บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM ผู้ให้บริการทางพิเศษและรถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงินและสายสีม่วง ได้ดำเนินการออกและเสนอขายหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนชนิดระบุชื่อผู้ถือ ประเภทไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีประกัน ให้กับผู้ลงทุนสถาบัน และ/หรือ ผู้ลงทุนรายใหญ่ (Institutional Investors and/or High Net Worth Investors) มูลค่าเสนอขายรวม 5,000 ล้านบาท ซึ่งประสบความสำเร็จและมียอดจองมากกว่า 5.2 เท่า จากเดิมที่บริษัทตั้งเป้าหมายในการเสนอขายหุ้นกู้ที่ 3,000 ล้านบาท หุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนของบริษัท BEM นับว่าเป็นหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนแรกที่มีการออกและเสนอขายในปีพ.ศ. 2567 ประกอบด้วยหุ้นกู้ทั้งหมด 5 ชุด อายุ 3 – 12 ปี อัตราดอกเบี้ยคงที่ 3.07 % – 4.05 % ต่อปี ซึ่งได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือจากบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด ที่ระดับ “A-” เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 โดยมีธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) และธนาคารออมสิน ทำหน้าที่เป็นผู้จัดการการจัดจำหน่ายหุ้นกู้
ดร.สมบัติ กิจจาลักษณ์ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BEM กล่าวว่า “บริษัทขอขอบคุณนักลงทุนทุกท่าน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน กลุ่มบริษัทประกันชีวิต กลุ่มธนาคาร และกลุ่มสหกรณ์ ที่ให้การสนับสนุนและเลือกลงทุนในหุ้นกู้ของ BEM โดยเล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการที่บริษัทดำเนินการอยู่ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เมื่อดูจากยอดจองซื้อหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนในครั้งนี้ก็จะเห็นได้ว่านักลงทุนพร้อมที่จะสนับสนุนหาก BEM มีโครงการดี ๆ เพิ่มขึ้นในอนาคต โดยบริษัทจะมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนตามกรอบ ESG เพื่อสร้างการเติบโตที่แข็งแกร่งให้กับบริษัทและความยั่งยืนให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม การออกหุ้นกู้เพื่อความยั่งยืนครั้งนี้นับเป็นการออกหุ้นกู้ครั้งที่สี่ภายใต้กรอบหลักเกณฑ์การระดมทุนเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Financing Framework) ซึ่งตรงตามเกณฑ์คัดกรองทางเทคนิค (Technical Screening Criteria) ของมาตรฐานการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมของประเทศไทย (Thailand Taxonomy) ระยะที่ 1 ที่เพิ่งมีการประกาศออกมาเมื่อเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2566 โดยมี DNV (Thailand) Co., Ltd. เป็นผู้ชำนาญการอิสระ (Second Party Opinion) เงินที่ได้จากการจำหน่ายหุ้นกู้จะนำไปใช้เพื่อชำระคืนหนี้เดิม และ/หรือ เงินลงทุนเดิม (Refinance) ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ซึ่งเป็นธุรกิจขนส่งที่ใช้พลังงานสะอาด ช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่เกิดจากการเดินทางโดยรถยนต์ และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงระบบขนส่งมวลชนที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานได้สะดวก”