CEA เปิดแนวคิด 10 ทีมนักการออกแบบ ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด

สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจสร้างสรรค์ (องค์การมหาชน) หรือ CEA ร่วมกับสมาคมสถาปนิกสยามฯ (ASA) ร่วมคัดเลือกผลงานจากนักออกแบบที่ส่งเข้าประกวดแนวคิดการออกแบบ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด” จำนวน 173 ผลงาน จาก 113 ทีมนักออกแบบ จนได้ 10 ทีมสุดท้ายสำหรับนักออกแบบศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ ใน 10 จังหวัดทั่วประเทศ ได้แก่ 1) เชียงราย 2) นครราชสีมา 3) ปัตตานี 4) พิษณุโลก 5) แพร่ 6) ภูเก็ต 7) ศรีสะเกษ 8) สุรินทร์ 9) อุตรดิตถ์ และ 10) อุบลราชธานี ผลงานการออกแบบที่ผ่านการคัดเลือกทั้ง 10 แบบ ได้สะท้อนให้เห็นถึงการนำความคิดสร้างสรรค์มาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรม ผสมผสานกับองค์ความรู้ในการจัดการพื้นที่ให้บริการที่มีความยืดหยุ่น มีความเหมาะสมกับการใช้งาน และครอบคลุมบริการของ TCDC ภายใต้กรอบของพื้นที่ซึ่งมีขนาดไม่เกิน 300 ตารางเมตร และมีความท้าทายของสถานที่ตั้งและสภาพพื้นที่ในแต่ละจังหวัดที่แตกต่างกัน ดังนี้

TCDC เชียงราย

“TCDC เชียงราย” ตั้งอยู่หน้าศาลากลางหลังเก่าของเมืองเชียงราย เป็นพื้นที่กลางเมืองที่มีกลุ่มอาคารและสนามด้านหน้า  ออกแบบโดย  1922 Architects (D098) นำเสนอความเชื่อที่ว่า “การออกแบบเชิงสร้างสรรค์สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของคนได้” ผ่านแนวคิดการออกแบบให้เป็น ‘Creative Space for All’ หรือพื้นที่สร้างสรรค์เพื่อทุกคน จึงเลือกออกแบบตัวอาคารให้มีพื้นที่เชื่อมโยงระหว่างอาคารที่อยู่โดยรอบและพื้นที่ลานหน้าศาลากลางด้วยบรรยากาศที่เป็นมิตร เพื่อเป็นพื้นที่ส่งเสริมให้ความคิดสร้างสรรค์เข้าสู่วิถีชีวิตประจำวันของผู้คน ชุมชน และเมือง

TCDC นครราชสีมา

TCDC นครราชสีมา ตั้งอยู่บนถนนจอมพล ซึ่งเป็นหนึ่งในถนนเส้นหลักของเมือง ออกแบบโดย บริษัท จั่นอาร์คิเทค จำกัด (D132) ภายใต้แนวคิด “CREATIVE URBAN ROOM” ด้วยการเปิดให้อาคารมีความเชื่อมต่อระหว่างพื้นที่ภายในและนอกอาคารเป็น Urban Visual Connect โดยตัวอาคารสามารถเปิดประตูบานใหญ่ด้านหน้า เพื่อเชื่อมต่อพื้นที่และกิจกรรมด้านนอกได้อย่างต่อเนื่องและไร้ขอบเขต (Borderless Space) นอกจากนี้ยังมุ่งเน้นการใช้วัสดุและงานฝีมือที่โดดเด่นในท้องถิ่น เช่น ไม้จากเรือนโคราช-เฉลิมวัฒนา เทคนิคก่อสร้างแบบปราสาทหินทราย ลวดลายเส้นพุ่ง เส้นยืนจากการถักทอผ้าไหมโคราช และอิฐดินเผาด่านเกวียน รวมถึงสีดินและลวดลาย โดยนำมาประยุกต์ใช้ในรูปแบบ Composite Material ที่ผสานภูมิปัญญาดั้งเดิมกับปัจจุบัน ทั้งยังคำนึงถึงความยั่งยืน (Sustainability) และการนำวัสดุเหลือใช้ (Waste Material) กลับมาใช้ใหม่ ทำให้ TCDC นครราชสีมาเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใจกลางเมืองที่เชื่อมโยงวิถีชีวิตท้องถิ่นสู่อนาคตอย่างยั่งยืน

TCDC ปัตตานี

TCDC ปัตตานี ตั้งอยู่บนถนนปัตตานีภิรมย์ ออกแบบภายใต้แนวคิด ‘Glory to Distribution Days’ โดย บริษัท ทรัพย์เปอร์ จำกัด (D010) สะท้อนให้เห็นถึงวิวัฒนาการของอาคารห้องแถวจีนริมน้ำที่เปี่ยมไปด้วยพลังขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจมาหลายยุคสมัย จากการเป็นพื้นที่ศูนย์กระจายสินค้าและด่านเก็บภาษีในอดีต สู่การเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ของกลุ่ม Melayu Living โดยในอนาคตกำลังจะเป็นศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ TCDC ปัตตานี ที่ถูกออกแบบให้มีพื้นที่การใช้งานที่หลากหลาย และคงไว้ซึ่งบรรยากาศของพื้นที่ปัจจุบันซึ่งเป็นแหล่งรวมกิจกรรมสร้างสรรค์ที่สามารถเชื่อมโยงผู้คนทุกกลุ่มเข้าไว้ด้วยกัน

TCDC พิษณุโลก

TCDC พิษณุโลก ตั้งอยู่ที่ถนนบรมไตรโลกนาถ ออกแบบโดย สถา ณ สถาปนิก (D017) ผ่านแนวคิด เมืองสองแคว | สายน้ำ | วิถีชีวิต พื้นที่เชื่อมโยงความคิดสร้างสรรค์กับภูมิปัญญาท้องถิ่น  โดยนำเอกลักษณ์ของจังหวัดพิษณุโลกซึ่งตั้งอยู่บนจุดบรรจบของแม่น้ำน่านและแม่น้ำแควน้อย  แหล่งน้ำสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวเมืองและมีบทบาทในการพัฒนาเมืองมาตั้งแต่อดีต มาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบตกแต่งภายในให้มีบรรยากาศและจัดแบ่งพื้นที่ตามเส้นทางน้ำ ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความคิดสร้างสรรค์ การร่วมมือ การพักผ่อน และการเรียนรู้ ส่วนด้านนอกอาคารออกแบบให้เชื่อมโยงกับบรรยากาศริมน้ำโดยสร้างขอบหน้าต่างที่ทำจากอิฐเป็นวัสดุหลัก ในรูปทรงคล้ายกับเรือนแพที่ตั้งอยู่ สื่อถึงวิถีชีวิตริมน้ำในอดีตที่ผสานเข้ากับการเติบโตของเมืองพิษณุโลกในปัจจุบัน

TCDC แพร่

TCDC แพร่ ตั้งอยู่ที่ลานวัฒนธรรม องค์การบริหารส่วนจังหวัดแพร่ ออกแบบโดย บริษัท เค ทู ดีไซน์ จำกัด (D011) ภายใต้แนวคิด ‘เผยแพร่ภูมิปัญญาอย่างเรียบง่าย’ โดยนำเสนอมรดกล้ำค่าของเมืองแพร่ ผ่านคำขวัญประจำอย่าง “ม่อฮ่อม และ ไม้สัก” จึงกลายมาเป็นแรงบันดาลใจหลักในการออกแบบอาคารให้ดูราวกับ “ท่อนไม้สักย้อมสีฮ่อม (Indigo)” ด้วยแนวคิด Form & Function ที่เรียบง่ายแต่โดดเด่นด้วยสีและวัสดุซึ่งสะท้อนเอกลักษณ์ของเมืองแพร่อย่างชัดเจน การจัดพื้นที่และการใช้งานมีความตรงไปตรงมา สะดวกสบาย รองรับทุกกิจกรรมของชุมชนและ TCDC ได้อย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อเป็นศูนย์กลางในการเผยแพร่และพัฒนาต่อยอดภูมิปัญญาของเมืองแพร่ในอนาคต

TCDC ภูเก็ต

TCDC ภูเก็ต ตั้งอยู่ที่บ้านชาร์เตอร์ดแบงก์ ออกแบบโดย บริษัท สวอน แอนด์ แมคคลาเรน (ประเทศไทย) จำกัด  ที่นำ “เมืองภูเก็ต” ที่ถูกหล่อหลอมขึ้นจากอุตสาหกรรมดีบุก มาถ่ายทอดผ่านแนวคิด ‘เล่นแร่-แปรเมือง’ ด้วยการใช้วัสดุและปรับพื้นที่การใช้งานภายในอาคารเดิม ให้มีความยืดหยุ่นและเชื่อมต่อการใช้งานทั้งภายในและด้านนอกอาคาร โดยมีเป้าหมายในการเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้ที่หลากหลายกลุ่ม กระตุ้นให้เกิดการพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ในจังหวัดภูเก็ต อีกทั้งยังทำหน้าที่ในการเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงประวัติศาสตร์และนวัตกรรมของภูเก็ตเข้าไว้ด้วยกัน

TCDC ศรีสะเกษ

TCDC ศรีสะเกษ ตั้งอยู่ถนนกลางเมือง ย่านศรีเมืองเก่า ออกแบบโดยทีมสถาปนิก นายปิติพงศ์ อมรวิรัตนสกุล, นายณรงค์วิทย์ อารีมิตร และนายวรนล สัตยวินิจ (D084) ภายใต้แนวคิด ‘Sisaket Code’ มุ่งตีแผ่ประเด็นสำคัญของท้องถิ่น โดยออกแบบให้ศูนย์แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดนตรี และภาพยนตร์ในบริบทของศรีสะเกษอย่างแท้จริง นอกจากนี้ยังแสดงออกถึงความภาคภูมิใจในท้องถิ่นผ่านการใช้ทรัพยากรของจังหวัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด ทำให้ TCDC ศรีสะเกษยังเป็นแหล่งรวมจิตวิญญาณและอัตลักษณ์ของชาวศรีสะเกษอีกด้วย

TCDC สุรินทร์

TCDC สุรินทร์ ตั้งอยู่ที่สนามกีฬาสุรินทร์ภักดี ออกแบบโดย บริษัท แปลน อาคิเต็ค จำกัด (D064) ภายใต้คอนเซ็ปต์ ‘โฮล สาน สร้างสรรค์’ โดยตีความเอกลักษณ์อันงดงามของผ้าโฮล ลายผ้าไหมประจำถิ่นที่ผูกพันกับชาวสุรินทร์มาอย่างยาวนาน แนวคิดนี้เปลี่ยนผ้าสานให้กลายเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงระหว่างเมืองและผู้คน ก่อให้เกิดเป็นพื้นที่สร้างสรรค์ใหม่ของจังหวัด โดยเส้นสายของผ้าโฮลถูกนำมาใช้ในการตกแต่งภายในและบริเวณด้านหน้าอาคาร เพื่อให้กลายเป็นจุดนัดพบของทั้งเมือง และเป็นจุดหมายปลายทางแห่งการพัฒนาเมืองสร้างสรรค์อย่างแท้จริง

TCDC อุตรดิตถ์

TCDC อุตรดิตถ์ ตั้งอยู่ที่ชั้น 2 ราชภัฏพลาซ่า ออกแบบโดย
รักตระกูล ใจเพียร (D039) ภายใต้แนวคิด “POP-OUT และ BLIND-IN” โดยการสร้างเส้นทางเชื่อมระหว่างเมืองกับ TCDC ผ่านงาน POP-OUT หรือบันไดสีแดงด้านนอกอาคาร ซึ่งเป็นหนึ่งในทางเข้าพื้นที่เพื่อทำหน้าที่ในการดึงดูดความสนใจและสร้างภาพลักษณ์ของความคิดสร้างสรรค์ และเมื่อขึ้นสู่ชั้น 2 จะมีจุดนำสายตาไปสู่ทางเข้าหลักด้วยซุ้มประตูโค้งที่เชื่อมต่อกับสวนขนาดเล็กที่ตกแต่งด้วยม่านห้อยเป็นลวดลายตีนจก สร้างบรรยากาศสบายและน่าค้นหาให้เหมือนกับแนวคิดของเมืองลับแล อีกทั้งยังสะท้อนเรื่องราวและการผสมผสานความทันสมัยกับเอกลักษณ์ท้องถิ่นเข้าไว้ด้วยกัน

TCDC อุบลราชธานี

TCDC อุบลราชธานี ตั้งอยู่ที่ตลาดใหญ่ ออกแบบโดย Pixelight Studio (นัฏฐวรรณ สุระพัฒน์) (D121) ภายใต้แนวคิด ‘หล่อ-หลอม’ มุ่งเน้นการผสมผสานฟังก์ชันการใช้งานและเอกลักษณ์ท้องถิ่นอย่างลงตัว โดยนำเอกลักษณ์อันโดดเด่นของจังหวัด อาทิ ประเพณีแห่เทียนพรรษา วัฒนธรรมอาหาร หรือแม้แต่ผลิตภัณฑ์หัตถกรรมมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ เพื่อให้เกิดพื้นที่ที่มีคุณค่า น่าหลงใหล และเปิดโอกาสให้ทุกคนเข้าใช้งานได้อย่างสะดวกสบาย นอกจากนี้ ยังออกแบบให้มีความยืดหยุ่น รองรับกิจกรรมและผู้ใช้งานที่หลากหลาย เอื้อต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และต่อยอดความคิดสร้างสรรค์ร่วมกัน

ผลงานการออกแบบ “ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบแห่งใหม่ (New TCDC) ใน 10 จังหวัด” คาดว่าจะดำเนินการก่อสร้างให้แล้วเสร็จภายในปลายปี 2568 พร้อมเปิดให้บริการพื้นที่ที่เป็นห้องสมุดเฉพาะด้านการออกแบบ พื้นที่จัดแสดงผลงาน พื้นที่สำหรับการค้นคว้าฐานข้อมูลและการทดลองเพื่อการพัฒนาต่อยอดความคิดสร้างสรรค์​จากทรัพยากรและทุนวัฒนธรรมในท้องถิ่นให้เป็นผลิตภัณฑ์ รวมไปถึงโครงการที่สร้างทั้งมูลค่าทางเศรษฐกิจและคุณภาพชีวิต นอกจากนี้ New TCDC ยังเป็นเหมือนพื้นที่กลางในการสร้างความร่วมมือระหว่างหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน และสถาบันการศึกษาในการจัดกิจกรรมและโครงการต่าง ๆ เพื่อส่งเสริมการใช้ความคิดสร้างสรรค์ มุ่งมั่นที่จะขับเคลื่อนนโยบายเศรษฐกิจสร้างสรรค์ สนับสนุนธุรกิจท้องถิ่น ยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างโอกาสใหม่ ๆ ให้กับคนไทยทั่วประเทศ