ธ.ก.ส. จัดมาตรการแบ่งเบาภาระหนี้สิน ช่วยเหลือเกษตรกรผู้ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้
ธ.ก.ส. เร่งช่วยเหลือเกษตรกรที่ประสบอุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ มอบหมายให้สาขามอบถุงยังชีพช่วยเหลือพร้อมการสนับสนุนสิ่งของจำเป็น เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในเบื้องต้น พร้อมจัดมาตรการดูแลด้านภาระหนี้สิน ได้แก่ การปรับปรุงโครงสร้างหนี้อย่างยั่งยืน และสินเชื่อเสริมสภาพคล่อง เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉินในการซ่อมแซมที่อยู่อาศัยและเครื่องมือทางการเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก รวมถึงการฟื้นฟูอาชีพสร้างรายได้และการพัฒนาคุณภาพชีวิต วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท
นายฉัตรชัย ศิริไล ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) กล่าวว่า จากสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้แก่ จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา ส่งผลกระทบให้เกิดความเสียหายต่อทรัพย์สินและพื้นที่การเกษตร รวมถึงผลกระทบจากสภาวะเศรษฐกิจชะลอตัวที่เกิดขึ้น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกร ทั้งด้านการใช้ชีวิตและการประกอบอาชีพ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนดังกล่าว เบื้องต้น ธ.ก.ส. ได้มอบหมายให้พนักงาน ธ.ก.ส. ในพื้นที่ ออกเยี่ยมเยียนให้กำลังใจลูกค้า พร้อมมอบถุงยังชีพและสิ่งของที่จำเป็น เพื่อนำไปช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าและประชาชนที่เดือดร้อน การสนับสนุนศูนย์อพยพหรือจุดรวมพลต่าง ๆ โดยการจัดหาอาหาร น้ำดื่ม บริการสุขาเคลื่อนที่ เต็นท์สนาม เป็นต้น นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดมาตรการในการลดภาระหนี้เดิม สำหรับลูกค้าที่มีสถานะหนี้ปกติผ่านมาตรการ 1) การปรับปรุงโครงสร้างหนี้ฟื้นฟูอาชีพ โดยธนาคารจะพิจารณาขยายระยะเวลาการชำระหนี้พร้อมกำหนดชำระหนี้ใหม่ตามศักยภาพที่แท้จริง แต่ไม่เกิน 20 ปี 2) มาตรการจ่ายดอก ตัดต้น เมื่อลูกค้าส่งชำระหนี้ ธนาคารจะแบ่งภาระการตัดชำระหนี้ตามสัดส่วนต้นเงินและดอกเบี้ยในสัดส่วน 50 : 50 ของจำนวนเงินที่ลูกค้าส่งชำระ โดยลูกค้าต้องชำระเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 30 ของจำนวนดอกเบี้ยเงินกู้ทั้งหมด 3) มาตรการจ่ายต้น ปรับงวด โดยธนาคารจะปรับตารางชำระหนี้ใหม่ให้กับลูกค้าให้สอดคล้องกับรายได้และศักยภาพในการชำระหนี้ของลูกค้า เมื่อลูกค้าชำระต้นเงินไม่น้อยกว่าร้อยละ 1 ของจำนวนหนี้ทั้งสัญญา และสำหรับลูกค้า NPLs ธนาคารจะพิจารณาปรับปรุงโครงสร้างหนี้ให้กับลูกค้าตามศักยภาพในการชำระหนี้ โดยเงื่อนไขเป็นไปตามที่ธนาคารกำหนด
นอกจากนี้ ธ.ก.ส. ได้จัดทำมาตรการเสริมสภาพคล่องและฟื้นฟูลูกค้า เพื่อนำไปใช้ในการสร้างหรือซ่อมแซมที่อยู่อาศัย โรงเรือนการเกษตร เครื่องมือ เครื่องจักรกลการเกษตร รวมถึงการฟื้นฟูการผลิตที่ได้รับความเสียหายจากภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ และลดปัญหาการก่อหนี้นอกระบบ วงเงินรวม 10,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 1) สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในครัวเรือนและเสริมสภาพคล่องเกษตรกรในช่วงประสบภัย เช่น ค่าอุปโภคและบริโภคที่จำเป็น ปลอดดอกเบี้ย 6 เดือนแรก และเดือนที่ 7 เป็นต้นไป อัตราดอกเบี้ย MRR (ปัจจุบัน MRR เท่ากับร้อยละ 6.975) วงเงินรายละไม่เกิน 50,000 บาท ระยะเวลาชำระภายใน 3 ปี และ 2) สินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิต เพื่อเป็นค่าซ่อมแซมบ้านเรือนและทรัพย์สิน ค่าซ่อมเครื่องมือและอุปกรณ์การเกษตรที่ได้รับความเสียหาย ค่าใช้จ่ายในการทำการเกษตรรอบใหม่ วงเงินรายละ ไม่เกิน 500,000 บาท อัตราดอกเบี้ย MRR-2 ระยะเวลาชำระคืนไม่เกิน 15 ปี
นายฉัตรชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ทั้งนี้ ภายหลังจากสถานการณ์อุทกภัยคลี่คลายลง ธ.ก.ส. จะเร่งสำรวจความเสียหายที่เกิดขึ้น เพื่อพิจารณาการให้ความช่วยเหลือและฟื้นฟูลูกค้าผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การมอบเงินสมทบทุนการซ่อมแซมหรือสร้างบ้านหลังใหม่ การซ่อมแซมเครื่องจักรการเกษตร และค่าใช้จ่ายเบ็ดเตล็ดที่เกี่ยวเนื่อง ขอให้เกษตรกรอย่ากังวลใจ ธ.ก.ส. พร้อมเข้าไปดูแลและช่วยเหลืออย่างเต็มที่ และสามารถเดินเข้ามาปรึกษา ธ.ก.ส. ได้ทุกสาขาหรือสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ Call Center 02 555 0555 ตลอด 24 ชั่วโมง