กรุงเทพมหานคร โดยสำนักงานเขตหนองจอก ร่วมกับ บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ หนุนนโยบายปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้นของ กทม. สร้างพื้นที่สีเขียวเป็นกำแพงกรองฝุ่นทั่วกรุง คิกออฟพัฒนาพื้นที่ว่างเปล่าที่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ของ กทม. สู่ “ศูนย์การเรียนรู้ ป่าฉลาดพลาดไม่ได้” เป็นแหล่งเรียนรู้และแหล่งนันทนาการให้ประชาชนในพื้นที่
นายไพโรจน์ จันทรอด ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เป็นประธานในกิจกรรม “KICK OFF ศูนย์การเรียนรู้ ป่าฉลาดพลาดไม่ได้” ร่วมกับ นายณฤกษ์ มางเขียว กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซีพีเอฟ ฟู้ด แอนด์ เบฟเวอร์เรจ จำกัด ธุรกิจอาหารสำเร็จรูป ในกลุ่มของซีพีเอฟ พร้อมด้วย นางกอบบุญ ศรีชัย ผู้บริหารสูงสุด สายงานกิจการองค์กรและลงทุนสัมพันธ์ ซีพีเอฟ คณะผู้บริหารกทม. และ ซีพีเอฟ ผู้อำนวยการโรงเรียนบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) 4 คณะครูและนักเรียน สมาชิกสภา กทม. เขตหนองจอก สส.กทม. ตลอดจนผู้กำกับการสถานีตำรวจนครบาลลำผักชีและสุวินทวงศ์ ร่วมกันปลูกต้นไม้ บริเวณแปลงป่าสีสันพรรณไม้ดอก พื้นที่ข้างโรงเรียนบดินทรเดชาฯ 4 แขวงลำต้อยติ่ง สนับสนุนเป้าหมาย กทม. ปลูกต้นไม้ 1 ล้านต้น และร่วมฉลอง “วันความหลากหลายทางชีวภาพ” 22 พฤษภาคมของทุกปี
“ขอขอบคุณซีพีเอฟ ที่ร่วมมือกับเขตหนองจอก กทม. มาปลูกป่าในวันนี้ เป็นการสร้างปอดให้กับคนกรุงเทพ และยังคืนประโยชน์กลับสู่สังคมด้วย” ผู้อำนวยการเขตหนองจอก กล่าว
นายกฤษณ์ ศรีเคลือบ นักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 โรงเรียนบดินทรเดชาฯ 4 กล่าวว่า ความร่วมมือในกิจกรรมปลูกต้นไม้ในวันนี้ จะช่วยสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีให้กับคน กทม. ช่วยลดโลกร้อน และบรรเทาปัญหาภาวะก๊าซเรือนกระจก อยากเชิญชวนให้ทุกคนร่วมกันปลูกต้นไม้เพื่อสร้างอากาศที่ดี เช่นเดียวกับ นางสาวลภาภัทร จ้ำเหล่ นักเรียนชั้นเดียวกัน เสริมว่ากิจกรรมนี้ยังช่วยเพิ่มพื้นที่สีเขียวรอบๆโรงเรียนของเราและแก้ปัญหามลพิษทางอากาศ ที่สำคัญพื้นที่ปลูกต้นไม้อยู่ใกล้โรงเรียน ทำให้พวกเรามีโอกาสที่จะมาช่วยดูแลให้ต้นไม้เจริญเติบโต
ในส่วนของ ซีพีเอฟ มีโครงการด้านสิ่งแวดล้อม ทั้งเพื่ออนุรักษ์ ฟื้นฟู ปลูกป่าใหม่ เพื่อเพิ่มพื้นที่ป่าต้นน้ำและป่าชายเลน รวมไปถึงการเพิ่มพื้นที่สีเขียวในสถานประกอบการ อาทิ โครงการซีพีเอฟ รักษ์นิเวศ ลุ่มน้ำป่าสัก เขาพระยาเดินธง จังหวัดลพบุรี โดยต้นทางของกล้าไม้ที่นำมาปลูกในเขตหนองจอก จำนวน 35 ชนิด รวมกว่า 600 ต้น มาจากพื้นที่โครงการฯ ดังกล่าว ด้วยการคัดเลือกชนิดพันธุ์ไม้ที่เหมาะสมกับพื้นที่ลุ่มต่ำของ กทม. เป็นพันธุ์ไม้ที่มีค่าทางเศรษฐกิจ ดูแลให้แกร่งโดยชุมชน เป็นการส่งเสริมชุมชนรักษาป่าและมีรายได้จากการเพาะพันธุ์กล้าไม้ นอกจากนี้ ยังเป็นการสานต่อกิจกรรมนำร่องเมื่อ ปี 2565 ซึ่งบริษัทฯได้นำกล้าไม้มาแจกให้แก่คนใน กทม. นำไปปลูกในพื้นที่อยู่อาศัย ปัจจุบัน กิจการในประเทศไทยและกิจการต่างประเทศ (ข้อมูลจาก 8 ประเทศ) ของซีพีเอฟ ดำเนินการอนุรักษ์ ฟื้นฟู และปลูกป่าใหม่ไปแล้วกว่า 6.85 ล้านต้น บนพื้นที่ 19,932 ไร่ ช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่า 4.8 หมื่นตันต่อปี