สมาคมประกันวินาศภัยไทย จัดสัมมนาการประกันภัย ครั้งที่ 28 ชูแนวคิด ESG เป็นแนวทางการดำเนินธุรกิจประกันวินาศภัยสู่ความยั่งยืน

ดร.สมพร สืบถวิลกุล นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวว่า การดําเนินธุรกิจเพื่อความยั่งยืน (Business Sustainability) ถือเป็นประเด็นที่ทุกภาคส่วนให้ความสําคัญมากขึ้นเป็นลําดับโดยเฉพาะในเวทีระดับนานาชาติ ในส่วนของภาคธุรกิจประกันภัยนั้น องค์การสหประชาชาติได้ร่วมกับธุรกิจประกันภัยจัดทําหลักการประกันภัยที่ยั่งยืน หรือ Principles for Sustainable Insurance มาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2555 เพื่อกําหนดกรอบการดําเนินธุรกิจประกันภัยในระดับนานาชาติ ในการบริหารจัดการความเสี่ยงและแสวงหาโอกาสในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ ESG

สําหรับภาคธุรกิจประกันภัยไทยนั้น สํานักงานคณะกรรมการกํากับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย ได้บรรจุเรื่อง ESG ไว้ในแผนพัฒนาการประกันภัยฉบับที่ 4 ซึ่งครอบคลุมการดําเนินการของสํานักงาน คปภ. ในช่วงปี 2564 – 2568 โดยมุ่งส่งเสริมให้ธุรกิจประกันภัยมีความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และธรรมาภิบาล ในขณะที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้มีการกําหนดวิสัยทัศน์ ยุทธศาสตร์ และแผนการดําเนินงานที่สอดคล้องกัน คือ การกําหนดวิสัยทัศน์ให้สมาคมประกันวินาศภัยไทยเป็นองค์กรที่ส่งเสริมและสนับสนุนให้ธุรกิจประกันวินาศภัยเป็นเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศอย่างยั่งยืน และการกําหนดพันธกิจของสมาคมฯ ในการส่งเสริมให้ธุรกิจประกันวินาศภัยมีภาพลักษณ์ที่ดีเป็นที่ยอมรับในระดับสากล และมีความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม

ธุรกิจประกันวินาศภัยถือเป็นธุรกิจที่ต้องเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วและคาดการณ์ได้ยากของระบบนิเวศประกันภัย เทคโนโลยีที่พัฒนาอย่างก้าวกระโดด พฤติกรรมและความคาดหวังของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงของสภาวะภูมิอากาศซึ่งก่อให้เกิดภัยธรรมชาติที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รวมถึงการเกิดขึ้นของความเสี่ยงอุบัติใหม่ที่ยากต่อการบริหารจัดการก่อให้เกิดความท้าทายในการดําเนินธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้นเป็นลําดับ

ด้วยเหตุนี้ สมาคมประกันวินาศภัยไทย โดยคณะกรรมการพัฒนาธุรกิจและวิชาการประกันภัย จึงได้จัดสัมมนาการประกันภัยครั้งที่ 28 ขึ้น ภายใต้แนวคิด Sustainable Insurance for Sustainable and Resilient Economy” เพื่อเตรียมความพร้อมของภาคธุรกิจประกันวินาศภัยในการรับมือกับการเปลี่ยนแปลงในโลกอนาคต และสามารถทำหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงมืออาชีพให้กับทุกภาคส่วนได้อย่างยั่งยืน โดยได้รับเกียรติจากวิทยากรผู้ทรงคุณวุฒิเปี่ยมด้วยความรู้และประสบการณ์ใน 3 เสาหลักของความยั่งยืน ได้แก่ 1) การพิทักษ์สิ่งแวดล้อม 2) การดำเนินธุรกิจโดยคำนึงถึงสังคม และ 3) ธรรมาภิบาลในการดำเนินธุรกิจ (Environment, Social, and Governance: ESG) มาเติมเต็มแนวคิด ESG และแนวทางการพัฒนาองค์กรอย่างยั่งยืน ประกอบด้วย ดร.เสรี นนทสูติ รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส มูลนิธิสถาบันวิจัยและพัฒนาองค์กรภาครัฐและกรรมการสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม ผู้ทรงคุณวุฒิด้านกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Navigating Human Capital and Culture Transformation for ESG-Driven Society” ดร.ศรายุธ แสงจันทร์ กรรมการผู้จัดการกลุ่ม Health Products and Sustainability บริษัท น้ำตาลมิตรผล จำกัด บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Lead – Adapt – Change” Sustainability in Action นางบุญรักษ์ อุดมอิทธิพงศ์ รองผู้อำนวยการ ธนาคารออมสิน กลุ่มทรัพยากรบุคคล บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Bank” Making Positive Impact on Society ผู้ช่วยศาสตราจารย์ นายแพทย์เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ ที่ปรึกษามูลนิธิรากแก้ว คณะกรรมการบริหารเครือโรงพยาบาลบางปะกอก-ปิยะเวท อดีตสมาชิกวุฒิสภา อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ บรรยายพิเศษ หัวข้อ “Social Enterprise” Doing Good and Doing Well

“การสัมมนาในครั้งนี้ สมาคมฯ ชูแนวคิดเรื่อง ESG ในการดำเนินธุรกิจ ซึ่งผมถือว่าเป็นเรื่องที่สำคัญและได้รับความสนใจจากบริษัทสมาชิกและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเอกชน และเป็นหนึ่งในภารกิจสําคัญที่สมาคมประกันวินาศภัยไทยได้ยึดถือและปฏิบัติต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า 56 ปี ของการก่อตั้งสมาคมฯ ในการจัดกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจประกันภัย ซึ่งมีส่วนช่วยจุดประกายความคิดและมุมมองที่เป็นประโยชน์ต่อผู้บริหารของภาคธุรกิจประกันภัย และเป็นเวทีในการพบปะสังสรรค์แลกเปลี่ยนประสบการณ์ พร้อมพัฒนาแนวทางในการดำเนินการด้าน ESG เพื่อเสริมความเข้มแข็งและขีดความสามารถของธุรกิจประกันวินาศภัยในการทําหน้าที่เป็นผู้บริหารความเสี่ยงให้กับภาครัฐและเอกชนแบบมืออาชีพต่อไป”

สมาคมประกันวินาศภัยไทย ตระหนักถึงความสำคัญของการพัฒนาธุรกิจประกันภัยอย่างยั่งยืน จึงมุ่งเน้นพัฒนาแนวทางในการดําเนินการด้าน ESG ให้บริษัทประกันวินาศภัยมีการบริหารจัดการความเสี่ยงแบบองค์รวม มีการกำกับดูแลกิจการที่ดี คำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียอย่างรอบด้านในระยะยาว พร้อมทำหน้าที่เป็นหนึ่งในเสาหลักของระบบเศรษฐกิจและสังคมของประเทศให้เติบโตอย่างยั่งยืน นายกสมาคมประกันวินาศภัยไทย กล่าวทิ้งท้าย