เพราะ‘ทุนทางวัฒนธรรม’ และ ‘ความคิดสร้างสรรค์’ กำลังกลายเป็นพลังสำคัญที่ขับเคลื่อนทั้งภาคสังคมและภาคธุรกิจในหลายประเทศทั่วโลก รวมถึง ประเทศไทย ปรากฏการณ์นี้สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจและส่งเสริมการพัฒนาที่ยั่งยืน
สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA เดินหน้าตอบรับนโยบายของรัฐบาลในการ ‘สร้างคน’ และ ‘เพิ่มทักษะ’ ผ่านการขยาย ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ Thailand Creative & Design Center (TCDC) ไปยังภูมิภาคต่าง ๆ ทั่วประเทศ เพื่อเป็นแพลตฟอร์มพื้นที่ส่วนกลางบ่มเพาะความคิดสร้างสรรค์และพัฒนาศักยภาพด้านทุนทางวัฒนธรรมของท้องถิ่น ให้คนไทยทุกคนสามารถเข้าถึงการเรียนรู้และพัฒนาทักษะสร้างสรรค์ ยกระดับโครงสร้างพื้นฐานด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นและเอกลักษณ์ความเป็นไทยให้เป็นสากล ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง CEA และหน่วยงานหรือองค์กรท้องถิ่นใน 10 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ 1. เชียงราย 2. นครราชสีมา 3. ปัตตานี 4. พิษณุโลก 5. แพร่ 6. ภูเก็ต 7. ศรีสะเกษ 8. สุรินทร์ 9. อุตรดิตถ์ และ 10. อุบลราชธานี
จากนโยบายรัฐ ส่งต่อ ‘CEA’ เดินหน้าตาม Road Map 4 ปี ขยาย TCDC แห่งใหม่ ยกระดับศักยภาพคนไทย
ดร.ชาคริต พิชญางกูร ผู้อำนวยการสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กล่าวว่า “ในฐานะที่ CEA เป็นหน่วยงานหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของประเทศไทย เราเดินหน้าตามแผน Road Map 4 ปี (2567 – 2570) ในการเป็น ‘ศูนย์กลางแห่งการเชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์’ โดยมี TCDC ทำหน้าที่เป็นแพลตฟอร์มในการส่งเสริมความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งปัจจุบันกำลังก้าวเข้าสู่ปีที่ 20 ในปี 2568 จึงได้ขยาย TCDC ไปสู่ส่วนภูมิภาคจำนวน 10 สาขา และในปี 2569 จะขยายเพิ่มอีก 5 สาขา พร้อมขยาย Mini TCDC อีก 30 จังหวัด รวมทั้งในปี 2570 จะเปิดเวที Local Power Showcase Festival และขยาย Mini TCDC เพิ่มอีก 28 จังหวัด เพื่อให้ครอบคลุมทั่วประเทศทั้ง 77 จังหวัด เพื่อยืนยันเจตนารมณ์ที่ต้องการให้คนไทยได้เข้าถึงความคิดสร้างสรรค์ที่สามารถสร้างคนและเสริมทักษะได้อย่างแท้จริง”
“สำหรับ TCDC แห่งใหม่ เราร่วมมือกับหน่วยงานหรือองค์กรส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นคนในพื้นที่ให้มาขับเคลื่อนร่วมกันกับ CEA โดยเราพร้อมจะ ShareKnowledge และสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมายในแต่ละจังหวัด ฉะนั้นผลลัพธ์ที่จะเกิดขั้นหลังจากเปิดทำการ CEA มองเป็นระยะยาว (Long Term) ทั้งจากจำนวนสินค้าและบริการใหม่ที่จดทรัพย์สินทางปัญญา (Intellectual Property: IP) เพราะ IP คือตัวตั้งต้นที่ทำให้เกิดมูลค่าทางเศรษฐกิจ มี Cultural Asset เกิดองค์ความรู้ใหม่ เพราะนำความคิดสร้างสรรค์ไปพัฒนาทำให้เกิด Commercial Value หรือ การจัดเทศกาลสร้างสรรค์ที่เกิดเพิ่มขึ้นในแต่ละจังหวัด” ดร.ชาคริต กล่าวเพิ่ม
- TCDC ภูมิภาค ครอบคลุม 3 จังหวัด ได้แก่ ภาคกลาง (กรุงเทพฯ) ภาคเหนือ (เชียงใหม่) และภาคอีสาน (ขอนแก่น) โดยในปี 2568 จะขยายไปยังภาคใต้ (สงขลา) ซึ่งจะเป็นศูนย์กลางในการทำงานร่วมกับเครือข่ายในแต่ละจังหวัด
- Mini TCDC หรือ โครงการกระจายโอกาสสร้างแหล่งเรียนรู้ด้านการออกแบบสู่ภูมิภาค เป็นความร่วมมือระหว่าง TCDC และ 32 สถาบันการศึกษา มี 42 จุดให้บริการใน 27 จังหวัด เพื่อส่งเสริมการใช้กระบวนการคิดเชิงออกแบบและพัฒนาธุรกิจสร้างสรรค์ในท้องถิ่นและเติมเต็มไอเดียใหม่ ๆ ให้แก่ นักเรียนและนักศึกษา
- TCDC Commons MunMun เกิดจากความร่วมมือระหว่าง CEA และภาคเอกชน ในแนวคิด TCDC Creative Food เพื่อพัฒนาผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่ใช้ความคิดสร้างสรรค์ในธุรกิจและอุตสาหกรรมอาหาร
- การขยายพื้นที่จัดตั้งศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ โดยร่วมกับหน่วยงานส่วนท้องถิ่นใน 10 จังหวัด ได้แก่ เชียงราย นครราชสีมา ปัตตานี พิษณุโลก แพร่ ภูเก็ต ศรีสะเกษ สุรินทร์ อุตรดิตถ์ และอุบลราชธานี เพื่อเป็นแหล่งเรียนรู้และรวบรวมข้อมูลด้านการออกแบบ ความคิดสร้างสรรค์สำหรับประชาชน ผู้ประกอบการ และชุมชนในท้องถิ่น รวมถึงการพัฒนา Local Content and Identity เพื่อสร้างนวัตกรรมและยกระดับ Soft Power ของไทยสู่สากล
TCDC แห่งใหม่ จะมีบริการหลัก 3 แบบที่ครอบคลุมทุกมิติ ในการจุดประกายความคิดสร้างสรรค์ให้กับผู้เข้ามาใช้บริการ ประกอบด้วย
- Co-Creation Space เป็นแหล่งรวมองค์ความรู้ทางวัฒนธรรมและแรงบันดาลใจสำหรับนักสร้างสรรค์ (Local Story Archive / Database) รวบรวมข้อมูลสร้างสรรค์ (Creative Resources) และมีพื้นที่ทำงานร่วมกัน (Creative Service) อย่างมืออาชีพในลักษณะ Co-working Space พร้อมกับบริการให้คำปรึกษาครบวงจรแบบ One Stop Service ทั้งด้านธุรกิจ การผลิต กฏหมาย หรือการทดลองตลาด
- Creative Programs การจัดกิจกรรมหลากหลายเพื่อกระตุ้น ส่งเสริมและต่อยอดทักษะ ทั้งบรรยาย เวิร์กช้อป นิทรรศการ โดยเปิดโอกาสฝึกงานและสร้างประสบการณ์ เพื่อพัฒนาบุคลากรที่มีศักยภาพและ Soft Power ทั้งระดับภูมิภาคและประเทศ
- Creative Labs บริการใหม่ล่าสุดที่จะมีความแตกต่างกันในแต่ละจังหวัด เป็นเครื่องมือสำคัญ Upskill และ Reskill ของ ‘นักสร้างสรรค์’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ เติมเต็มทักษะและประสบการณ์เชิงปฏิบัติอย่างแท้จริง ไม่ว่าจะเป็นสตูดิโอถ่ายภาพ-บันทึกเสียง ห้องปฏิบัติการ Service Design และเสริมประสบการณ์ (Sensory) และพื้นที่ปฏิบัติการด้านภาพลักษณ์และบรรจุภัณฑ์ โดยจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้พัฒนาบ้านเกิดและยกระดับ ‘ของดี’ ที่เป็นสินทรัพย์ของแต่ละจังหวัดให้มีความเป็นสากลและตรงกลุ่มเป้าหมายระดับประเทศและต่างประเทศ สอดรับนโยบายรัฐ ‘สร้างคน’ และ ‘เพิ่มทักษะ’ ด้านความคิดสร้างสรรค์
TCDC แห่งใหม่ หนึ่งในแพลตฟอร์มสำคัญ ผลักดัน Soft Power ยกระดับเศรษฐกิจไทยให้ยั่งยืน
หัวใจสำคัญในการจัดตั้ง TCDC แห่งใหม่ คือ การเป็น ‘แพลตฟอร์ม’ พื้นที่ส่วนกลางบ่มเพาะ ‘นักสร้างสรรค์’ และ ‘คนรุ่นใหม่’ เพื่อพัฒนาทักษะให้ตอบรับกับบริบทโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว (Future Skill) พร้อมการสร้างเครื่องมือใหม่ในรูปแบบ ‘Creative Lab’ ที่มาจากการร่วมกันคิดค้นกับหน่วยงานหรือองค์กรท้องถิ่น ผ่านการค้นหา รวบรวม และต่อยอดเรื่องราวที่มีศักยภาพในท้องถิ่น (Empowering Local Stories) รวมถึงการสนับสนุนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป้าหมายและทุนทางด้านวัฒนธรรมของแต่ละพื้นที่ ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาทรัพยากร Soft Power ของประเทศไทย
นอกจากนี้ยังส่งเสริมภาพลักษณ์ให้กับเมืองมีพื้นที่กลางเชื่อมต่อเครือข่ายให้กับหน่วยงานภาครัฐ เอกชน ภาคการศึกษา นักสร้างสรรค์ นักออกแบบ และเยาวชน ในการยกระดับองค์ความรู้ ทักษะสร้างสรรค์ สร้างโอกาสทางธุรกิจ และสร้างนวัตกรรมบนพื้นฐานทุนทางวัฒนธรรมในการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์ร่วมกันและยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน
“เราเชื่อว่า TCDC จะเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทย ผลักดันให้เกิดการต่อยอดทุนวัฒนธรรมและภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การสร้างมูลค่าเพิ่ม และกระจายความเจริญสู่ทุกภูมิภาค สอดรับกับนโยบายของรัฐบาลในการสร้างขีดความสามารถทางการแข่งขันของประเทศ ควบคู่ไปกับการยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนอย่างยั่งยืน ผ่านการขับเคลื่อนด้วยพลังของ Soft Power จากทุนทางวัฒนธรรมและความคิดสร้างสรรค์ของคนไทย” ดร.ชาคริต กล่าวทิ้งท้าย