นายกรัฐมนตรี ชื่นชมความร่วมมือร่วมใจกันของพลังภาคีเครือข่าย ที่หลอมรวมกับพลังความรู้จากการบูรณาการงานวิจัยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธรและมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ร่วมกับหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ในการจุดประกายอุทยานการเรียนรู้ยะลา หนุนเสริมให้เทศบาลนครยะลา ขึ้นทำเนียบภาคีเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก (The UNESCO Global Network of Learning Cities: GNLC) ประจำปี 2567
นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี แสดงความชื่นชมและประทับใจอุทยานการเรียนรู้ยะลา ที่เป็นจุดนัดพบของความร่วมแรงร่วมใจของภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วนในพื้นที่ และสถาบันความรู้ ซึ่งผลักดันให้นครยะลาเป็นนครแห่งการเรียนรู้ และได้รับการขึ้นทะเบียนเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโกประจำปี 2567 ในโอกาสเดินทางตรวจราชการในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ และเยี่ยมชมอุทยานการเรียนรู้ยะลา โดยมีคณะผู้บริหารเทศบาลนครยะลา และสมาชิกสภาเทศบาลนครยะลา ตลอดจนประชาชนนครยะลาให้การต้อนรับ
แนวทางการขับเคลื่อนยะลาสู่เมืองแห่งการเรียนรู้ กระทั่งประสบความสำเร็จอย่างสูงยิ่งเมื่อยูเนสโกขึ้นทะเบียนเทศบาลนครยะลา เป็นภาคีเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ปี 2567 เป็นการต่อยอดขยายผลส่วนหนึ่งมาจากองค์ความรู้จากการวิจัยโครงการวิจัยเรื่อง ยะลาเมืองแห่งการเรียนรู้: กระบวนการสร้างสรรค์เมืองแบบมีส่วนร่วมบนความหลากหลายทางชีวภาพและวัฒนธรรม โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร ร่วมกับกลุ่มเยาวชน ชาวเมืองยะลา และเครือข่ายภาคประชาสังคมในพื้นที่ และโครงการวิจัยการพัฒนาเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อยกระดับเศรษฐกิจด้วยสถาปัตยวัฒนธรรมผ่านพื้นที่การเรียนรู้เมืองเก่ายะลา รวมทั้งโครงการวิจัยสานพลังเครือข่ายการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่เพื่อส่งเสริมการรู้หนังสือของนักเรียนในพื้นที่นวัตกรรมการศึกษาจังหวัดยะลา โดยคณะวิจัย มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจากหน่วยบริหารและจัดการทุน ด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) สำนักงานสภานโยบายการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรมแห่งชาติ (สอวช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.)
รศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม รองผู้อำนวยการฝ่ายแผนและยุทธศาสตร์องค์กร บพท.กล่าวว่า ชุดโครงการวิจัย โดยศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร และมหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา มุ่งวางแนวทางการพัฒนาเมืองยะลา ให้เป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ตลอดชีวิต ที่ขับเคลื่อนด้วยข้อมูล ใช้ความรู้ท้องถิ่น และเศรษฐกิจเชิงวัฒนธรรมที่มีอยู่หลากหลาย เป็นฐานในการพัฒนาเมืองให้เติบโต ด้วยระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ให้ได้มากที่สุด ทั้งนี้เพื่อความสอดคล้องกับนิยามความเป็นเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก ซึ่งหมายถึงเมืองที่ส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้แก่ประชาชนทุกคนที่อยู่ร่วมกันในท้องถิ่นอย่างเท่าเทียม โดยการระดมทรัพยากร ความร่วมมือ ในการสร้างกลไกในพื้นที่ของภาคีเครือข่าย ได้แก่กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) TK.Park อุทยานการเรียนรู้ ภาคส่วนราชการ ภาคส่วนเอกชน และประชาชนในพื้นที่ โดยมีแกนหลักสำคัญคือเทศบาลนครยะลาในการบริหารจัดการทรัพยากรแบบมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการเรียนรู้ ทำให้ความรู้เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ และตอบโจทย์ความหลากหลายของคนในเมืองนั้น
ปัจจุบัน ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกเครือข่ายระดับโลกด้านเมืองแห่งการเรียนรู้ของยูเนสโก หรือองค์การการศึกษาวิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization-UNESCO ) รวมทั้งสิ้น 10 เมือง ได้แก่ เทศบาลนครเชียงราย เทศบาลนครเชียงใหม่ เทศบาลนครภูเก็ต เทศบาลเมืองฉะเชิงเทรา จังหวัดสุโขทัย จังหวัดพะเยา เทศบาลนครหาดใหญ่ กรุงเทพมหานคร เทศบาลนครขอนแก่น และเทศบาลนคร