RISC ร่วมเป็นพันธมิตรหลักในงาน Brain Hackathon สนับสนุนการพัฒนาเยาวชนและองค์ความรู้เกี่ยวกับสมองและการรับรู้ ปูทางสู่การพัฒนาปัญญาประดิษฐ์อย่างมีประสิทธิภาพ
ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC) ภายใต้ MQDC (บริษัท แมกโนเลีย ควอลิตี้ ดีเวล็อปเม้นต์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด) ย้ำจุดยืนส่งเสริมการพัฒนาองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuro Science) สร้างความแข็งแกร่งและเครือข่ายบุคลากรคุณภาพเพื่อวางรากฐานให้กับประเทศไทยก่อนต่อยอดสู่นวัตกรรมปัญญาประดิษฐ์ (AI) ผ่านการสนับสนุนกิจกรรม Brain Hackathon พร้อมเผย RISC เป็นศูนย์วิจัยเอกชนรายแรกที่เล็งเห็นศักยภาพของผลงานเยาวชนที่ชนะเลิศจากการแข่งขันมาต่อยอดสู่นวัตกรรมเพื่อความเป็นอยู่ที่ดี เพื่อให้สามารถนำมาใช้ได้อย่างเป็นรูปธรรมในชีวิตจริง โดยอาจจะนำมาใช้กับโครงการอสังหาริมทรัพย์ที่พัฒนาโดย MQDC ในอนาคต
Brain Hackathon เป็นกิจกรรมการประลองแนวคิดและสร้างโปรเจคโดยการนำทักษะด้าน Coding & AI มาประยุกต์กับองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (Neuroscience) ภายใต้โครงการพัฒนาความรู้และทักษะเยาวชนระดับมัธยมศึกษา อุดมศึกษาและวัยทำงานที่มีศักยภาพด้านประสาทวิทยาการคำนวณ ด้วยการเปิดโอกาสให้เยาวชนเหล่านี้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับประสาทวิทยาศาสตร์ กระบวนการทำงานของสมอง พร้อมพัฒนาทักษะด้าน Coding AI เพื่อสร้างโมเดลถอดรหัสสมอง และเสนอไอเดียที่สามารถพัฒนาเป็นนวัตกรรมต่อไปในอนาคต
ทั้งนี้ โครงการนี้ได้รับการสนับสนุนหลักจากหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนากำลังคน และทุนด้านการพัฒนาสถาบันอุดมศึกษา การวิจัยและการสร้างนวัตกรรม (บพค.) ภายใต้กองทุนส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหิดล ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ และพันธมิตรจากภาคธุรกิจ ซึ่ง RISC และพันธมิตรร่วมเครือ MQDC อย่าง IDYLLIAS และ MQDC ได้ร่วมงาน และเป็นพันธมิตรหลักจากภาคธุรกิจในงานปีนี้ด้วย
ทีมเยาวชนผู้รับรางวัลอันดับ 1 สายประยุกต์ มี 2 ทีม คือ “ทีม LIMITLESS” กับโปรเจ็คการใช้กลิ่นลดความเครียด และ “ทีม We Who Remain” กับโปรเจ็ค They Who Speak การใช้เทคโนโลยีช่วยให้ผู้มีความบกพร่องทางการพูดสามารถสื่อสารได้สะดวกขึ้น และสายวิชาการ ทีมที่ได้อันดับ 1 มี 2 ทีมเช่นกัน คือ “ทีม Placeholder” ภายใต้โครงการ NeuroDev กับโปรเจ็คศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างสมองกับสมาธิของคนในแต่ละช่วงอายุ และ “ทีมที่ 1” ภายใต้โครงการ DrugDisco กับโปรเจ็ค NMDA Receptor-targeted Drug Screening Framework for Neurological Disease
รศ. ดร. สิงห์ อินทรชูโต หัวหน้าคณะที่ปรึกษา ศูนย์วิจัยและนวัตกรรมเพื่อความยั่งยืน (RISC), MQDC กล่าวว่า “ปัญญาประดิษฐ์หรือ AI คืออนาคตของมนุษย์ แต่องค์ความรู้และผู้เชี่ยวชาญเรื่องนี้ในประเทศไทยยังมีน้อยมาก เราต้องเร่งสร้างความแข็งแกร่งให้ประเทศไทยในด้านนี้เสียก่อน ถ้าเราจะเร่งพัฒนาปัญญาประดิษฐ์โดยไม่เข้าใจปัญญาที่เกิดจากกระบวนการทำงานของสมองตามธรรมชาติ เราจะไม่สามารถสร้าง AI ที่สมบูรณ์ได้ ทุกวันนี้เรามักพูดกันว่าในอนาคต AI จะเข้ามาแทนคน จะมีความสร้างสรรค์และฉลาดมากขึ้น แต่ถ้าวันนี้เราไม่เริ่มสร้างองค์ความรู้และคนจำนวนมากที่เข้าใจการทำงานของสมองจริงๆ เราจะพัฒนา AI ที่มีความสร้างสรรค์และบ่มเพาะมนุษย์รุ่นใหม่ที่อยู่กับ AI ได้อย่างชาญฉลาดได้อย่างไร
“MQDC ให้ความสำคัญกับ Happiness Science หรือการสร้างความสุขด้วยความรู้ทางวิทยาศาสตร์ ประยุกต์ความรู้กับการสร้างอาคาร เมือง และสิ่งแวดล้อมที่สร้างความสุข ซึ่งต้องอาศัยความเข้าใจความรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสมอง เพราะสมองคืออวัยวะสำคัญที่บอกเราว่าเรามีความสุขหรือไม่ เราจึงให้การสนับสนุนการสร้างองค์ความรู้และระบบนิเวศที่สนับสนุนองค์ความรู้ด้านประสาทวิทยาอย่างจริงจังเช่นการสนับสนุนกิจกรรม Brain Hackathon ครั้งนี้ การบุกเบิกนวัตกรรมเป็นดีเอ็นเอของ MQDC เราพูดเรื่องความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Well-Being มาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีก่อนในขณะที่สังคมเพิ่งจะเริ่มมาตื่นตัวเรื่องนี้กันในปัจจุบัน MQDC จึงได้ใช้งบประมาณ 2% ของรายได้เพื่อลงทุนด้านการวิจัยและสร้างนวัตกรรม รวมถึงการช่วยเหลือสังคม จะเห็นได้ว่า MQDC มุ่งมั่นปูรากฐานที่แข็งแกร่งให้สังคมไทยตลอดทั้งกระบวนการตั้งแต่การสร้างองค์ความรู้ การพัฒนา ไปจนการนำไปใช้ได้จริงอย่างที่เห็นในโครงการต่างๆ ของเรา” ดร.สิงห์กล่าวย้ำ
นอกจากนี้ Happiness Science จะเป็นส่วนหนึ่งที่ MQDC จะนำไปใช้ต่อยอดในการพัฒนาศาสตร์ต่างๆ เพื่อนำไปใช้จริงกับโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ในเครือให้มีองค์ประกอบในการสร้างโครงการเพื่อสร้างสุขที่ยั่งยืนแก่ผู้อยู่อาศัย หรือ For All Well-Being ตามพันธกิจของ MQDC ได้ โดยผลงานจากการประกวด Brain Hackathon นี้ก็มีโอกาสที่จะได้รับการพัฒนาต่อยอดเพื่อนำไปใช้จริงกับการพัฒนาโครงการของ MQDC ได้ในอนาคต
กิจกรรม Brain Hackathon ใช้เวลาทั้งหมด 10 สัปดาห์เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน 2566 ถึงกลางเดือน มค ที่ผ่านมา โดยมีนักเรียนนักศึกษาระดับมัธยมปลาย อุดมศึกษา ที่ได้รับคัดเลือกให้เข้าร่วมการแข่งขันรวม 100 คนแบ่งเป็น15 ทีมจากจำนวนผู้สนใจจากทั่วประเทศกว่า 300 คน ผู้เข้าร่วมทั้งหมดได้รับโจทย์ทั้งจากพันธมิตรภาครัฐและเอกชนของโครงการ โดยแบ่งเป็นโจทย์สายวิชาการและสายประยุกต์
ผู้เข้าร่วมโครงการได้เรียนรู้เกี่ยวกับกระบวนการทำงานของสมอง ซึ่งเป็นความรู้พื้นฐานที่แต่ละทีมเพื่อจะนำไปทำการถอดรหัสสมอง วิเคราะห์สัญญาณคลื่นสมองและพฤติกรรม เพื่อสร้างโมเดลที่จะต่อยอดไปเป็นนวัตกรรมเพื่อสร้างคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืนและมีความสุข โจทย์ตัวอย่างเช่น การพัฒนานวัตกรรมที่เรียนรู้และปรับอารมณ์ของผู้อยู่อาศัยในบ้านเพื่อสุขภาพใจที่ดี หรือการควบคุมสภาพแวดล้อมเพื่อลดแนวโน้มความเจ็บป่วยทางกายและใจ หรือการสร้างนวัตกรรมที่จะช่วยบำบัดผู้ป่วยที่มีข้อจำกัดในการเคลื่อนไหวร่างกาย (BCI-based assistive tools for disabilities) เป็นต้น
นอกจากนี้ RISC ยังได้จัดเวิร์คช็อปสร้างประสบการณ์เกี่ยวกับการรับรู้ของสมอง และการวัดสัญญาณสมอง การใช้เทคโนโลยีด้าน VR และการใช้ปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำงานวิจัยและสร้างนวัตกรรมทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้ตอบโจทย์ด้านการแพทย์ การศึกษา และธุรกิจ เป็นต้น โดยผู้ที่ร่วมโครงการได้เข้าเวิร์คช็อปที่ห้องปฏิบัติการ Happiness Science ณ สำนักงานใหญ่ DTGO CampUs ในกิจกรรม “Neuroworkshop: Eye-tracking Workshop with VR and Illusion Experiment นำโดยทีมนักวิจัย RISC, MQDC” และ “Neuroworkshop: AI Influencer นำโดยทีมงาน IDYLLIAS, MQDC“ ซึ่งผู้เข้าร่วมโครงการได้ทำการทดลองและใช้เทคโนโลยีต่าง ๆในโครงการที่ RISC จัดให้ดังกล่าวด้วย
ผศ.ดร.ศิรวัจน์ อิทธิภูริพัฒน์ หัวหน้าศูนย์วิจัยและนวัตกรรมประสาทวิทยาศาสตร์ สถาบันการเรียนรู้ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรีในฐานะหัวหน้าโครงการ Brain Hackathon กล่าวว่า “โครงการ Brain Hackathon ในปีแรกนี้ถือว่าประสบความสำเร็จตามคาด น้องๆ ในสายวิชาการเอง มีศักยภาพและความสามารถด้านการวิจัยพอที่จะเข้าร่วมการประชุมวิชาการระดับนานาชาติได้เลย ส่วนสายประยุกต์ก็มีวิสัยทัศน์ มีไอเดียน่าสนใจ โครงการนี้คือจุดเริ่มต้นของการสร้างองค์ประกอบพื้นฐานที่จะส่งเสริมให้เกิดการสร้างองค์ความรู้ใหม่ๆและคนรุ่นใหม่ให้สามารถนำความรู้เกี่ยวกับสมองมาประยุกต์ใช้ได้ มีศักยภาพที่จะศึกษาเกี่ยวกับสมองให้ลึกซึ้งมากขึ้น และยังเป็นการสร้างเครือข่ายผู้รู้ เพื่อต่อยอดไปสู่การแลกเปลี่ยนความรู้ความร่วมมือด้านนวัตกรรมในอนาคต”
ทีมที่ RISC เป็น Mentor ทั้งสองทีม ได้แก่ ทีม “งูพันลิงขี่กระบือ” ซึ่งศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างพื้นที่สีเขียวป่าและการดูดซับหรือลดมลภาวะทางอากาศภายในเมือง เนื่องจากมลภาวะเป็นสาเหตุสำคัญอันหนึ่งที่ทำให้เกิดโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือด (Vascular Dementia) ซึ่งมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น การใช้พื้นที่สีเขียวและป่าเพื่อช่วยให้คนมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ลดความเสี่ยงต่อโรคสมองเสื่อมจากหลอดเลือดสมองได้ และทีม “LIMITLESS” ซึ่งนำความรู้เกี่ยวกับการรับรู้ของสมองมาสร้างกลิ่นภายในอาคารเพื่อช่วยลดความเครียดและเพิ่มความสุขโดยใช้เซนเซอร์และ IOT ในการวัดระดับความเครียดของคนก่อนจะสั่งให้ระบบปล่อยกลิ่นหอมที่ช่วยลดความเครียด นอนหลับง่ายขึ้น เพิ่มความสุขในการอยู่อาศัย
“ในโครงการ Brain Hackathon เราได้เรียนรู้กระบวนการครบทั้งหมด ตั้งแต่การเรียนรู้เรื่องสมอง การนำไปใช้ในการสร้างสุขภาวะและการเป็นอยู่ที่ดี ทักษะด้านเทคโนโลยี และได้นำความรู้เหล่านี้มาผสมผสานกันสร้างเป็นโครงการที่เราจับต้องได้ และได้เรียนรู้จากคนเก่งๆ ที่ทำงานด้านนี้โดยตรง เป็นประโยชน์มาก” ทีมงูพันลิงขี่กระบือกล่าว
ทีมชนะเลิศ จะได้รับเงินรางวัล 25,000 บาทและเปิดโอกาสให้ฝึกงานกับทีม RISC เพื่อเพิ่มพูนความรู้จากการทำงานวิจัยและต่อยอดนวัตกรรมประยุกต์ใช้จริง นอกจากนี้ ผลงานที่สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานของ MQDC ในการพัฒนาที่อยู่อาศัย เมืองอัจฉริยะที่มีสภาพแวดล้อมส่งเสริมการพัฒนาคุณภาพชีวิตอย่างยั่งยืน มีโอกาสจะได้รับการพัฒนาต่อยอด เพื่อให้เกิดนวัตกรรมที่นำไปสู่การใช้งานจริงในโครงการของ MQDC และส่งต่อนวัตกรรมเพื่อสร้าง Well-Being รูปแบบต่างๆ สู่สังคมในวงกว้างต่อไป
ผู้ที่สนใจสามารถดูข้อมูลเพิ่มเติมเกี่ยวกับผู้ชนะและรายละเอียดโครงการที่เข้ารอบสุดท้ายได้ที่ https://sites.google.com/view/brainhackathon/winner