ธ.ก.ส. ติดตามการดำเนินมาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยในจังหวัดมหาสารคาม
ธ.ก.ส. ติดตามความคืบหน้ามาตรการพักชำระหนี้ลูกค้ารายย่อยตามนโยบายรัฐบาล ให้กับลูกค้าที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 ก.ย. 66 โดยมีผู้ได้รับสิทธิ์เข้าร่วมมาตรการกว่า 2 ล้านรายทั่วประเทศ ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานจังหวัดมหาสารคาม พร้อมเปิดบูธให้บริการครบวงจร ทั้งการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” การประเมินศักยภาพในการสร้างรายได้และความสามารถในการชำระหนี้ การจัดทำเอกสารต่อท้ายสัญญา ชูศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองเผือก ชุมชนต้นแบบที่เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูอาชีพกับ ธ.ก.ส. เพื่อสร้างความเข้มแข็งในการประกอบอาชีพและการแก้ไขปัญหาหนี้สินอย่างยั่งยืน
นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังและประธานกรรมการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) พร้อมด้วยนายเชษฐา แหล่ป้อง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. ลงพื้นที่ติดตามการดำเนินงานการรับเกษตรกรเข้าสู่มาตรการพักชำระหนี้ สำหรับลูกค้ารายย่อยที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ ทุกสัญญารวมกันไม่เกิน 300,000 บาท ณ 30 กันยายน 2566 โดยมีลูกค้า ธ.ก.ส. ที่ได้รับสิทธิ์ตามมาตรการกว่า 2 ล้านราย ยอดหนี้ทั้งหมดจำนวน 283,000 ล้านบาท ซึ่ง ธ.ก.ส. เปิดให้บริการตรวจสอบสิทธิ์และแจ้งความประสงค์เข้าร่วมมาตรการผ่านแอปพลิเคชัน “BAAC Mobile” ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 โดยติดตามขั้นตอนการปฏิบัติงาน ทั้งการตรวจสอบสิทธิ์ การตรวจสุขภาพหนี้ การทำเอกสารข้อตกลงต่อท้ายสัญญา และการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” พร้อมเติมสินเชื่อเสริมสภาพคล่องในการประกอบอาชีพ วงเงินไม่เกิน 100,000 บาท เพื่อส่งเสริมให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มขึ้นในระหว่างการพักชำระหนี้และป้องกันการก่อหนี้นอกระบบ โดยมีคณะผู้บริหารและพนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่และเกษตรกรลูกค้า เข้าร่วมกิจกรรมกว่า 2,500 คน ณ อำเภอวาปีปทุม อำเภอเมืองมหาสารคาม อำเภอกันทรวิชัย อำเภอเชียงยืน และอำเภอโกสุมพิสัย จังหวัดมหาสารคาม เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2566
นายเชษฐา แหล่ป้อง รองผู้จัดการ ธ.ก.ส. เปิดเผยว่า หลังคณะรัฐมนตรีมีมติเมื่อ 26 ก.ย. 2566 ให้ดำเนินมาตรการในการพักชำระหนี้ให้กับเกษตรกรและบุคคลที่มีสถานะเป็นหนี้ปกติและหนี้ค้างชำระ ที่มีต้นเงินคงเป็นหนี้ทุกสัญญารวมกัน ณ 30 กันยายน 2566 ไม่เกิน 300,000 บาท โดย ธ.ก.ส. ได้เปิดระบบการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน BAAC Mobile ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 – 31 มกราคม 2567 ปัจจุบันมีผู้แจ้งความประสงค์แล้วกว่า 1,191,082 คน (ณ 3 พฤศจิกายน 2566) ซึ่ง ธ.ก.ส. ได้ลงพื้นที่พบปะเกษตรกรและลูกค้ารายย่อยที่เข้าร่วมมาตรการ เพื่อให้บริการและอำนวยความสะดวกในการแจ้งความประสงค์และตรวจสอบสิทธิ์ในการเข้าร่วมมาตรการ โดยสำหรับพื้นที่จังหวัดมหาสารคาม มีเกษตรกรที่ได้รับสิทธิ์ในการเข้าร่วมมาตรการดังกล่าว จำนวนกว่า 46,857 ราย และมีผู้แจ้งความประสงค์ผ่าน แอปพลิเคชัน BAAC Mobile แล้วกว่า 21,424 ราย จำนวนหนี้ 3,260.37 ล้านบาท (ข้อมูล ณ วันที่ 4 พฤศจิกายน 2566)
การดำเนินมาตรการในครั้งนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเสริมแกร่งให้กับเกษตรกรในการประกอบอาชีพระหว่างการพักหนี้ เพื่อให้เกษตรกรมีรายได้เพียงพอและสามารถชำระหนี้ได้ โดยได้เยี่ยมชมการดำเนินงานของศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงบ้านหนองเผือก กลุ่มผู้ผลิตข้าวฮางงอก ที่มีกระบวนการผลิตข้าวที่มีคุณภาพตามมาตรฐานกรมการข้าว โดยมีการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาปรับใช้ในการผลิตและแปรรูปให้ได้มาตรฐานและทันสมัย ซึ่งถือเป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ข้าวฮางงอกให้สามารถจำหน่ายได้ในตลาดที่หลากหลาย โดยชุมชนบ้านหนองเผือกได้เข้าร่วมโครงการฟื้นฟูศักยภาพในการประกอบอาชีพ ภายใต้หลักการ “ตลาดนำ นวัตกรรมเสริม เพิ่มรายได้” โดย ธ.ก.ส. ได้มีส่วนร่วมในการเสริมสร้างทักษะองค์ความรู้ และสนับสนุนเงินทุนผ่านสินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.01 ต่อปี เพื่อให้ทางกลุ่มฯ สามารถนำไปพัฒนาและยกระดับการประกอบอาชีพไปสู่การสร้างรายได้อย่างยั่งยืน