กฟผ. จับมือ กรุงไทย สนับสนุนเงินฝากสีเขียวมาตรฐานสากล ผ่านบัญชีการดำเนินงานหลัก ขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสู่ความยั่งยืน

การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) จับมือ ธนาคารกรุงไทย ขยายความร่วมมือเงินฝากสีเขียว ภายใต้หลักเกณฑ์ Green Financing Framework นำบัญชีการดำเนินงานหลักของ กฟผ. เข้าร่วมโครงการเงินฝากสีเขียว นับเป็นครั้งแรกของธนาคารพาณิชย์ไทย เพื่อสนับสนุนสินเชื่อในโครงการเพื่อสิ่งแวดล้อม ตอกย้ำความเป็นผู้นำด้านนวัตกรรม ESG Financial Solution สนับสนุนเป้าหมายของทั้งสององค์การ ในการพัฒนาสิ่งแวดล้อม พร้อมยกระดับสังคมไทยสู่ความยั่งยืน

นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. กล่าวว่า กฟผ. ตระหนักถึงความสำคัญและมุ่งมั่นส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน เร่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน มุ่งสู่การเป็นผู้ให้บริการพลังงานสีเขียวอย่างครบวงจรในระดับภูมิภาค โดยร่วมกับธนาคารกรุงไทยสนับสนุนธุรกรรม “เงินฝากสีเขียว” (Green Deposits) ผ่านบัญชีการดำเนินงานหลัก (Main Operating Account) ภายใต้หลักเกณฑ์ Green Financing Framework ที่มีมาตรฐาน เพื่อให้ธนาคารกรุงไทยนำเงินไปสนับสนุนสินเชื่อโครงการที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น การสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน การเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน การสร้างอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของ กฟผ. ที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาดและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งยังคงยึดมั่นภารกิจรักษาความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศ ควบคู่กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยคำนึงถึงผู้มีส่วนได้เสียทุกภาคส่วน สอดคล้องกับแนวคิด EGAT for ALL” กฟผ. เป็นของทุกคนและทำเพื่อทุกคน

นายผยง ศรีวณิช กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย เปิดเผยว่า ธนาคารกรุงไทยมุ่งมั่นพัฒนาบริการทางการเงิน ขับเคลื่อน “นวัตกรรมสร้างคุณค่า ตอบโจทย์ลูกค้า สู่ความยั่งยืน” ทั้งในมิติของการเพิ่มศักยภาพในการทำธุรกิจ และการสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับสังคมและสิ่งแวดล้อม สนับสนุนเป้าหมายการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emission) ตามแนวทางของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในการส่งเสริมให้ภาคการเงินมีผลิตภัณฑ์ที่ช่วยสนับสนุนเงินทุนให้ภาคธุรกิจเปลี่ยนผ่านสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อมได้อย่างเป็นรูปธรรม โดยธนาคารได้ร่วมมือกับ กฟผ. ผู้นำในการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานไฟฟ้าของประเทศไทย ดำเนินโครงการเงินฝากสีเขียว สกุลดอลลาร์สหรัฐสำหรับบัญชีการดำเนินงานหลัก ภายใต้หลักเกณฑ์ Green Financing Framework ของธนาคาร นับเป็นความร่วมมือครั้งสำคัญในการขับเคลื่อนธุรกิจพลังงานสนับสนุนภาคเศรษฐกิจเปลี่ยนผ่านเศรษฐกิจไปสู่ความยั่งยืนด้านสิ่งแวดล้อม

ความร่วมมือในครั้งนี้ นับเป็นครั้งแรกของธุรกิจธนาคารพาณิชย์ไทย ที่ได้บริหารจัดการบัญชีดำเนินงานหลักให้กับองค์กรในรูปแบบเงินฝากสีเขียว โดย กฟผ. ใช้บัญชีดำเนินงานหลักสำหรับทำธุรกรรมทางการเงินต่าง ๆ ทั้งการฝาก ถอน โอน ชำระเงิน รวมถึงการบริหารจัดการความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งธนาคารจะนำเงินจากบัญชีการดำเนินงานหลักดังกล่าวของ กฟผ. มาสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวของธนาคาร เพื่อสิ่งแวดล้อมที่ดีขึ้น โดยมีข้อตกลงร่วมกันเรื่องเงินฝากขั้นต่ำเพื่อความต่อเนื่องในการสนับสนุนสินเชื่อสีเขียวได้อย่างมีประสิทธิภาพ ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรง (Scope 1 :Direct Emission) และทางอ้อม (Scope 2 :Indirect Emission) ตอกย้ำเจตนารมณ์อันแน่วแน่ของกรุงไทย และ กฟผ. ในการดำเนินธุรกิจอย่างมีความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม สังคม รวมถึงการจัดการบริษัทที่ดี (ESG) ตอบโจทย์เป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่ดีขึ้นให้กับประเทศไทย

ทั้งนี้ เงินฝากสีเขียวของธนาคารกรุงไทย อยู่ภายใต้หลักเกณฑ์การจัดหาเงินและการปล่อยสินเชื่อเพื่อโครงการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม (Green Financing Framework) ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เพื่อเป็นแนวปฏิบัติในการออกผลิตภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำแบบครบวงจร ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบของหลักการให้สินเชื่อสีเขียว (Green Loan Principle) ของ Asia Pacific Loan Market Association (ALPMA) และ Loan Market Association (LMA) และสอดคล้องตามหลักการของตราสารหนี้เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่กำหนดโดย ICMA (International Capital Market Association) และธนาคารยังได้การรับรอง Green Financing Framework จาก ISS Corporate Solutions (ISSESG) เป็นผู้สอบทานภายนอก ตามมาตรฐานด้านการเงินเพื่อสิ่งแวดล้อมระดับสากล นอกจากนี้ หมวดอุตสาหกรรมสีเขียว Renewable Energy และ Clean Transportation ภายใต้ Green Financing Framework ของธนาคารยังสอดคล้องกับมาตรการจัดกลุ่มกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่คำนึงถึงความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม หรือ Thailand Taxonomy

EGATESG Financial SolutionGreen DepositsKrungthaiกฟผ.ธนาคารกรุงไทย
Comments (0)
Add Comment