ความร่วมมือของสององค์กรชั้นนำระดับโลกเป็นการขับเคลื่อนสำคัญของห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลืองให้ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า
บริษัท กรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) หรือ บีเคพีบริษัทย่อยของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ ผู้นำธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารระดับโลก และบริษัท หลุยส์ เดรย์ฟัส หรือ แอลดีซี ผู้ค้าและแปรรูปสินค้าเกษตรชั้นนำระดับโลก ลงนามบันทึกความเข้าใจ เพื่อสร้างความร่วมมือในการใช้แผนที่ดาวเทียมและข้อมูลการตรวจสอบย้อนกลับในการจัดหาถั่วเหลือง เพื่อสร้างความเชื่อมั่นการจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบีเคพีปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า และร่วมขับเคลื่อนสู่เป้าหมายการลดคาร์บอนให้เป็นศูนย์
กรุงเทพโปรดิ๊วส และแอลดีซี มีเป้าหมายร่วมกันในการพัฒนาห่วงโซ่อุปทานถั่วเหลืองและกากถั่วเหลืองที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าภายในปี 2568 เพื่อตอบสนองความต้องการผู้บริโภคทั่วโลกที่ให้ความสำคัญกับแหล่งที่มาของสินค้ามากขึ้น โดยทั้งสองบริษัทจะร่วมมือกันทั้งทุกมิติ ทั้งด้านการค้า ด้านเทคนิค และความยั่งยืน ครอบคลุมเรื่องการใช้ข้อมูลระบบตรวจสอบย้อนกลับ รวมถึงการประยุกต์ใช้แผนที่ดาวเทียมในการตรวจสอบย้อนกลับถึงแหล่งปลูก เพื่อสร้างความเชื่อมั่นในกระบวนการจัดหาถั่วเหลืองและผลิตภัณฑ์จากถั่วเหลืองจากประเทศบราซิล สำหรับใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ของบีเคพีและซีพีเอฟในประเทศไทย รวมถึงกิจการในภูมิภาคเอเชีย
นายเจมส์ โจว ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการค้า กลุ่มแอลดีซี ผู้บริหารสูงสุดด้านโซลูชั่นอาหารและอาหารสัตว์ และผู้บริหารสูงสุดประจำภูมิภาคเอเชีย กล่าวว่า แอลดีซียินดีที่ได้ร่วมมือกับกรุงเทพโปรดิ๊วสในการดำเนินโครงการนำร่องการตรวจสอบย้อนกลับวัตุดิบทางการเกษตร เพื่อสร้างห่วงโซ่อุปทานที่มีความยั่งยืน และช่วยลดคาร์บอนในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม รับมือต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
“โครงการนี้ยังสอดคล้องกับความมุ่งมั่นของแอลดีซีที่จะส่งเสริมแนวทางปฏิบัติที่ยั่งยืนตลอดทั้งกิจกรรมและการดำเนินธุรกิจของเรา โดยนำโซลูชั่นที่มีประสิทธิภาพตอบสนองความต้องการของลูกค้าและผู้บริโภค เพื่อสนับสนุนอนาคตของการผลิตอาหารและสินค้าเกษตรที่ยั่งยืน” นายเจมส์ โจว กล่าว
ความร่วมมือของทั้งสองบริษัทฯ ยืนยันถึงความมุ่งมั่นในการลดการปล่อยคาร์บอนและบูรณาการห่วงโซ่คุณค่าร่วมกันเพื่อส่งมอบผลิตภัณฑ์และบริการที่ยั่งยืนและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ยังจะแสวงหาโอกาสในการบูรณาการระบบต่างๆที่รวมถึงการถ่ายโอนข้อมูลแบบเรียลไทม์ และปรับปรุงโซลูชันด้านดิจิทัลสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับให้สอดคล้องกับกฎหมายสินค้าปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่าของสหภาพยุโรป (EUDR, Regulation (EU) 2023/1115) รวมถึงมาตรฐานการรับรองความยั่งยืน เช่น Round Table on Responsible Soy (RTRS) การรับรองความยั่งยืนและคาร์บอนระหว่างประเทศ (International Sustainability and Carbon Certification :ISCC) และมาตรฐาน ProTerra ซึ่งเป็นระบบมาตรฐานสากลที่ให้ความสำคัญกับผลิตภัณฑ์เกษตรกรรม ที่ผ่านขั้นตอนการเพาะปลูก เก็บเกี่ยว และนำไปแปรรูป โดยไม่ส่งผลกระทบต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม