุดบ้าง แก้สถานการณ์ไปเรื่อย ๆ ซึ่งก็หนักอยู่พอตัว เราก็ต้องมองหาเงินทุนเข้ามาช่วย โชคดีว่าเราเองเป็นลูกค้าของ SME D Bank อยู่แล้ว ก่อนหน้านี้ก็กู้มาเป็นเงินทุนหมุนเวียน เงินทุนค่าก่อสร้างตอนขยายโรงงาน ซึ่งพอเกิดวิกฤตก็ได้รับความช่วยเหลือสินเชื่อดอกเบี้ยพิเศษ รวมถึงยังได้รับการส่งเสริมให้เราเข้าสู่มาตรฐานต่างๆ ซึ่งปัจจุบันโรงงานของเราก็อยู่ระหว่างพัฒนามาตรฐานด้านต่างๆ อย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็น อย. GMP เป็นต้น”
การมีเงินทุนมาสนับสนุนในแต่ละช่วงจังหวะธุรกิจ ทำให้กิจการยังคงเดินหน้าไปได้ไม่สะดุด โดยคุณดวงตา ระบุแผนธุรกิจในอนาคตให้ฟังว่า ขณะนี้โรงงานใหม่อยู่ระหว่างการดำเนินการให้ตรงตามมาตรฐานต่างๆ เมื่อแล้วเสร็จ เชื่อว่าจะยกระดับธุรกิจในหลายๆ ด้าน มีโอกาสพัฒนาแบรนด์ใหม่ๆ เพิ่มมากขึ้น ช่วยให้ขยายตลาดไปได้กว้างขึ้น รวมถึงหากเป็นไปได้ ก็อยากทำตลาดไปต่างประเทศในอนาคตด้วย