มลพิษทางอากาศอย่างฝุ่น PM 2.5 เป็นปัญหาสำคัญในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และมลพิษเหล่านี้ไม่ได้เกิดสิ่งที่ไกลตัวอย่างโรงงานอุตสาหกรรม หรือการเผาทางการเกษตรเท่านั้น แต่ยังมาจากการใช้ชีวิตประจำวัน รวมถึงกิจกรรมที่จะส่งผู้ล่วงลับเป็นครั้งสุดท้ายอย่างการเผาศพ ซึ่งปัจจุบันถือว่าเตาเผาศพเป็นแหล่งกำเนิดมลพิษที่ต้องถูกควบคุมการปล่อยทิ้งอากาศเสียออกสู่สิ่งแวดล้อม ทั้งวัดและชุมชนจึงเริ่มมีความตื่นตัวในเรื่องของเตาเผาศพที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมากขึ้น
ปัญหาเรื่องเขม่าควันและมลพิษจากการเผาศพเป็นประเด็นที่มีการร้องเรียนอยู่เป็นระยะ เนื่องจากผู้คนในสังคมไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ การจัดพิธีศพจึงทำโดยการเผาเป็นหลัก ปัจจุบันทั่วประเทศไทยมีเตาเผาศพประมาณ 25,000 เตา* บางวัดยังใช้เตาเผาที่ไม่ได้มาตรฐาน หรือเตาเผามาตรฐานระดับที่ 1 เป็นห้องเผาที่ใช้ถ่าน ไม้ และฟืน เป็นเชื้อเพลง ไม่มีการควบคุมอุณหภูมิ และมีประสิทธิภาพในการควบคุมมลพิษต่ำ ก่อให้เกิดกลิ่น ควัน ฝุ่นละออง PM2.5 ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์ ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์ และขี้เถ้าจากการเผาไหม้เชื้อเพลิงซึ่งมาจากการเผาไหม้ที่ไม่สมบูรณ์หรืออุณหภูมิไม่สูงพอ การเผาศพหนึ่งครั้งปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณ 113 กิโลกรัม** เทียบเท่าได้กับการขับขี่รถยนต์เป็นระยะทางกว่า 800 กิโลเมตร ซึ่งสิ่งเหล่านี้ส่งผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนในบริเวณใกล้เคียง
นางพราวนภา ทับทอง ชาวบ้านในพื้นที่ตำบลวังทอง อำเภอภักดีชุมพล จังหวัดชัยภูมิ กล่าวว่า “เมรุเดิมที่วัดนอกจากจะทรุดตัวแล้ว ปล่องยังตัน ทำให้ควันลอยลงข้างล่าง สร้างมลพิษและกลิ่นให้กับชาวบ้านในพื้นที่รอบข้างเป็นอย่างมาก เตารูปแบบเดิมใช้เวลาเผานานประมาณ 3-4 ชั่วโมง และต้องพักเตาอีก 10 ชั่วโมงถึงจะใช้ได้อีกครั้ง ทุกวันนี้ทางวัดต้องลดจำนวนการเผาศพลง หากวัดได้เปลี่ยนมาใช้เตาไฟฟ้า ที่ใช้เวลาเผาแค่ 1 ชั่วโมง และใช้งานได้ต่อเนื่องไม่ต้องพักเตา ก็จะช่วยลดเรื่องมลพิษและกลิ่น ช่วยเบาแรงสัปเหร่อ ไม่มีเศษขี้เถ้า รู้สึกดีใจที่วัดจะได้รับการซ่อมแซมเมรุใหม่ในครั้งนี้”
“เมรุที่วัดห้วยหินฝนทรุดโทรมมากทั้งโครงสร้างและระบบการเผา ชาวบ้านหลายคนมีความกังวลเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะถ้าเมรุที่วัดใช้งานไม่ได้และจำเป็นต้องจัดงานศพ จะต้องเดินทางข้ามหมู่บ้านไปกว่า 5 กิโลเมตร สร้างความลำบากในการเดินทาง ถ้าวัดได้ซ่อมแซมเมรุก็จะทำให้ชาวบ้านคลายกังวลในเรื่องการเดินทางและปัญหาควันและกลิ่นที่ทุกคนในชุมชนต้องประสบทุกครั้งที่มีงาน” นายบำรุง จันดา ชาวบ้านในชุมชนใกล้เคียงวัดห้วยหินฝน กล่าวเสริม
พิธีทอดกฐินธนาคาร ประจำปี 2566 นี้ ‘กรุงศรี ออโต้’ ได้มอบเงินทำบุญจำนวน 2,415,052 บาท จากการร่วมระดมบุญ โดยผู้บริหารและพนักงาน กรุงศรี ออโต้ และ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ทั่วประเทศ ตลอดจนประชาชนทั่วไปผู้มีจิตศรัทธา และแคมเปญส่งเสริมการขาย ‘ได้รถ ได้บุญ’ ของสินเชื่อ ‘กรุงศรี ยูสด์ คาร์’ ที่ร่วมกับพันธมิตรผู้ประกอบการรถยนต์ใช้แล้วในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล
‘กรุงศรี ออโต้’ ได้ร่วมเป็นเจ้าภาพในการจัดพิธีทอดกฐินมาอย่างต่อเนื่อง ไม่เพียงเพื่อให้พนักงานและพันธมิตรได้ทำบุญร่วมกัน แต่เป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการประกอบธุรกิจด้วยความใส่ใจในทุกภาคส่วน ไม่ว่าจะเป็นพนักงาน ลูกค้า คู่ค้า ผู้ใช้รถในประเทศไทย ผู้ถือหุ้น และสังคมไทย โดยเป็นส่วนหนึ่งของแนวคิดในการสร้างคุณค่าร่วม (Creating Shared Values) เพื่อสร้างประโยชน์ให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืน
*ที่มากรมควบคุมมลพิษ ประกาศควบคุมมาตรฐานเตาเผาศพเพื่อรักษาสิ่งแวดล้อม
** ที่มา SDG MOVE